xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นกัดเซาะชายหาด ม.ราชมงคลตรังพังยับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง - คลื่นซัดกัดเซาะบริเวณชายหาด ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ส่งผลให้ชายฝั่งได้รับความเสียหายตั้งแต่ 30-100 เมตร เหตุจากน้ำทะเลที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นและมีกำลังแรงขึ้น ด้านมหาวิทยาลัยวอนหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแล

วานนี้ (3 ก.พ.) ผศ.ดร.สุวิทย์ จิตรภักดี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้นำคณะผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบพื้นที่บริเวณชายหาดราชมงคล ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง หลังจากที่กำลังได้รับผลกระทบจากกรณีที่น้ำทะเลเพิ่มปริมาณสูงขึ้น และมีกำลังแรงขึ้น จนเกิดคลื่นซัดกัดเซาะบริเวณชายหาดหายไปแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ได้รับความเสียหายตั้งแต่ 30 -100 เมตร

นอกจากนั้น ยังพบเห็นต้นสนขนาดใหญ่ที่อยู่มานานต้องล้มตายลงไปแล้วนับ 100 ต้น โดยเฉพาะบริเวณชายหาดซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับท่าเทียบเรือทุ่งสน ต.บ่อหิน อ.สิเกา ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง จะปรากฏหลักหมุดดั้งเดิมอยู่ลึกลงไปในทะเลประมาณ 30 เมตร จากเดิมที่หลักหมุดดังกล่าวจะตั้งอยู่ริมฝั่ง ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นผลมาจากการขุดลอกทรายเปิดร่องน้ำ ทำให้น้ำทะเลมีความเชี่ยวกราก รวมทั้งไหลเปลี่ยนทิศทาง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อชายหาด ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จนถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนหายไปหลาย 10 เมตร ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังเร่งทำการศึกษาและทดลองวิธีการชะลอความแรงของน้ำแบบธรรมชาติ ด้วยการนำสิ่งของไปวางขวางในจังหวะที่คลื่นซัดน้ำทะเลลง เพื่อหวังจะให้ทรายคงค้างอยู่ที่ชายหาด และเพิ่มปริมาณทรายบนชายหาด ซึ่งหากทำสำเร็จจะถือเป็นผลงานสำคัญที่สามารถนำไปใช้ป้องกันพื้นที่ชายหาดอื่นๆ ได้ทั่วทั้งประเทศ

ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า โดยภาพรวมพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดตรัง กำลังประสบปัญหาจากภาวะโลกร้อน จนทำให้น้ำทะเลเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ส่วนกระแสน้ำและคลื่นก็มีความรุนแรงขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง สมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางแก้ไขโดยเร็ว เหมือนอย่างที่ทางมหาวิทยาลัยกำลังเร่งศึกษาอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญทางจังหวัด โดยเฉพาะรัฐบาล จะต้องเร่งรับมือเป็นการเร่งด่วน เพราะจะส่งผลต่อธรรมชาติทางทะเลทั้งระบบ

ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิประเทศของไทยอยู่ในเขตร้อน และมีความหลากหลายทางธรรมชาติสูง ในขณะที่จังหวัดตรังก็มีพื้นที่ติดทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ที่ผ่านมาทางรัฐบาลยังไม่ได้ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนแนวทางแก้ปัญหาก็คือ จะต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดแผนปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น