xs
xsm
sm
md
lg

“ภูเขา 3 ลูก” กับยุทธศาสตร์ใหม่ของโอบามาในการทำสงครามอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ในการทำสงครามอัฟกานิสถานของประธานาธิบดีบารัค โอบามาผู้นำสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1ธันวาคมซึ่งระบุว่าจะมีการส่งทหารอเมริกันไปเสริมกำลังอีก 30,000 คนเป็นอย่างน้อย เพื่อจะเร่งเผด็จศึกนักรบตอลิบานและสมาชิกเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ให้ได้ภายในระยะเวลา 18 เดือน ก่อนจะทยอยถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2011 เป็นต้นไป อาจถูกมองด้วยความชื่นชมสรรเสริญจากบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายในกองทัพสหรัฐฯ รวมทั้ง เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในประเทศว่าเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ที่จะเป็นเครื่องการันตี “ชัยชนะอันหอมหวาน” ของสหรัฐฯในสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานจนย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 9
แต่ในเมื่อเหรียญยังมีสองด้าน จึงมิใช่เรื่องน่าประหลาดใจหากยุทธศาสตร์ใหม่ดังกล่าวซึ่งได้รับการขนานนามจากรอเบิร์ต เกตส์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯว่าเป็น “ ยุทธศาสตร์การทหารที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษ ” จะถูกตั้งคำถามตลอดจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆในสหรัฐฯและประชาคมโลกถึงผลสำเร็จ และความคุ้มค่าของยุทธศาสตร์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังขาที่ว่าแผนดังกล่าวจะช่วยให้โอบามา , รัฐบาลเดโมแครต, และกำลังพลจำนวนเรือนแสนในอัฟกานิสถานสามารถปีนข้าม “ภูเขาทั้ง 3 ลูก” ที่กั้นขวางชัยชนะของสหรัฐฯ อยู่ไปได้หรือไม่
ภูเขาทั้ง 3 ลูกที่ว่า ก็คือปัญหาสำคัญ3 ประการอันเป็นอุปสรรคชิ้นโต ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ของโอบามาต้องฝ่าฟันไปให้ได้ซึ่งประกอบด้วย
ภูเขาลูกแรก คือกระแสต่อต้านสงครามอัฟกานิสถานในสังคมอเมริกันและทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ โดยผลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมโดย “Pew Research Center” สถาบันวิจัยชื่อดังในกรุงวอชิงตันพบว่าขณะนี้มีชาวอเมริกันร้อยละ 32 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการเพิ่มทหารในอัฟกานิสถาน ขณะที่ร้อยละ49 ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ ควรหันมาสนใจสิ่งที่เป็น “its own business” มากกว่าการทำ “สงครามที่ไร้ค่า” ในดินแดนที่อยู่ไกลจากบ้านของตัวเองคนละซีกโลก ขณะที่ผลสำรวจของ “แกลลัป โพลล์” พบว่า คนอเมริกันให้คะแนนโอบามาในการดำเนินนโยบายอัฟกานิสถานไม่ถึงร้อยละ 40 เนื่องจากส่วนใหญ่เชื่อว่าโอบามากำลังนำสหรัฐฯ เข้าสู่ “สมรภูมิที่ไม่มีวันชนะ” แห่งใหม่ถัดจากสงครามเวียดนามเมื่อหลายทศวรรษก่อน
นอกจากนั้น การที่เพนตากอนระบุว่าการเพิ่มทหารอย่างน้อย 30,000 คนคราวนี้ ต้องใช้งบประมาณเพิ่มจากเดิมอีกมากกว่า 30,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 995,800 ล้านบาท) ยังสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับบรรดาผู้จ่ายภาษีชาวอเมริกันไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่พวกเขาสุ่มเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียทั้งบ้านและงานจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ไม่เพียงแต่กระแสต่อต้านสงครามจะเพิ่มขึ้นในสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่กระแสดังกล่าวยังลุกลามไปทั่วโลกเช่นกันเห็นได้จากผลสำเร็จความคิดเห็นล่าสุดของสถาบัน “พีจีเอพี” ที่มี “เมเดลีน คอร์เบล อัลไบรต์” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯเป็นประธาน ซึ่งพบว่า ผู้คนใน 41จากทั้งหมด 47 ประเทศที่ทำการสำรวจระบุต้องการให้สหรัฐฯและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ถอนตัวจากอัฟกานิสถานโดยเร็วที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องรอให้การถอนรากถอนโคนกลุ่มตอลิบานและอัลกออิดะห์เสร็จสิ้น
