xs
xsm
sm
md
lg

สิงห์ฟ้องกลับ จวกนพ.สมาน 2 มาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “สิงห์”ออกโรงฟ้องกลับกรณีปฎิทินฉาวเบียร์ลีโอ ให้เพิกถอนประกาศ สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับที่ 9 /2552 ขณะที่ สธ.ไม่หวั่น บ.สิงห์ยื่นฟ้องศาลปกครอง ด้าน “เสธ.หนั่น” ไฟเขียวร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ก่อนเสนอนายกฯ ลงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ และเบียร์ลีโอ กล่าวถึงกรณีปฎิทินเบียร์ลีโอที่ตกเป็นข่าวขณะนี้ ว่า บริษัทได้ดำเนินตามกระบวนการตามกฎหมาย โดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในตัวกฎหมายที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยให้มีการเพิกถอนประกาศสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับที่ 9 /2552 ซึ่งมีการตีความโดยมิชอบด้วยอำนาจและกระทำเกินขอบเขตจากนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยก่อให้เกิดความเสียหายภาพลักษณ์บริษัท และบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ลูกเกด - เมทินี กิ่งโพยม รวมทั้งนางแบบปฏิทินตกเป็นจำเลยของสังคม และทำให้บริษัทไม่สามารถโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้คดีดังกล่าวบริษัทได้ให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉินภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ สำหรับปฏิทินเบียร์ลีโอ ก่อนหน้านี้บริษัทวางแผนวางจะขาย โดยขณะนี้การขายปฏิทินต้องระงับลง ส่วนจะดำเนินการทิศทางใดจะพิจารณาอีกครั้ง

**ชำแหละมาตรา 32 ตีความแตกต่าง

พร้อมกันนี้ได้นำพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ซึ่งมีการตีความที่แตกต่างกัน คือ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้นเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฎภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฎภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

โดยข้อความที่เขียนเส้นใต้ทำให้เกิดการตีความแตกต่างกัน นายแพทย์สมานใช้ดุลยพินิจโดยไม่ได้ผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาโทษถึงความผิดของบริษัท และกล่าวโทษว่าผิดตั้งแต่ข้อความแรก คือ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาถือว่าเป็นประโยคที่สมบูรณ์แล้ว ซึ่งบริษัทตีความว่า การเขียนกฎหมายไม่ได้เว้นวรรค ทำให้มีการตีความทั้งประโยค โดยบริษัทเมทิเน่ จำกัด ซึ่งมีนางแบบชื่อดังลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม เป็นเจ้าของบริษัท แต่มิได้ดำเนินการเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงไม่เข้าข่ายตามตามมาตรา 32

นอกจากนี้ภายในปฏิทินยังไม่ได้มีการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ดื่ม อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้

“พรบ.มีโทษอาญาด้วย ทำไมสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เรียกผู้ประกอบการเข้าไปทำความเข้าใจ เรายืนยันว่าบริษัทไม่เคยถูกเชิญ”

**จวกหมอสมานปฏิบัติ 2 มาตรฐาน

นายฉัตรชัย กล่าวว่า การดำเนินการของนายแพทย์สมานยังส่อให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติและการมีอคติของบริษัทสิงห์ เช่น กรณีเรื่องปฏิทินที่เป็นข่าว สำนักงานฯได้ออกข่าวตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันก่อนการเปิดตัวปฏิทินที่มีขึ้นวันที่ 15 ธันวาคม ขณะเดียวกันมีนิตยสาร Maxim ฉบับเดือนธันวาคม 2552 มีสายคาดหนังสือแสดงสัญลักษณ์เบียร์ช้างด้านหลัง และมีคำอวดอ้างสรรพคุณเบียร์ “Finest Quality” และหน้าที่ 102-107 มีภาพนางแบบผู้หญิงกับโลโก้เบียร์ช้างแต่ละประเภทโดยไม่ต่างอะไรกับปฏิทิน และมีข้อความที่ใช้เรื่องเสน่ห์ทางเพศชักจูงในให้ดื่ม

หากนายแพทย์สมานเห็นว่าเป็นความผิด กรณีเบียร์ช้าง แล้วทำไมจึงไม่มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกับกรณีของปฏิทินลีโอ

