xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯมหาสารคามหนุนเกษตรกรสาน “กระติบข้าว”ขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระติบข้าวเหนียวของคนอีสาน จากแต่เดิมเกษตรกรจะใช้เวลาว่างในการสานกระติบใช้ในครัวเรือน แต่ปัจจุบัน  ยกระดับมาเป็นสินค้าจำหน่ายทั่วไป สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กองทุนฟื้นฟูฯมหาสารคามหนุนเกษตรกร ยกระดับอาชีพเสริม สานกระติบข้าวไม้ไผ่ งานหัตถกรรมพื้นบ้านออกวางขายท้องตลาดในวงกว้างมากขึ้น เผยเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวอีสานที่ลูกหลานต้องสืบทอด

ทางแถบภาคอีสานของไทยเรากินข้าวเหนียวกันมาแต่ดั้งเดิม จนปัจจุบันก็ยังกินข้าวเหนียวกันอยู่ ดังนั้น ทางแถบภาคอีสานจึงค้นหาสิ่งที่จะมาปรับปรุงให้ข้าวเหนียวสุกน่ากินและเก็บไว้ได้นาน ในภาชนะที่ไม่ทำให้ข้าวเหนียวแข็ง สิ่งที่ทำให้ข้าวเหนียวอ่อนนุ่มอยู่ได้นานก็คือไม้ไผ่ โดยนำมาจักสานจนกลายเป็นกระติบข้าวจนถึงทุกวันนี้

กระติบข้าว เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ ทรงกระบอกสูงคล้ายกระป๋อง ตัวและฝามีขนาดเกือบเท่ากัน มีเชือกห้อยสำหรับสะพาย คนในภาคเหนือ มีวัฒนธรรมในการบริโภคข้าวเหนียวเช่นเดียวกับคนในภาคอีสาน โดยบรรจุในภาชนะที่เรียกว่า ก่องข้าว แต่เครื่องจักสานของชาวอีสานจะมีลักษณะเฉพาะ เช่น กระติบข้าวเหนียว เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวของชาวอีสาน

ความแตกต่างของภาชนะทั้งสองอยู่ที่รูปทรง โดยก่องข้าว จะมีลักษณะคล้ายกระบุงมีฝาปิดและมีขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นฐานแยกสี่แฉก มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า การสานด้วยไม้ไผ่มีความแน่นหนา เก็บขอบด้วยหวายโดยรอบ

ส่วนกระติบข้าว ที่พบเห็นได้ทั่วไปเป็นภาชนะสานทรงกลมมีฝาปิด ฐานของกระติบจะทำจากก้านตาลขดเป็นวงกลม มีมากมายหลายขนาด การสานทำได้ง่ายกว่าก่องข้าว เพราะใช้ตอกไม้ไผ่ที่มีความบางอ่อนตัว (ก่องข้าวใช้ตอกที่ทำจากติวไม้ไผ่ (ส่วนผิว) ซึ่งมีความแข็งจึงสานยากกว่า ทำให้กระติบข้าวมีความแข็งแรงน้อยกว่าก่องข้าว

ปัจจุบัน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ยื่นมือเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือฟื้นฟูการทำกระติบข้าว ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปและเป็นการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไป จากเดิมที่เกษตรกรหรือชาวบ้านทั่วไปจะสานกระติบข้าวใช้ภายในครัวเรือน แต่ขณะนี้ก็ลดลงจนอาจทำให้การสานกระติบเลือนหายไป

นายพิมพ์ ปาจักกัง ประธานกลุ่มยุทธศาสตร์กองทุนฟื้นฟู เล่าว่า บ้านหนองแวง ตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างตัวจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่อยู่ของชาวบ้านที่ยึดอาชีพการทำนาเป็นหลักกันมาช้านาน และในยามที่ว่างจากงานนา พวกเขาจะใช้เวลาว่างอยู่กับการทำเครื่องจักสานจำพวกกระติบข้าวเพื่อใส่ข้าวเหนียวไว้กินในแต่ละวัน กับทำเพื่อถวายพระในช่วงงานบุญ เช่น ในยามเทศกาลเข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น ในปี 2551 ได้มีการรวมกลุ่มกันขายได้ก็นำเงินมาเข้ากลุ่มแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน

“คนที่นี่ไม่เคยไปเรียนรู้การจักสานมาจากที่ใด นอกจากการถูกฝึกปรือจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายกันมาเป็นทอดๆ กระทั่งถึงปัจจุบันลูกหลานของชาวบ้านหนองแวง ก็ยังมีความสามารถกับงานชนิดนี้จนกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของท้องถิ่นกันไปแล้ว “

งานจักสานกระติบข้าวนั้น เขาใช้ไม้ฟางหรือไม้เฮี้ยะ ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญคือทนต่อความร้อนและแน่นกระชับมาเป็นวัสดุในการสาน โดยเบื้องต้นจะเป็นการสานขึ้นลายก่อน จากนั้นจึงจะเอามาตัดขอบ และท้ายสุดเอาก้านตาลมาทำเป็น “ตีนกระติบ”

ผลิตภัณฑ์จักสานที่ได้นอกเหนือจากการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว แต่เดิมเขาจะนำออกขายเป็นสินค้าในช่วงเทศกาลเท่านั้น โดยเฉพาะงานบุญ ชาวบ้านหนองแวง สามารถมีรายได้จากการขายกระติบนับเป็นหมื่นบาทเป็นอย่างน้อย แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรองานเทศกาลกันอีกแล้ว เนื่องจากมีพ่อค้าเดินทางเข้ามารับซื้อไปขายกันเป็นประจำ สำหรับราคาของการซื้อขาย ถ้าเป็นกระติบขนาด 4 นิ้ว ราคา 50 บาท ขนาด5 นิ้ว ราคา 100บาท
นอกจากนี้ยังมีการทำกระติบยักษ์ขนาด 200 นิ้ว ซึ่งเป็นกระติบที่ใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียวในงานเลี้ยงขนาดใหญ่ โดยราคาขึ้นอยู่กับการตกลงกันเองตามความเหมาะสม

ดร.วิญญู สะตะ หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรบ้านหนองแวง อ.เมือง เพื่อต่อยอดองค์ความรู้เดิม ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูออกจำหน่ายตลาดวงกว้างเพื่อสร้างรายได้เข้าชุมชน ชาวบ้านจะยึดอาชีพการทำนาเป็นหลักกันมาช้านาน

ในยามที่ว่างจากงานนา พวกเขาจะใช้เวลาว่างอยู่กับการทำเครื่องจักสานจำพวกกระติบข้าวเพื่อใส่ข้าวเหนียวไว้กิน ในแต่ละวันคนที่นี่ไม่เคยไปเรียนรู้การจักสานมาจากที่ใด นอกจากการถูกฝึกปรือจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายกันมาเป็นทอดๆ กระทั่งถึงปัจจุบันลูกหลานของชาวบ้านหนองแวง ก็ยังมีความสามารถกับงานชนิดนี้จนกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของท้องถิ่นกันไปแล้ว ชาวบ้านหนองแวง สามารถมีรายได้จากการขายกระติบนับเป็นหมื่นบาทเป็นอย่างน้อย

“เกษตรกร กลุ่มนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณสนับสนุนเพื่อทำการวิจัยยกระดับสู่วิสาหกิจชุมชน โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจหากสามารถสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” ดร.วิญญู กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น