วันเด็กแห่งชาติสำหรับประเทศไทยปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2554 และคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีในปีนี้ ก็คือ “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” ซึ่งมีคำอรรถาธิบายเพิ่มเติมจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า
รอบคอบ - เนื่องมาจากปัจจุบัน มีทางเลือกที่จะรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อใหม่ต่างๆ มากมาย นายกฯ อภิสิทธิ์เห็นว่า เยาวชนไทยต้องรู้รอบด้าน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนอาจทำสิ่งที่เกิดปัญหาแก่ตนเองและสังคมได้ในอนาคต
รู้คิด - เมื่อเยาวชนไทยเรียนรู้รอบด้านแล้ว ต้องรู้จักคิดใช้ชีวิตอย่างมีสติไม่ประมาท นายกฯ อภิสิทธิ์ จึงอยากให้เด็กๆ รู้จักคิดให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย
จิตสาธารณะ - สังคมต้องพึ่งพิงกัน เห็นได้ในยามมีภัยคนไทยเราช่วยกัน การปลูกฝังจิตสำนึกเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งในสังคม โดยต้องเริ่มที่เด็กๆ เยาวชนไทย
ก็เป็นคำขวัญที่ฟังดูดี เหมือนคำขวัญทุกๆ ปีจากนายกรัฐมนตรีแต่ละท่านที่ยาวนาน มาถึง 56 ปี เพราะวันเด็กแห่งชาติ เริ่มต้นกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ซึ่งสืบเนื่องมาจากได้เกิดปฏิญญาว่าด้วย
สิทธิเด็กขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติที่ทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะให้ความสำคัญแก่เด็กๆ ของตนมากขึ้น เริ่มต้นเกิดการขานรับจากประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ โดยกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ (ต่อมาประเทศไทยเราเปลี่ยนการจัดงานวันเด็ก มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูฝน และให้ตรงกับวันหยุดราชการ)
การจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติในแต่ละประเทศ มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยยึดหลักการให้ความสำคัญแก่เด็กเป็นวัตถุประสงค์หลัก มีการเปิดสถานที่ราชการสำคัญ อาทิ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ให้เด็กเข้าชม เข้าสัมผัส เป็นทัศนศึกษา รวมทั้งมีการแจกของขวัญ อาหาร และขนมนมเนย ตลอดจนมีงานบันเทิง มหรสพต่างๆ ให้เด็กๆ รื่นเริงบันเทิงใจ
วันเด็กปีนี้ ก็คงจะเหมือนกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินเสียงเพลง “เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน….” ดังกระหึ่มทั่วประเทศ เห็นภาพเด็กๆ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เก้าอี้ประธานรัฐสภา ภาพกองทัพบก เรือ อากาศ จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้เด็กดู
365 วันในหนึ่งปี ก็ดูเหมือนจะมีเพียงวันเด็กเพียงวันเดียว ที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญแก่เด็ก วันเวลาที่เหลือนอกจากนั้น ล้วนแต่เป็นการทำร้ายทำลายเด็ก โดยผู้ใหญ่ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ภาพการกระทำต่างๆ ของผู้ใหญ่ ที่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กซึมซับ รับเป็นแม่แบบ ในการประพฤติปฏิบัติ ต้นแบบที่ดีๆ ดูจะมีน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับความเลวร้าย หรือตัวอย่างที่ไม่ดีของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นครรลองพฤติกรรมทางด้านการเมือง นับตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ลดหลั่นกันลงมา จนถึงระดับ ส.ส.ปลายแถว ใครก็ได้ช่วยชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นกันหน่อยว่า มีตัวอย่างของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน บทบาทใดบ้างที่สมควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กไทยยึดถือเป็นแบบอย่างได้บ้าง
ที่เห็นๆ กันอยู่ตำหูตำตาก็มีแต่ตัวอย่างการเลือกตั้งด้วยวิธีการฉ้อฉล คดโกง ซื้อสิทธิขายเสียงกันอย่างไรก็ได้ ขอให้ได้เป็น ส.ส.แล้วก็มาถ่ายทอดการประชุม การอภิปรายที่ไม่มีส่วนใดละม้ายเหมือน สภาแห่งสัตบุรุษ แต่อย่างใดเลย
การฟอร์มรัฐบาลด้วยวิถีทางอย่างไรก็ได้ ใครร่วมกับใครก็ได้ ขอให้ได้เป็นรัฐบาลยึดครองอำนาจรัฐได้สมปรารถนาเท่านั้นพอ
การตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างไรก็ได้ คุณสมบัติ คุณวุฒิ ภูมิหลัง ความรู้ความสามารถ ความเหมาะสมกับตำแหน่งไม่ต้องคำนึงถึง ขอให้พรรคร่วมตกลงพึงพอใจเพื่อให้ร่วมกันเป็นรัฐบาลอย่างราบรื่นแค่นั้นเอง
การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่ชอบธรรมไม่ชอบมาพากลอย่างไรก็ได้ คนของใครคนของมันแล้วแต่เจ้ากระทรวงจะเสนอมา ระบบบริหารงานบุคคลจะเสียหายเละเทะ
อย่างไร นายกรัฐมนตรีไม่เกี่ยว มีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างเดียว เพื่อไม่ให้พรรคร่วมไม่พอใจ
รัฐมนตรีถูกศาลพิพากษาให้พ้นจากความเป็น ส.ส.ก็ไม่เป็นไร ไปลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมได้ใหม่ทันที หัวหน้าพรรคสัญญาว่า หากได้รับเลือกตั้งก็จะเสนอให้เป็นรัฐมนตรีใหม่เหมือนเดิม นายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยที่จะปฏิเสธอย่างไรเลย
คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมืองอย่างไรก็ไม่เป็นไร ถูกคุมขังสักระยะหนึ่ง หัวหน้าคนเสื้อแดงพบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี แล้วก็มีมติคณะรัฐมนตรีให้มีการประกันตัว ให้กรมคุ้มครองสิทธิไปดูแล โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
นอกจากตัวอย่างทางการเมืองดังกล่าวข้างต้น สภาพแวดล้อมทางการศึกษา สื่อสารมวลชนและสังคมโดยรวม ที่เห็นที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นโดยไม่สร้างสรรค์ และขัดแย้งกับคำขวัญวันเด็กที่ผู้ใหญ่เสกสรรปั้นแต่งต่อเนื่องกันมาอย่างไม่จริงใจตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 จนถึงปัจจุบัน
วันเด็กปีนี้ จึงบอกไม่ถูกว่า ทำไมจึงเกิดความรู้สึกสงสารเด็กไทยอย่างจับใจ