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำชาติสมาชิกนาโต้และพันธมิตรในภูมิภาคอื่นของสหรัฐฯ ต่างเริ่มออกอาการลังเลกับการเพิ่มทหารในอัฟกานิสถานเนื่องจากไม่ต้องการ “ ขัดใจประชาชน ” และเสี่ยงที่จะหมดอนาคตทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปโดยหลายชาติเช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และแคนาดายืนยันจะถอนทหารของตนกลับบ้านโดยเร็วที่สุดขณะที่ยักษ์ใหญ่แห่งยุโรปอย่างเยอรมัน และฝรั่งเศส ต่างแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่อยากรีบตัดสินใจเรื่องนี้เช่นกัน ทำให้แผนการของอันเดอร์ส โฟกห์ รัสมุสเซน เลขาธิการใหญ่นาโต้ชาวเดนมาร์กที่ประกาศว่า จะเพิ่มทหารอีกราว 7,000 คนเป็นอย่างน้อยภายในปีหน้าอาจไม่ประสบความสำเร็จ
ภูเขาลูกที่สอง คือ ความไม่ชัดเจนของยุทธศาสตร์ใหม่ของโอบามาที่มีการระบุว่าเพียงแค่ว่า จะเพิ่มกำลังทหารอย่างน้อย 30,000 คนและจะเริ่มถอนทหารกลับใน 18 เดือนทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกมองว่ามีแต่ “ จุดเริ่มต้น ” และ “จุดสิ้นสุด” แต่กลับปราศจากรายละเอียดของวิธีปฏิบัติที่อยู่ระหว่างทาง
จากความไม่ชัดเจนของยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความสับสนในหมู่ผู้เกี่ยวข้องในสหรัฐฯหลายครั้งเช่น การที่พลเรือเอกไมค์ มุลเลน ประธานคณะเสนาธิการร่วมออกมาระบุว่าจะยังไม่มีการส่งทหารไปอัฟกานิสถานจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของรอเบิร์ต เกตส์แห่งเพนตากอนก่อนหน้านั้นที่ว่าพร้อมจะส่งทหารชุดแรกไปยังอัฟกานิสถานภายในครึ่งแรกของปีหน้า
นอกจากนั้น ยังมีความสับสนระหว่างรอเบิร์ต เกตส์ ที่ระบุว่า กำลังพลชุดใหม่ที่จะส่งไปอัฟกานิสถานจะมีทั้งกำลังรบหลักและเจ้าหน้าที่ด้านอื่น เช่น ทีมกู้กับระเบิด ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองและเจ้าหน้าที่แพทย์ทหาร ซึ่งขัดแย้งกับคำยืนยันของพลเอก สแตนลีย์ แมคคริสทัล ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯและกองกำลังนาโต้ในอัฟกานิสถานที่บอกว่าทหารตามแผนยุทธศาสตร์ใหม่จะเป็นกำลังรบหลักที่ถูกส่งมาเพื่อเร่งเผด็จศึกตอลิบานและอัลกออิดะห์โดยเฉพาะ
และ ภูเขาลูกที่สาม คือ ความกังขาถึงศักยภาพของรัฐบาลและกองกำลังความมั่นคงอัฟกานิสถาน ในการ “ดูแลตัวเอง” หลังจากสหรัฐฯและพันธมิตรทยอยถอนตัวในอีก 18 เดือน เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีเชื้อสายปาชตุนอย่างฮามิด คาร์ไซเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางและอ่อนแอเกินกว่าจะยืนหยัดได้เพียงลำพัง หากปราศจากการหนุนหลังจากสหรัฐฯทำให้นักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่า การประคับประคองรัฐบาลอัฟกานิสถานให้ยืน “ด้วยขาของตัวเอง” ถือเป็น “งานช้าง” สำหรับรัฐบาลโอบามาที่มีความยากพอๆกับการถอนรากถอนโคนกลุ่มตอลิบานและอัลกออิดะห์
ขณะที่ประธานาธิบดีคาร์ไซ ก็เพิ่งออกมายอมรับกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อัฟกานิสถานยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหรัฐฯด้านความมั่นคงต่อไปอีก 15-20 ปีเป็นอย่างน้อยจึงจะเริ่มดูแลตัวเองได้ และยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ใดๆที่อัฟกานิสถานจะสามารถยืนหยัดได้โดยลำพังภายใน 5 ปี ตามแผนของโอบามา
นอกจากนั้น พลเรือเอกจามเปาโล ดิ เปาลา ประธานคณะกรรมาธิการทหารนาโต้ชาวอิตาลี เผยผลการประเมินล่าสุดของนาโต้ที่พบว่ากองกำลังตำรวจอัฟกันที่มีราว 68,000 นายถูกรุมเร้าด้วยปัญหาภายในหลายประการ โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่การจัดซื้อ “นกหวีด” ,“หมวก” , และ “เข็มขัด” ไปจนถึงการลอบนำอาวุธประจำกายที่ได้รับมอบจากสหรัฐฯไปขายต่อในตลาดมืดหรือแม้แต่กระทั่งนำไปขายให้กลุ่มตอลิบาน
นอกจากนั้น การประเมินของนาโต้ยังพบว่า ทหารรัฐบาลอัฟกานิสถานราว 94,000-96,000 นาย ที่ได้รับการฝึกโดยผู้เชี่ยวชาญจากเพนตากอน ส่วนใหญ่เข้ามาสมัครเป็นทหารเพื่อ“หนีความยากจนและการว่างงาน” ไม่ใช่ต้องการเข้ามาทำหน้าที่ปกป้องประเทศของตนแต่อย่างใด ขณะที่กำลังพลที่เสร็จสิ้นการฝึกแล้วกว่า 10,000 คนกลับหนีทัพหรือไม่ก็แปรพักตร์ไปเข้ากับกลุ่มตอลิบาน รวมทั้ง ยังพบทหารอัฟกันอีกราวร้อยละ 15 ที่ติดยาเสพติด ทั้งฝิ่นและเฮโรอีนอย่างงอมแงม
“ภูเขาทั้ง 3 ลูก” จึงถือเป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่งต่อยุทธศาสตร์ใหม่ล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามาที่กำลังดำเนินความพยายามครั้งสุดท้าย เพื่อแสวงหาลู่ทางในการถอนตัวจากอัฟกานิสถานอย่างสง่างามก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้าที่จะมีขึ้นในปี 2012
กำลังโหลดความคิดเห็น