xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายสูงสุดและประเพณีทางรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ดร.นาคา ปทุมเทวาภิบาล

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ คราวที่แล้วผมนำเอาเรื่อง “การแก้ปัญหาด้วยหลักนิติรัฐโดยไม่ต้องปฏิวัติ-รัฐประหาร” มาสนทนากับท่านโดยผ่านทาง ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ-ท่านผู้ใหญ่ที่ผมสามารถให้ความเคารพนับถือได้โดยสะดวกใจมาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก, ผู้อ่านคงเข้าใจตรงกับที่ผมต้องการสื่อสารนะครับว่า “ศาลรัฐธรรมนูญแห่งรัฐสมัยใหม่นั้น ท่านมีบทบาท-อำนาจในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองตามหลักนิติรัฐอย่างไรบ้าง”

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการ “แย้มกล่าว” ถึงคำว่า “กฎหมายสูงสุด” ขึ้นมาอย่างบางๆ ในสังคมการเมืองไทย ผมจึงเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะสมที่พวกเราจะได้สนทนากันในเรื่องนี้ และผมต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าที่จำเป็นจะต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสกำกับในวงเล็บตลอดการสนทนา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทราบถึงแหล่ง “รากแท้ที่มา” ของพัฒนาการทางกฎหมาย สำหรับท่านผู้อ่านที่ประสงค์จะศึกษาค้นคว้าในทางลึกต่อไป

คำว่า “กฎหมายสูงสุด” เป็นคำศัพท์วิชาการในทางทฤษฎีกฎหมาย (Théorie juridique) ซึ่งสืบเนื่องมาจากแนวคิดของฌ็อง จ๊าก รุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau), นักปราชญ์เชื้อสายฝรั่งเศสผู้ถือกำเนิดในสวิตเซอร์แลนด์ และมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1712 ถึง 1778 ทฤษฎีนี้เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Le principe de primauté de la loi แปลว่า “หลักความสูงสุดของกฎหมาย”

ในยุคการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ (La modernité) ทฤษฎีดังกล่าวได้มีการวิวัฒน์ (L’évolution) โดยผ่าน “ทฤษฎีพีระมิดแห่งกฎหมาย (La théorie de la pyramide des normes) ของ Hans Kelsen-ผู้ก่อตั้งสำนัก “นอร์มาติวิสต์ (L’école normativiste) มาเป็นหลักกฎหมายอีก 3 ทฤษฎี คือ

1. หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (Le principe de primauté de la constitution)

2. หลักประเพณีทางรัฐธรรมนูญ (Le principe de la coutume constitutionnelle) และ

3. หลักเหนือรัฐธรรมนูญ (Le Principe de supraconstitutionnalité)

“หลักกฎหมายสูงสุด” ตามความหมายสมัยใหม่ (La signification moderne) หมายถึง กฎหมายที่ถูกกำหนดให้มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมาย (La hiérarchie des normes) อยู่ในระดับที่สูงกว่าบรรดากฎหมายทั้งหลาย โดยกฎหมายสูงสุดนี้จะต้องเกิดขึ้นจาก “เจตจำนงร่วมกันของราษฎรโดยทั่วไป (La volonté générale)” แปลง่ายๆ ก็คือ ราษฎรส่วนมากพร้อมใจกัน “ยกขึ้นให้เป็นกฎหมายสูงสุด”

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ “รัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่” ทั้งหลายในโลกนี้ มีสถานะเป็น “กฎหมายสูงสุดแห่งรัฐ” โดยเฉพาะประเทศไทยของเรามีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ ฉบับ 2540 และ 2550 ซึ่งเกิดขึ้นจาก “เจตจำนงของราษฎรโดยทั่วไป” เพียงแต่รูปแบบของการแสดงเจตจำนงนั้นต่างกัน

รัฐธรรมนูญปี 40 ราษฎรแสดงเจตจำนงโดยการมีส่วนร่วมในกระบวนการ “ปรึกษาสาธารณะ (La consultation publique)” ด้วยการทำ “ประชาพิจารณ์ (Le débat public)” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Les audiences publiques) กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ(L’établissement de la constitution) ผ่านระบบตัวแทนคือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และกระบวนการลงมติแสดงเจตจำนงในการรับรัฐธรรมนูญ (L’adoption de la constitution) ผ่านทางรัฐสภา

ส่วนรัฐธรรมนูญปี 50 นอกจากจะผ่านกระบวนการ “ปรึกษาสาธารณะ (La consultation publique) แล้ว ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ราษฎรสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยทางตรง (La démocratie directe) คือ การออกเสียงประชามติ (Référendum) เพื่อแสดงเจตจำนงในการรับรัฐธรรมนูญ (L’adoption de la constitution) อีกด้วย

ในระบบรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Les constitutions écrites) มีข้อจำกัดอย่างยิ่งในเรื่องของการเขียนรัฐธรรมนูญ “ให้มีความยาวจนเกินสมควร” เพราะการทำเช่นนั้นมี “ความเสี่ยง” ต่อการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความ “ฟุ่มเฟือย ฟั่นเฝือและยอกย้อน” จนราษฎรทั้งหลายต้องประสบอาการมึนงงต่อการที่จะเข้าใจรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งที่ควรต้องหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งสำหรับการร่างกฎหมาย ประกอบกับภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเช่นนั้นแล้ว อาจจะเกิด “ปรากฏการณ์ทางกฎหมาย (Le phénomène juridique)” อันเป็นปฏิปักษ์ต่อเจตนารมณ์อันแท้จริงของรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ อีกด้วย

ท่านทั้งหลายคงจะประจักษ์แจ้งด้วย “กุศลจิต” ถึง “ปรากฏการณ์ทางกฎหมาย” ที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งส่งผลกรรมต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้แล้ว หรือมิใช่ ???????? ทั้งๆ ที่ท่านผู้ร่างไม่ได้ปรารถนาจะให้เกิดผลเช่นนั้นเลย !!!!!!!!!!!!!!!!!!!

ในทางปฏิบัติ (En pratique) เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความกระชับ ชัดเจน ไม่ยาวมากเกินไป และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ไปในทาง “สร้างสันติสุขสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” ตลอดทั้งไม่ต้องเสียเวลา “แก้ไขรัฐธรรมนูญบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น” ตามหลักทฤษฎีที่ว่าด้วย “ความมั่นคงทางกฎหมาย (Le principe de sécurité juridique)” ผู้เป็นเกจิทางรัฐธรรมนูญ (Les constitutionnalistes) ของฝรั่งเศส จึงสร้างทฤษฎีว่าด้วย “ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ (La coutume constitutionnelle)” ขึ้นมา

“ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” หมายถึง “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป (Les principes généraux de la constitution)” ทั้งที่ได้มีปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร (Les sources écrites) และไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร (Les sources non écrites) แต่ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา ตัวอย่างเช่น

1. คำประกาศ, คำปรารภหรือเอกสารแนบท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ

2. พระราชดำรัส พระราชปณิธาน พระราชปรารภ พระบรมราโชวาทหรือพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ อันเกี่ยวข้องกับ “หลักรัฐธรรมนูญ” ทั้งหลาย อันได้แก่ หลักเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการปกครอง รวมถึงกิจกรรมพื้นฐานของชีวิตพลเมือง (Les activités des citoyens)

3. การถือปฏิบัติว่าหัวหน้าพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อนหัวหน้าพรรคอื่นใด หากพรรคที่มีเสียงข้างมากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ (เช่น ขาดความถูกต้องหรือชอบธรรม) หัวหน้าพรรคที่มีเสียงรองลงมาอาจได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แม้จะเป็นพรรคที่มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม ซึ่งเราเรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า Le gouvernement de minorité (รัฐบาลเสียงข้างน้อย) ---เราท่านหลายก็รู้จักกันดีอยู่แล้ว ???????????

อนึ่ง “ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” ไม่ได้หมายความถึงแต่เฉพาะ “ประเพณีการปกครอง” อันเป็นถ้อยคำซึ่งเกจิทางรัฐธรรมนูญของไทยเริ่มนำมาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ทว่า “ประเพณีการปกครอง” นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” และ“ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ “มิติทางประวัติศาสตร์ (La dimension historique)” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป” อันเป็นความก้าวหน้าทางกฎหมายซึ่งปรากฏในคำวินิจฉัยอันเป็นบรรทัดฐานของตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย (L’évolution de la jurisprudence constitutionnelle)

ในทางทฤษฎี (En théorique), “ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” นั้น มีสถานะทางกฎหมาย (Le statut juridique) “เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ” ถึงแม้จะยังไม่มีคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญว่า “มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญ” ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ (En pratique) ตราบใดที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการเช่นนั้น “ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” ก็จะมีสถานะซึ่งในทางวิชาการเรียกว่าเป็น “ปวงปัญหาที่ยังไม่ยุติ (Les problématiques)”

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ (La Cour constitutionnelle) จึงเป็นกลไกที่ถูกออกแบบให้ มีอำนาจวินิจฉัยอย่างเต็มรูปแบบ “เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ” อันเป็นที่รวมของหลักทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการปกครอง รวมถึง “ปวงกิจกรรมชีวิตของพลเมือง (Les activités des citoyens)” ในส่วนที่เป็นหลักพื้นฐานสำคัญ (Une importance fondamentale) เพื่อให้รัฐธรรมนูญคงไว้ซึ่งสถานะ “ความเป็นกฎหมายสูงสุด” ได้แก่ อำนาจวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 2 หลักการใหญ่ๆ คือ

