สมการการเมือง
โดย...พาณิชย์ ภูมิพระราม
13 ธันวาคม 2552 โลกเศรษฐศาสตร์ต้องสูญเสียผู้นำทางความคิดที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง นั่นคือ ศาสตราจารย์ พอล แอนโธนี แซมมวลสัน (Paul Anthony Samuelson ) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปี 2513(1970) แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ด้วยวัย 94 ปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ (16 พฤศจิกายน 2549) ศาสตราจารย์มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2519(1976) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เจ้าของวลี “ของฟรีไม่มีในโลก”(There’s no such thing as a free lunch) ก็จากโลกนี้ไปด้วยวัย 94 ปี เช่นกัน
ที่สำคัญทั้งสองคนต่างมีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันคนละโลกในเรื่อง “วิธีคิด”
ครอบครัวแซมมวลสันและครอบครัวของฟรีดแมนต่างต้องเป็นชาวยิวอพยพ ลี้ภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา
โดยครอบครัวของแซมมวลสัน อพยพมาจากโปแลนด์ จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่ครอบครัวของฟรีดแมนอพยพมาจากแคว้นเบเรโฮฟ ประเทศ ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน
ทั้งสองต่างผูกพันกับ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) คนละแบบ นั่นคือ คนหนึ่งจบปริญญาตรี อีกคนหนึ่งจบปริญญาโท และทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้จนกระทั่งเกษียณ
แซมมวลสัน จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ในปี 2478 ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 2479 และปริญญาเอกจากที่เดียวกันในปี 2484 ด้วยรางวัล David A. Wells Prize
ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนี่เองที่ทำให้ แซมมวลสันสะสมและตกผลึกทางความคิดของเคนส์ จนกลายเป็น นีโอเคนส์เซียน (Neo-Keynesian Economics) เนื่องจากในช่วงเวลานั้น นักเศรษฐศาสตร์สายเคนส์เซียนที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ ล้วนสอนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด เช่น Joseph Schumpeter, Wassily Leontief, Gottfried Haberler, Alvin Hansen, Robert Summers, Anita Summers
ขณะที่ฟรีดแมน จบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัย Rutger และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยชิคาโก โดยสะสมแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์จากปรมาจารย์ในระดับแนวหน้า เช่น Jacob Viner, Henry Simons, Frank Knight หลังจากนั้นอีก 1 ปี จึงได้ทุนไปเรียนปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก กับ ศาสตราจารย์ไซม่อน คุซเน็ตส์ (Simon Kutznets) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2514 (1971)
แซมมวลสัน เข้าทำงานเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ก่อนจบปริญญาเอกเพียงหนึ่งปี คือในปี 2483 ด้วยวัยเพียง 25 ปี ต่อด้วยรองศาสตราจารย์ในปี 2487 และศาสตราจารย์ในปี 2490 ในขณะที่มีอายุเพียง 32 ปี
ที่สำคัญที่สุด แซมมวลสัน ใช้เวลาเกือบ 20 ปีผลักดันและสร้างเอ็มไอที จาก ”ศูนย์” ให้มีชื่อเสียงและเป็นสถาบันการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนกลายเป็นศูนย์รวมนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนสำคัญเช่น Robert M. Solow, Paul Krugman, Franco Modigliani, Robert C. Merton , Joseph E. Stiglitz เช่นเดียวกับ ฟรีดแมนที่ผลักดันและสร้างคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยชิคาโก ให้กลายเป็น “Chicago School of Economics” แหล่งรวมนักเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสสิค และเป็นศูนย์รวมของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลคนสำคัญ เช่น Robert E. Lucas
นั่นหมายความว่า ทั้งสองสามารถผลักดันสถาบันการศึกษาต้นสังกัด ให้กลายเป็น ตักศิลาด้านเศรษฐศาสตร์คนละแนวคิด
แซมมวลสัน ผลักดันเอ็มไอทีให้เป็นสำนักนีโอเคนส์เซียน
ฟรีดแมน สร้างสำนักชิคาโก ขึ้นมาจนกลายเป็นศูนย์รวมนักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคในปัจจุบัน
นอกจากนั้นทั้งสองยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ก้าวออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแก่ผู้นำของประเทศ และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสาร นิวส์วีค
ในกรณีเมืองไทย เคยมีการวิจารณ์นักเศรษฐศาสตร์อย่างครึกโครมที่ไปทำหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี บ้างรุนแรงถึงขึ้น ด่าว่า เป็นนักวิชาการขายตัว
โดยแซมมวลสันทำหน้าที่ที่ปรึกษาประธานาธิบดี จอห์น เอฟ.เคเนดี้ และลินดอน บี.จอห์นสัน (Lyndon B.Johnson) รวมทั้งกระทรวงการคลังสหรัฐ
ฟรีดแมน เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการคลังในช่วงปี 2484-2486 และในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังในปีพ.ศ. 2485นอกจากนั้นแนวคิดของเขาถูกรัฐบาลของ นายโรนัลด์ เรแกน และนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นำไปใช้ปฏิบัติในการดำเนินนโยบาย ที่สำคัญกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ล้วนได้รับอิทธิพลความคิดของฟรีดแมน