**ลูกเกดชี้รับความเป็นธรรมคณะกรรมาธิการ

นางเมทินี กิ่งโพยม เจ้าของบริษัทเมทิเน่ จำกัด กล่าวว่า วานนี้ (23ธันวาคม 52) ได้เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ที่ อาคารรัฐสภา ซึ่งก็ได้รับความเป็นธรรม โดยตามกฎหมายเราไม่ได้ทำผิด ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องการฟ้องตามกระบวนการตามกฎหมาย

**สธ.ไม่หวั่น บ.สิงห์ยื่นฟ้องศาลปกครอง

นายมานิต นพอมรวดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การที่บ.สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สธ.แจ้งความดำเนินคดีว่า สธ.ได้ทำทุกอย่างตามกฎหมาย ซึ่งการร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นสิ่งที่สธ.ต้องดำเนินการในฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย และได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วก่อนจะแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว

เวลา 10.30 น. วานนี้ (23 ธ.ค.) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียกร้องรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นประธาน เร่งออกมาตรการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรถ หรือท้ายกระบะ ทั้งที่จอดและวิ่งอยู่บนทางสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

**ไฟเขียวร่างกฎหมาย 4 ฉบับ

วันเดียวกัน เวลา 12.00 น. พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2552 ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ห้ามขายเหล้าปั่นสถานศึกษา รถเข็น ตลาดนัด ทั่วประเทศ

ฉบับที่ 1ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดวิธีการหรือลักษณะในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 ซึ่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบของการนำมาผสมในน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำที่มีกลิ่นผลไม้หรือสิ่งอื่นใดแล้วนำมาปั่นรวมกัน เช่น เหล้าปั่น ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นและมีขายอย่างแพร่หลาย ตามร้านข้างถนน รอบๆ สถานศึกษา หรือรถเข็นตามตลาดนัด ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยยกเว้นให้ขายได้ในสถานบริการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

**คุม 500 เมตร ตั้งแต่โรงเรียนประถม

ฉบับที่ 2 ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่อยู่ห่างไม่เกิน 500 เมตร จากรั้วหรือแนวเขตสถานศึกษาตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไป โดยยกเว้นให้ขายได้ในสถานที่ที่ได้รับการผ่อนผัน และโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ รวมถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปได้จนกว่าใบอนุญาตจะหมดอายุ หากคณะกรรมการเห็นชอบจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามและมีผลบังคับใช้ 180 วัน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

**รัฐวิสาหกิจ-ที่ราชการก็โดน

ฉบับที่ 3 ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยห้ามดื่มในสถานที่หรือบริเวณหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ และภายในหรือบนยานพาหนะทางบกที่อยู่ในที่หรือทางสาธารณะ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสร หรือการจัดเลี้ยงตามประเพณี หากที่ประชุมเห็นชอบจะเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้วันถัดไป

**ขยายพื้นที่ฉลากเตือนภัย

ฉบับที่ 4 ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยฉลากข้อความคำเตือนพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้า ซึ่งกำหนดให้ภาชนะบรรจุที่มีลักษณะเป็นขวด ต้องมีปริมาณสุทธิไม่น้อยกว่า 250 มิลลิลิตร ส่วนภาชนะที่เป็นกระป๋อง ไห ถุงหรือรูปแบบอื่นๆปริมาณบรรจุไม่น้อยกว่า 300 มิลลิลิตร

**เร่งเสนอนายกฯออกราชกิจจาฯ

ทั้งนี้ ที่ประชุมจะตั้งคณะอนุกรรมการ เร่งศึกษาถึงผลกระทบของร่างประกาศทั้ง 4 ฉบับ เพื่อไม่ให้ขัดกับข้อกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้อง หากผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะนำเสนอผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และบังคับใช้ต่อไป โดยขณะที่ยังไม่มีการประกาศใช้ประกาศทั้ง 4 ฉบับ ได้แต่ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลและปราบปรามให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ โดยมี พลตำรวจเอกปานศิริ ประภาวัตร์ รองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธาน

**คกก.เหล้าตีกลับ กม.ลูก 4 ฉ.

น.พ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว ที่มี พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ในวันนี้ที่ประชุมเห็นว่า ควรให้มีการนำกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาจำนวน 4 ฉบับ กลับไปพิจารณาให้มีความรัดกุมมากขึ้น และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น