xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ แพร่สั่งสางโปรเจกต์ร้างยุค “แม้ว” ปัดฝุ่นทำใหม่-แก้ปมผลาญเงินแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการหมู่บ้านโอทอป จ.แพร่ ที่ถูกทิ้งร้าง
แพร่ - พ่อเมืองแพร่สั่งปัดฝุ่นโครงการซากรัฐบาล “ทักษิณ” ที่ใช้งบไปกว่า 100 ล้าน สร้างฝันทำศูนย์โอทอป แต่ทิ้งร้างกลายเป็นสุสานประจานความอัปยศติดกับ “ประตูสู่ล้านนา” ดึง อปท.จัดงบปรับปรุงเพิ่ม พร้อมให้ชุมชนมีส่วนร่วม

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สั่งฟื้นฟูโครงการหมู่บ้านโอทอป จ.แพร่ ที่ตั้งขึ้นที่ประตูสู่ล้านนา หมู่ 10 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ริมทางหลวงหมายเลข 11 ใกล้กับสามแยกเด่นชัย โดยมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนตำบลแม่จั๊วะ เป็นผู้ดำเนินการต่อเติมหมู่บ้านหัตถกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และศูนย์โอทอปครบวงจร

โครงการนี้จะมีงานก่อสร้างเพิ่มเติมคือ โรงอาหาร สระน้ำ โรงจอดรถ รางระบายน้ำ ถนน คสล. ระบบประปา และห้องน้ำอีก 2 แห่ง โดยใช้งบประมาณ 10,450,000 บาท ซึ่งเป็นงบประมาณพัฒนาจังหวัดแพร่ ปี 2552 เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ 15 มกราคม 2553 แต่เป็นที่สังเกตว่าโครงการได้ติดป้ายแสดงวันเริ่มต้นโครงการตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2552 และไปสิ้นสุดโครงการในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 มีวิทยาลัยเทคนิคแพร่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง มีนายศรัญย์ อินต๊ะนอน นายนิรันดร์ แก้วน้อย เป็นผู้ควบคุมงานผู้รับจ้าง และนายพงศ์ศักดิ์ สนโต หัวหน้าผู้ควบคุมงานผู้ว่าจ้าง

นายสมชัยกล่าวว่า หมู่บ้านหัตถกรรม มีการก่อสร้างมานานหลายปี และมีโครงการต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2552 แต่เป็นที่ทราบดีว่าโครงการดังกล่าวสร้างเสร็จประมาณปี 2545 จากนั้นไม่มีการดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปล่อยให้กลายเป็นอาคารร้าง ทำให้โครงการก่อสร้างต่อเนื่องต้องชะงัก เพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือลงทุนไปแล้วอาจสูญเปล่า กอปรกับปัญหาเศรษฐกิจโลกทรุดตัว ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดท่านที่ผ่านมาระงับโครงการ ซึ่งตนเห็นว่าถ้าไม่ดำเนินการต่ออาคารที่สร้างไว้เก่าอาจต้องเป็นซากปรักหักพัง จึงตัดสินใจปรับปรุงใหม่ให้ถูกต้อง

ขั้นตอนที่ถูกต้องคือพัฒนาการจังหวัดแพร่เป็นเจ้าของเรื่อง เพราะฉะนั้น พัฒนาการจังหวัดแพร่ต้องเป็นผู้ดำเนินการ บ้านหรือศูนย์แสดงสินค้าที่เห็นหลังๆ ต้องเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เช่น ต้องมีโอทอปจากทุกอำเภอมาลง เป็นศูนย์กลางการแสดงและจำหน่ายให้ได้ แต่เมื่องบประมาณถูกเร่งรัดจึงมอบหมายให้ อบต.แม่จั๊วะ เป็นเจ้าภาพดำเนินการ เพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จและเป็นรูปธรรมจริงๆ

ขณะที่โรงงานอบมะม่วงได้เปลี่ยนเป็นโรงงานสิ่งประดิษฐ์ไม้ ซึ่งต้องดำเนินการในรูปสหกรณ์และต้องได้รับการรับรองจากองค์การอุตสาหกรรมทำไม้ ส่วนโครงการที่พ่วงเข้ามาคือโรงงานกลั่นสุรา ไม่สามารถดำเนินการได้

นายสมชัยกล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามโครงการเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ต่อชาวแพร่แน่นอน โดยขณะนี้ได้กลับมาทำตามระบบคือให้ภาคราชการเข้าไปทำไม่ใช่ภาคเอกชนอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาความผิดพลาดคือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปดำเนินการ แต่เมื่อการพัฒนาเต็มรูปแบบแล้วจะเปิดให้เป็นศูนย์กลางการทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มโอทอป หรือแม้แต่กลุ่มประชาสังคม เป็นการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าเพราะเป็นเงินหลวงมาจากภาษีอากรของประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการนี้ล้มเหลวและกลายเป็นอาคารร้าง เนื่องจากมีนักการเมืองในจังหวัดแพร่ ใช้อำนาจในระบอบทักษิณเข้ามาครอบงำทำกิจการเอง กำหนดให้มีทั้งศูนย์กลางโอทอป โรงอบผลไม้ และโรงกลั่นสุรา ซึ่งไม่สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนแพร่ ทำให้ไม่มีแนวร่วมและไม่มีผู้ให้ความสนใจใช้ เป็นเหตุให้ต้องเสียงบประมาณไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น