1. การควบคุมไม่ให้กฎหมายต่างๆ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ (Le contrôle de constitutionnalité des lois) และ

2. การควบคุมไม่ให้การกระทำใดๆ ขัดหรือแย้งหรือละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ (Le contrôle de constitutionnalité des actes)

ทั้งนี้ก็เพื่อให้สิ่งทั้งหลายที่เป็น “ปวงปัญหา (Les problématiques)” ดังกล่าว ได้ยุติลงโดยเกิดสภาพบังคับเป็นบรรทัดฐาน เพื่อสร้างสันติสุขในสังคมสืบต่อไป ทั้งสภาพบังคับทางกฎหมาย (La sanction juridique) และสภาพบังคับทางการเมือง (La sanction politique)

พูดกันให้ชัดๆ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องเกี่ยวกับ “ความเป็นกฎหมายสูงสุด” ของ “ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” ซึ่งภาษากฎหมายมหาชนฝรั่งเศสเรียกวิธีการนี้ว่า Bloc de constitutionnalité และสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี้จะเรียกว่า Le principe de valeur constitutionnelle (หลักคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ หรือหลักค่าบังคับตามรัฐธรรมนูญ) ซึ่งก็คือ “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป” นั่นเอง

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้าง“ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” ให้ปรากฏ เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองตามหลักนิติรัฐ อันเป็นการสร้าง “หลักรัฐธรรมนูญแห่งธรรมาธิปไตย” ตามที่ “ท่าน ดร.ป. เพชรอริยะ” ได้กรุณานำเสนอมาเกือบตลอดชีวิตของท่าน

เพราะฉะนั้น การที่มีผู้ออกมา “แย้มกล่าว” ถึง “กฎหมายสูงสุด” โดยถ่ายทอดคำมาจากภาษาอังกฤษว่า “Supreme Law” อยู่ในขณะนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อการแก้ปัญหาของประเทศ (หากแย้มกล่าวด้วยกุศลเจตนา) ขอเราท่านทั้งหลายอย่าได้มองว่า “เป็นการแจกนิติวาทกรรมในวงสนทนารายวัน” เลย แม้ว่าการแย้มกล่าวนั้น อาจสันนิษฐานได้ว่า มาจากอิทธิพลพื้นฐานความคิดแบบ “อเมริกันคอมมอนลอว์” ซึ่งแตกต่างจากระบบกฎหมายไทยก็ตามที”

ปัญหามีอยู่ว่า : พระราชดำรัสของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ในคราเสด็จฯ ออกประทับ ณ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย ความว่า “พระองค์ท่านทรงเต็มพระทัยที่จะสละพระราชอำนาจอันเป็นของพระองค์ท่านแต่เดิม ให้แก่ราษฎรทั้งหลายโดยทั่วไป แต่มิได้ทรงยินยอมที่จะสละพระราชอำนาจให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” นั้น มีสถานะทางกฎหมาย (Le statut juridique) เป็นอย่างไรหรือ?

พระราชดำรัสดังกล่าวคือ “คำประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (La déclaration de la Constitution)” ซึ่ง “มีสถานะทางกฎหมาย เป็น “ประเพณีทางรัฐธรรมนูญ” อันเป็น“ส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ” และเป็น “กฎหมายสูงสุด” แต่ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ “เหนือรัฐธรรมนูญ (La supraconstitutionnalité)” ตามที่มีการ “แย้มกล่าวกัน” แต่อย่างใด

“หลักเหนือรัฐธรรมนูญ (Le Principe de supraconstitutionnalité)” นั้น หมายถึง “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” ตลอดจน “หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันเป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์” ระหว่าง “รัฐธรรมนูญ” กับ “กฎหมายระหว่างประเทศ” เช่น สนธิสัญญา (Le traité international) หรือข้อผูกพันระหว่างประเทศ (L’engagement international) เป็นต้น ซึ่งเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า L’internationalisation de la constitution

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพชัดเจนหรือไม่ว่า “พระราชดำรัสดังกล่าว” ถูกต้องตรงกันกับ “หลักทฤษฎีความสูงสุดของกฎหมาย” ซึ่ง “ฌ็อง จ๊าก รุสโซ” ได้คิดค้นขึ้น ทั้งในทาง “หลักการ” และ “ถ้อยคำสำนวน”

“เสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร” คือความหมายที่ถูกต้องตรงกันกับ La volonté générale อย่างแน่แท้ --- นี่คือ “คุณค่าทางรัฐธรรมนูญ -- La valeur constitutionnelle” ที่รอคอยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันกับพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง, ทฤษฎีใหม่ และการให้โอกาสคนดีได้ปกครองบ้านเมือง ใช่หรือไม่เล่า???????

ถ้าเห็นด้วยช่วยกดโหวตให้เต็มพิกัด!!!!!!!!!!!!!

