xs
xsm
sm
md
lg

คลังสั่งบตท.ซื้อหนี้ดีธอส.5หมื่นล้านหวังดันตลาดสินเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน –“คลัง” ฟันธงอสังหาฯฟื้นชัวร์ อุบจะต่อ-ไม่ต่ออายุมาตรการอุ้มอสังหาฯ ชี้เป็นเรื่องอ่อนไหว หวั่นผู้บริโภคชะลอซื้อ พร้อมสั่งบตท.เดินหน้าขยายตลาดสินเชื่อบ้าน ลุยซื้อหนี้ดีธอส. 50,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ล็อตแรก 3,000 ล้านบาท

วานนี้ (15 ธ.ค.52) บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ชานเนล จำกัด ร่วมกับบริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด และเซ็นจูรี่ 21 เรียลตี้ แอฟฟิลิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยฟื้นแล้วจริงหรือ” โดยนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่ปรึกษารมช.กระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยกล่าวเปิดงานว่า ภายหลังจากที่ภาคส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาคส่งออกมีสัดส่วน 60-70% ของการเติบโตของจีดีพี รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหันมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ ภาคอสังหาฯและก่อสร้าง เป็นภาคธุรกิจที่กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้เป็นอย่างดี จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเจริญเติบโตของอสังหาฯ มีผลต่อการเติบโตของประเทศ

นอกจากนี้ ภาคอสังหาฯ และภาคก่อสร้างยังเป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนของการจ้างงานเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยพิจารณาได้จากตัวเลขการจ้างงานในไตรมาส 3 ของปี 2552 พบว่า มีการจ้างงานในภาคอสังหาฯ และการก่อสร้าง จำนวน 3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.95 ของการจ้างงานทั้งประเทศ เป็นอันดับ 3 รองลงมาจากธุรกิจค้าปลีก และอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาฯ และก่อสร้างมีมูลค่าต่อปีอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท จากสินเชื่อทั้งระบบ 7 ล้านล้านบาท

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาฯ และก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น มาตรการหักลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 แสนบาทสำหรับผู้ซื้อบ้านในปี 2552 การขยายอายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง และภาษีธุรกิจเฉพาะ สิ้นสุด 31 มี.ค.53 ซึ่งเชื่อว่า มาตรการต่างๆ ที่กล่าวถึง รวมถึง มาตรการอื่นๆ ของภาครัฐ เช่น ไทยเข้มแข็ง มีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจอสังหาฯ มีการเติบโตตามภาวะทางเศรษฐกิจ

“ส่วนการต่อหรือไม่ต่ออายุมาตรการภาษีถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวหรือมีมาตรการใหม่ๆออกมา หากรัฐบาลบอกล่วงหน้า อาจทำให้ตลาดชะงักได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้นสิ่งที่เป็นเรื่องขายฝันและเป็นการสร้างความหวัง รัฐบาลจะมีความระมัดระวังมาก และขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นการต่ออายุขึ้นมาร่วมหารือ ” นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทิศทางธุรกิจอสังหาฯในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น วัดได้จากมูลค่าการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 สูงถึง 5% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 จากผลของมาตรการหักลดหย่อนภาษี 3 แสนบาทที่จะหมดในวันที่ 31 ธ.ค. นี้ อีกทั้ง ตัวเลขความต้องการปูนซีเมนต์และเหล็กในไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และ 1.2 ตามลำดับ หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 51 พบว่าติดลบร้อยละ 6.1 ส่วนหนึ่งมาจากโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่เอกชนได้ ทำให้เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2553 และตัวเลขจีดีพีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 2.5-3.5%

คลังสั่งบตท.ลุยซื้อหนี้ดีธอส.
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในปีหน้า บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) จะเข้ามามีบทบาทในภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เพียงพอและสม่ำเสมอ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาธุรกิจอสังหาฯของประเทศ ในเบื้องต้นมีแผนจะให้บตท.เข้าซื้อลูกหนี้ชั้นดีจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อนำมาบริหาร และใช้วิธีสินเชื่อพันธบัตรคงที่ เพื่อนำเงินมาลงทุนซื้อหนี้สินชั้นดีมาบริหาร ซึ่งจะผลักดันให้ในระยะยาวสถาบันต่างๆ กล้าออกอัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะยาว ลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้อ

ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธนาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ธอส.จะลงนามในสัญญาความร่วมมือขายสินเชื่อดีให้แก่ บตท. จำนวนทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี โดยล็อตแรกจำนวน 3,000 ล้านบาทในช่วงต้นปี 53 นี้

“อย่างไรก็ตาม หากธอส.ต้องขายสินเชื่อดีให้บตท. จะต้องคำนวณรายได้จากดอกเบี้ยที่จะได้รับในอีก 20-30 ปีข้างหน้าเผื่อเข้าไปด้วย อย่างไรก็ตามการขายสินเชื่อดังกล่าว จะทำให้ธอส.ไม่ต้องแข่งขันระดมเงินฝากเข้ามาเพื่อนำมาปล่อยกู้ และจะทำให้ต้นทุนของธอส.ถูกลง สามารถปล่อยสินเชื่อได้ในระดับที่ต่ำกว่าตลาด รวมถึงการ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวได้” นายขรรค์กล่าว

ภายหลังจากที่ธอส. ปรับเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อจาก 73,000 ล้านบาท และ 1 แสนล้านบาทในปีนี้ ปัจจุบัน ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 92,000 ล้านบาท ซึ่งนับจากนี้ไปจะต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้วันละกว่า 500 ล้านบาท เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ 1 แสนล้านบาท โดยปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ ธอส.ปล่อยสินเชื่อได้ดีมาก ย่อมส่งผลต่อกำไรถือว่าดีกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงตัวเลขของเอ็นพีแอลไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังลดลงสูงถึง 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด.
กำลังโหลดความคิดเห็น