สติย่อมคอยกีดกัน สิ่งที่ชั่วมิให้เข้ามาประจำใจ เลือกเฟ้นไว้เฉพาะสิ่งที่ดีกระทำไว้ในใจ สติเป็นอย่างนี้แหละ
ทั้งหมดคือสติและลักษณะแห่งสติ เวลานี้เราเข้าใจและใช้คำว่าสติกันผิดทิศทางไปมากแล้ว เช่น การที่เรากล่าวถึงบุคคลอื่นว่า สติแตก จึงหมายความว่า สติไม่ยึดถือ ละวางทุกอย่างซึ่งน่าจะเป็นผลดี ไม่ใช่การเพี้ยน เพียงแต่เลือกถือคุณธรรม จริยธรรมความดีต่างกันก็กลายเป็นว่าสติไม่ดี การมีสติครองอยู่ก็ให้รู้ว่าเราถือครองครรลองอารมณ์ที่กำกับไว้ได้
คนกล่าวหาหรือคนถูกกล่าวหา เรื่องสติแตกนั้นเป็นคนถือครองลักษณะของระเบียบความคิดต่างกัน ตามลำดับของจิตเท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
ส่วนเรื่องการสมาธินั้น ปัญหาพระยามิลินท์ ตรัสถามพระนาคเสนว่า สมาธิ (ความตั้งใจมั่น) มีลักษณะอย่างไร?
การไขความในเรื่องสมาธินี้ พระนาคเสนทรงเปรียบเปรยว่า เหมือนพระมหากษัตริย์เสด็จฯ งานพระราชสงครามพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ก็บรรดาเสนา 4 เหล่า ซึ่งจัดเป็นหมวดหมู่นั้น ต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้บัญชากิจการเป็นประธาน กิจการนั้นๆ จึงจะดำเนินลุล่วงไปได้
ตัวอย่างนี้ฉันใด แม้เทียบกับสมาธิก็ฉันนั้น สมาธิย่อมเป็นหลัก เป็นประธานของความดีทั้งหลาย จริงอยู่ความดีต้องอาศัยใจที่มั่นคง ใจที่แน่วแน่เป็นหลักจึงจะอยู่คงที่หรือจะก้าวหน้าไปถึงที่สุดแห่งความดีได้ นัยแห่งพระพุทธภาษิตก็มีรองรับอยู่ว่า จงทำสมาธิให้เกิด เหตุว่าผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมรู้แจ้งตามความจริง
อาจกล่าวได้ว่า คัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดในบวรพุทธศาสนา Tarn เองมีความเห็นว่า น่าจะเก่าไป ถึงก่อนคริสต์ศตวรรษนับร้อยปีทีเดียว ในการสนทนาธรรมนั้นพระยามิลินท์สามารถวิภาษวิธีเพื่อเอาชนะทางรูปธรรมของปัญหาได้ดี ตามหลักวิธีการแสวงหาความรู้แบบวิภาษวิธี
แต่ในปัญหาในส่วนที่สอง พระยามิลินท์สร้างสมการเป็นปริศนาธรรม เพื่อให้พระนาคเสนประสิทธิสัจธรรมต่อความเลื่อมใสในศาสนาพุทธ และในส่วนที่สองนี้กล่าวว่าพระยามิลินท์ทรงถือหนทางแสวงหาความรู้โดยทรงสละราชสมบัติและบวชเป็นพระโดยไม่สึก
Tarn กล่าวว่า วิภาษวิธีนั้นเป็นขนบของกรีก แต่เนื้อหาที่เป็นประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานที่เกี่ยวกับกรีกได้อีกเลย
เฉพาะส่วนที่หนึ่งไม่ใช่ส่วนที่สอง Tarn ว่า บ่งบอกถึงทางศึกษา อิทธิพลของกรีกในอินเดียเวลานั้น
เขาชี้ว่า จริงๆ แล้ว พระมหากษัตริย์อินเดียในห้วงเวลานั้นชอบสนทนาธรรมะในเชิงวิภาษวิธีอยู่บ่อยๆ แต่สำหรับชาวตะวันตกจะเข้าใจได้ทันทีว่า นี่เป็นวิภาษวิธี เพื่อโต้ตอบข้อสงสัยในแนวทางของเพลโตและโสเกรตีส
Tarn ยังระบุด้วยว่า คำว่า ยาวะนะ หรือ โยนกนั้นไม่น่าจะมีที่มาจากเปอร์เซีย และยิวเรียกพวกกรีกว่า ยาวันหรือ (Yawan) และเรียกพวกฮิตไตท์ว่า พวกเยวานะ ในสมัยพระเจ้าอโศก ทรงเรียกพวกกรีกว่า โยนะ (Yona) และคำว่า โยนก มักเรียกพวกต่างชาติกรีก ว่าเป็นพวกโยนกและโยนกนคร
สำหรับปริมาณพลพรรคของโยนก 500 Tarn กล่าวว่าพวกตัวเลข 500 นี้ในมิลินทปัญหา ไม่ได้บอกว่าเป็นชนเผ่าและมีที่มาจากพวกไหนกันบ้าง แต่ทว่าในส่วนที่สองของมิลินทปัญหากลับเปลี่ยน 500 เป็นสภาอภิรัฐมนตรี 500 คนแทน
ส่วนชื่อนายทหารที่ไปกับพระยามิลินท์ 5 คน ตอนสอบไล่ธรรมะกับพระนาคเสนนั้น
ในทางประวัติศาสตร์ คนแรกและคนที่สองคือ Demitrius (ดริมิตติอุส) และอันติโอคุส (Antiochus) โดยมิต้องสงสัย ในภาษาบาลีเรียกนามว่า เทวมันติยอำมาตย์ อนันตกายอำมาตย์ เนมิตติยอำมาตย์ มังกุรอำมาตย์ และสัพพทินนอำมาตย์ มังกุรนั้น Tarn ระบุว่า คือ Pacorus (จีนเรียกมังกุร จากคำว่า Pagor)
ส่วนที่สี่มีปัญหาว่า สัพพทินนะ นั้นหมายถึง Sabba ก็คือ Sabadios หรือในภาษายิว Sabbataios ส่วนทินนะ นั้นน่าจะเป็นการแปลงจากภาษาบาลีให้เข้ากัน Tarn ยังมีความเห็นเป็นอัศจรรย์ว่า น่าจะเป็นชาวยิวแห่งอนาโตเลีย ซึ่งต่อมางานและถ้อยคำถามตอบแบบปัญหาและพระยามิลินท์นี้ไปปรากฏในบันทึกศาสนายิวในพระคัมภีร์ โดยนิพนธ์เมื่อมีการประชุมเขียนคัมภีร์ยิวที่ถูกต้อนไปอเล็กซานเดรีย
ความสำคัญของปัญหาพระยามิลินท์จึงเป็นพิสดารอย่างยิ่ง เป็นคัมภีร์นอกพระไตรปิฎก แต่ก็เก่าแก่กว่า และเป็นบันทึกเป็นรูปธรรม
การที่ในหลวงของเราได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย จัดพิมพ์มิลินทปัญหานี้ จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณทางวิชาการแก่พุทธศึกษาอีกทางหนึ่งโดยแท้ สำหรับปวงชนชาวไทยจะได้นำมาศึกษาเพื่อหาแก่นความรู้อื่นๆ ต่อไป