แต่เดี๋ยวก่อน!!!!!!! ยังฟังไม่จบ ประเดี๋ยวจะเข้าใจผิดไปทำนองว่า “....เขามาจากการเลือกตั้ง...ประชาชนเลือกเขามา...ทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่?-เป็นอีกเรื่องหนึ่ง...ใครที่คิดจะไปล้มการเลือกตั้งถือว่าไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน”---อย่างที่บังเอิญโสตประสาทของผมไปได้ยินเข้าอย่างแสลงรูหูเมื่อ 4 ปีก่อน!!!!!!!!!!!!!!

แต่นั่นก็เป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” ที่ผม “ไม่เชื่อ” !!! แต่รับรู้ไว้ในฐาน “เป็นความผิดแผกทางนิติศาสตร์” ?????

เพราะความจริงก็คือ --- “เสียงอันแท้จริงของราษฎร”นั้น ย่อม “ไม่ใช่เสียงของราษฎรเฉยๆ” แต่ “ต้องมีความจริงแท้ด้วย” จึงจะเป็น La volonté générale อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเสียงที่ได้มาจากการถูกหลอกลวง-เข้าใจผิด ถูกข่มขู่ หรือเข้าทำนอง “สัญญา-จูงใจ-ให้ความหวัง” ด้วยเงิน ด้วยทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ --- อันเป็นโรค “แรงร้าย” แต่ “เรื้อรัง” ซึ่ง “เกาะ” และ “กัด” กินสังคมการเมืองไทยมาจนบัดนี้---นี่คือสภาพ “สังคมวิทยาการเมืองไทย”ที่แท้จริง ซึ่งมี “ผู้รับจ้างทางกฎหมาย” บางคน “จงใจ” เอากระดาษสีดำทับไว้นานวัน จนได้ใจว่าคนอื่นมองไม่เห็นเสียแล้ว

“เสียงอันแท้จริงของราษฎร (La volonté générale)” ครอบคลุมความหมายทั้ง “ความถูกต้องตามกฎหมาย (La légalité)” และ “ความชอบธรรม (L’équité)” ซึ่งภาษากฎหมายฝรั่งเศสรวมพร้อมอยู่ในคำคำเดียวแล้วคือ La légitimité แปลว่า ความถูกต้องและชอบธรรม

เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นี้ครับ พระอัจฉริยภาพในทางรัฐธรรมนูญและนิติปรัชญาของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 จะยิ่งใหญ่ประการใด ผมจะเล่าให้ท่านฟังในการสนทนาคราวหน้าครับ ติดตามมาด้วยเรื่อง :

- “บาปทางวิชาการ : กระบวนการทิ้งพยศ-ลดมานะ-ละทิฏฐิ”

- “การใช้อำนาจรัฐเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของราษฎรโดยทั่วไป”

- “การสร้างหลักรัฐธรรมนูญแห่งธรรมาธิปไตย”

- “ตุลาการภิวัฒน์---อภิวัฒน์ตุลาการ”

- “เมื่อตุลาการศาลยุติธรรมวินิจฉัยประเด็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญ??????”

- “ตุลาการศาลปกครองกับทฤษฎีมุมกว้างในคดีมรดกโลก”

- “แนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับความเป็นนิติรัฐและรัฐนิติ”

- “ความผิดแผกทางนิติศาสตร์”

- “การปกครองโดยคนคนเดียว, สงครามพิชิตและม็องเตสกิเออ”

- “ทฤษฎีปิศาจการเมือง : จาก กุสต๊าฟ เลอ บ็อง ถึง แก้วสรร อติโพธิ”

ผมรับรองว่าเป็น “ความรู้” แบบ “ออกรส---สดใหม่---ไฟแลบ” อย่างแน่นอน อย่าพลาดนะครับ!!!!!!!!!

หากท่านผู้อ่านมีความประสงค์จะให้ผมนำประเด็นปัญหาบ้านเมืองเรื่องใดมาสนทนากับท่านในแง่มุมทางกฎหมาย อันจะเป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์สังคมและแก้ปัญหาของประเทศชาติ กรุณาส่งเสียงเรียกร้องเข้ามาใน Bloc หรือเข้ามาทักทายกันที่ deva-naka@hotmail.co.uk ได้เลยครับ ผมจะจัดให้เป็น “นิติบรรณาการ” โดยไม่ชักช้า ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง

เพื่อเป็นการทำหน้าที่ใช้หนี้แผ่นดินและทำบุญทางวิชาการครับ!!!!!!!!!!!!!

ช่วงนี้ผู้อ่านทุกท่าน อย่าพลาดบทความ “สุดฮอต” !!!!!! ของคุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นะครับ!!!!!!


ขอคารวะผู้อ่านทุกท่านครับ สวัสดีครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น