รวมทั้ง เบน เบอร์นันกี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบัน
จนกระทั่งฟรีดแมน ได้รับการยอมรับว่า เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20
นอกจากนี้ยังเขียนบทความในฐานะคอลัมนิสต์ นิตยสารนิวส์วีค เช่นเดียวกับแซมมวลสัน
สำหรับแนวคิด และงานเขียนของแซมมวลสันที่ได้รับการยกย่องและกล่าวขานมากที่สุดคือ การเขียนตำราด้านเศรษฐศาสตร์ หนังสือชื่อ Economics: An Introduction Analysis ซึ่งตีพิพ์ครั้งแรกในปี 2491 ถูกตีพิมพ์ไป 19 ครั้ง มากกว่า 40 ภาษา รวมแล้วมากกว่า 4 ล้านเล่ม ปัจจุบันแม้จะมีอายุ 60 ปีเศษแต่ก็ยังถูกนำไปใช้เป็นตำราการเรียนการสอนนักศึกษาปริญญาตรี
ผลงานที่สำคัญมากที่สุด คือ การทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการหลอมรวมคณิตศาสตร์ กราฟ และสถิติ เข้ากับเศรษฐศาสตร์ จนได้รับการยกย่องจากประธานบิล คลินตัน ในระหว่างการรางวัล เหรียญเกียรติคุณทางวิทยาศาสตร์ (National Medal of Science) ซึ่งเป็นรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของสหรัฐ ( America’s top science honor)ว่า สิ่งที่แซมมวลสันมอบให้แก่วงการวิทยาศาสตรืคือทำให้เศรษฐศาสตร์กลายเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทฤษฎีดุลยภาพทั่วไป และเศรษฐศาสตร์มหภาค
การนำคณิตศาสตร์ขั้นสูงมาอธิบายในมิติเชิงเศรษฐศาสตร์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีข้อด้อยที่สำคัญก็คือ การตั้งข้อสมมติ จนทำให้โมเดลทางเศรษฐศาตร์อาจจะทำนายสถานการณ์ในอนาคตผิดพลาดไป
ที่สำคัญ บางครั้งอาจจะถูกแดกดันประชดประชันจากคนอื่นว่า เศรษฐศาสตร์ศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่ภาษามนุษย์
ขณะที่แนวคิดเรื่อง Permanent Income ของฟรีดแมนก็ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญของโลกเศรษฐศาสตร์ และเขาก็ได้รับเหรียญเกียรติคุณทางวิทยาศาสตร์ (National Medal of Science) เช่นเดียวกัน
นั่นทำให้ นักเศรษฐศาสตร์มักได้รับการมองว่า เย่อหยิ่งยะโส !!
ความยะโสโอหังไม่ได้เลวร้าย แต่ที่เลวร้ายคือการแสดงพฤติกรรมเหยียดหยามคนอื่น สะท้อนได้จาก “คุณกิริยา” นักเศรษฐศาสตร์เกรดต่ำคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเคยดูถูกการเรียนนักศึกษาปริญญเอกแห่งหนึ่งว่า “หลับตาข้างหนึ่งสอน”
เป็นคำพูดและพฤติกรรมตรงกันข้ามกับ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาที่เน้น “ เมตตาธรรม และคุณธรรม” เป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งในการเรียนการสอน โดยเฉพาะการพูดจาส่อเสียด เหยียดหยาม ดูถูก และเย้ยหยัน อาจารย์หรือนักศึกษา
ต่างกันราวฟ้ากับดินกับนักเศรษฐศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่างแซมมวลสัน และฟรีดแมน เพราะทั้งสองได้รับการยอมรับว่า มีเมตตาธรรม และต้องการเห็นระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียม และขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกใบนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มคนที่เสียเปรียบ และด้อยโอกาส
แม้ว่า แนวคิดที่สร้างความเท่าเทียมและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะแตกต่างกันคนละด้านก็ตาม
แซมมวลสัน เน้นความล้มเหลวของกลไกตลาด (market failure) ดังนั้นรัฐบาลต้องมีบทบาทเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้แนวคิดของกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อรัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ต้องอาศัยการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านงบประมาณ และนโยบายแจกเงิน
นโยบายการคลังจึงมีความสำคัญมาก
นั่นทำให้แซมมวลสันเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะสิ้นสุดในปี 2555 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า
ฟรีดแมน เห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจเกิดจาก ความล้มเหลวของกลไกรัฐ (Government failure) ดังนั้นการดำเนินนโยบายใดๆควรเน้นเสถียรภาพเป็นสำคัญ นั่นคือ รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพราะในระยะยาวแล้ว กลไกทางเศรษฐกิจจะเคลื่อนไปสู่ดุลยภาพเหมือนเดิม หลักการตลาดเสรีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
รัฐบาลควรเน้นดำเนินนโยบาการเงินเท่านั้น
แนวคิดของกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทุกประเทศ โดยเฉพาะ ไอเอ็มเอฟ จนเกิดฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน
แต่นักการเมืองหลายประเทศ รวมทั้งกรณีประเทศไทย จะนิยมชมชอบแนวทางของแซมมวลสันเป็นสำคัญ ทำให้การจัดทำงบประมาณมีความสำคัญอันดับหนึ่งของการบริหารประเทศ
ที่สำคัญนักการเมืองไทยยังชอบวิจารณ์การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยไม่เข้าใจพื้นฐานแนวคิด เพราะต้องการคะแนนเสียงระยะสั้น มากกว่าความประทับใจระยะยาวของชาวบ้าน
โยนต้นทุนทางการเมืองไปให้คนตามถนัด เพราะ"ของฟรีไม่มีในโลก"จริงๆ