xs
xsm
sm
md
lg

100 ปีวชิราวุธวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

วันที่ 29 ธันวาคม เป็นวันครบรอบ 100 ปีวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อ 100 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกสร้างโรงเรียนแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล โดยพระราชทานที่ดิน “สวนกระจัง” 100 ไร่ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และที่ดินบริเวณซอยมหาดเล็กหลวงให้เป็นทุนที่ใช้ดำเนินการ นับเป็นสายพระเนตรที่ยาวไกล เพราะที่ดินพระราชทานเวลานี้มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน และสามารถนำดอกผลมาใช้บำรุงโรงเรียน โดยเฉพระอย่างยิ่ง การมีการศึกษาที่คุณภาพดี แต่ค่าเล่าเรียนไม่สูง ขณะนี้โรงเรียนสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนแต่ละคนครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจ่าย

ลักษณะพิเศษของวชิราวุธวิทยาลัยมี 3 ประการคือ การเป็นโรงเรียนประจำ การให้เด็กปกครองกันเอง และการมีการศึกษาแบบองค์รวม คือ มีการเรียนการสอนทางวิชาการ การกีฬา ศิลปะ และดนตรี ในด้านกีฬา และดนตรีนั้น โรงเรียนมีครูสอนกีฬาทุกประเภท และดนตรีทุกชนิดมีทั้งดนตรีฝรั่ง และดนตรีไทย

ที่น่ายินดีก็คือ เวลานี้เด็กๆ ได้ฝึกโขนนับร้อยคน และแสดงได้ดี เท่ากับเป็นการสนองต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชประสงค์ในการรักษาศิลปะที่กำลังจะสูยหายไปให้คงอยู่ตลอดไป

นักเรียนประจำมีชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ ครูผู้ทำการสอนอยู่กับนักเรียนน้อยกว่าที่นักเรียนอยู่กับเพื่อน ดังนั้น การคบเพื่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ได้เพื่อนดีก็ดีไป แต่ถ้าคบเพื่อนไม่ดี เด็กก็จะเสียคนง่าย การเรียนรู้จากเพื่อนจึงเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะนักเรียนประจำมีโอกาสพบคนภายนอกน้อยมาก จึงคบเฉพาะเพื่อนๆ ในโรงเรียนเท่านั้น ไม่ว่าจะไปเรียนต่อที่ไหน ก็ยังมีความผูกพันกับเพื่อนในโรงเรียนประจำมากกว่า

วชิราวุธวิทยาลัยรับนักเรียนน้อย ปัจจุบันปีละ 100 คน มีนักเรียนทั้งหมด 800 คน ในอดีตมีการรับนักเรียนแค่ปีละ 80 คน นักเรียนจึงรู้จักกันหมดทั้งโรงเรียน เวลานี้นักเรียน 800 คนอยู่ร่วมกันในบริเวณกว้างขวาง มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมือนกับสวนในเมือง เนื่องจากมีนักเรียนน้อย จบไปปีละไม่กี่คน การที่นักเรียนจะเติบโตไป และมีบทบาทในสังคมจึงไม่กว้างขวางเท่ากับนักเรียนโรงเรียนอื่น แม้กระนั้นในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา วชิราวุธวิทยาลัย ก็ได้สร้างบุคคลสำคัญมากมาย ศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนก็เป็นนักเรียนเก่า และผู้นำในหลายวงการก็ไปจากโรงเรียนนี้

ระบบการเรียนการสอนที่น่าสนใจของวชิราวุธก็คือ การเน้นการอบรมบ่มนิสัย ได้แก่ การสร้างเด็กให้เป็น “สุภาพบุรุษ” เน้นความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม การบรรลุถึงเป้าหมายนี้ ทำได้ด้วยการปฏิบัติจริง เพราะเด็กอยู่ร่วมกัน ต้องระมัดระวังการประพฤติตัว ไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือนผู้อื่น คือ การ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเอง การมีความองอาจแต่อ่อนน้อมอ่อนโยน ก็เป็นลักษณะพิเศษของนักเรียนที่มีผู้กล่าวถึงและชมเชยเสมอ ที่สำคัญก็คือ การปกครองตนเอง และปกครองกันเอง ทำให้มีความเป็นผู้นำ แต่ก็สามารถเป็นผู้รับใช้ได้ด้วย

การที่มีการเรียนดนตรี และนักเรียนทุกคนเล่นกีฬาทำให้เด็กมีพลานามัยสมบูรณ์ ต่างกับเด็กในสมัยปัจจุบันที่หมกมุ่นอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ นักเรียนทุกคนจะเล่นกีฬาซึ่งมีให้เลือกหลายอย่าง ส่วนดนตรีนั้นมีเครื่องดนตรีมากมาย และครูดนตรีถึง 40 คน ปัจจุบันวชิราวุธวิทยาลัยมีวงดนตรี 8 วง แต่ไม่เน้นการเข้าประกวดหรือการแข่งขัน แต่จะเล่นเฉพาะในงานโรงเรียน ในจำนวนนักเรียน 800 คน ประมาณครึ่งหนึ่งเล่นดนตรี นอกนั้นเรียนศิลปะ ส่วนนักเรียน 100% เล่นกีฬา

ผมอยู่วชิราวุธวิทยาลัย รวมกันแล้ว 22 ปี ตอนเป็นนักเรียน 11 ปี และเป็นผู้บังคับการอีก 11 ปี ระยะที่เป็นผู้บังคับการ ผมได้นำกิจกรรมใหม่ๆ เข้าไปในโรงเรียนมาก จนเพื่อนๆ เตือนว่า นักเรียนจะรับไม่ไหว ที่สำคัญก็คือได้ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ชีวิตในชนบท เข้าใจ และรักษาสิ่งแวดล้อม และมีกิจกรรมหลายสิบอย่างที่เป็นทางเลือกได้ ผมชอบบอกว่า โรงเรียนพยายามให้โอกาส และทางเลือกให้มากที่สุด นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง ดังนั้น กิจกรรมใหม่ๆ เช่น กอล์ฟ การขี่ม้า การเล่นเรือใบ การถ่ายภาพแบบมืออาชีพ การทำภาพยนตร์เรื่องสั้นจึงเกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีการนำทักษะการคิดมาฝึกนักเรียนอีกด้วย และมีการแลกเปลี่ยนนักเรียน โดยส่งให้ไปเรียนในโรงเรียนที่ต่างประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี

การเรียนในโรงเรียนแบบองค์รวม ทำให้นักเรียนสนุกไม่เบื่อ เพราะแม้ไม่ชอบวิชาการ แต่ตอนบ่าย และเย็นก็มีการเล่นดนตรี และการกีฬา นอกจากนั้นยังมีสมาคมหนังสือพิมพ์ สมาคมบันเทิง และชมรมต่างๆ อีกมากมาย ที่เด็กๆ ชอบก็คือ การดูนกซึ่งในโรงเรียนมีนกหลายชนิด โดยเฉพาะนกแก้วที่อยู่เป็นฝูง ในกรุงเทพฯ จะหาดูได้ก็ที่สนามหลังในโรงเรียนเท่านั้น

นักเรียนวชิราวุธรักโรงเรียน และมีความสุขเมื่อระลึกถึงวันเก่าๆ แม้โรงเรียนจะเก่าถึง 100 ปี แต่การรักษาสภาพอาคารยังทำได้ดีเยี่ยม และสถานที่สิ่งแวดล้อมก็มีความสะอาดสวยงาม สงบร่มเย็น ทั้งนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น