xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขคนไทย ใต้แสงแห่งพระบารมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้าตุ๋ย น้อยฉ่ำ (ซ้ายมือ) และ ป้าสำรวย สุจิตรจูล (ขวามือ) ที่เดินทางมาเฝ้าในหลวงที่ ร.พ.ศิริราชเป็นประจำ
ชมตัวอย่าง "ความสุขของคนไทยใต้แสงพระบารมี"

“ 'ในหลวงเสด็จๆ ' เสียงตะโกนของประชาชน พร้อมกับเสียงฝีเท้า ที่ต่างวิ่งกรูกันเข้ามาเฝ้าในหลวง บริเวณหน้าโถงชั้นล่างอาคาร100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช ดังพึบพับๆ บางคนก้มกราบ บางคนน้ำตาไหล ตัวผมเองไม่นึกไม่ฝันว่าท่านจะเสด็จฯ จึงรีบเก็บของที่วางอยู่หน้าลานพระบรมหาชนก ให้เข้าที่เข้าทาง”

พี่บุญส่ง กรรมทมาศ พนักงานอเนกประสงค์รับผิดชอบหน่วยอาคารสถานที่ ร.พ. ศิริราช บอกเล่าความรู้สึกอันปลื้มปีติเมื่อวันที่ในหลวงเสด็จฯ โดยไม่คาดฝันในวันที่ 23 ต.ค. เพื่อถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระรูปหล่อสมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนี ซึ่งสร้างความอิ่มเอมใจแก่พสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างมาก เพราะภายหลังจากที่สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ฉบับที่1วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2552 เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและเสด็จ พระราชดำเนินมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช พสกนิกรชาวไทยต่างก็ใจจดใจจ่อเพื่อรอรับฟังข่าวของพระองค์

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ซึ่งในหลวงเสด็จลอยพระประทีปที่ท่าน้ำศิริราช ที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่เฝ้ารอรับเสด็จเพื่อชื่นชมพระบารมี ซึ่งภาพนั้นยังคงตราตรึงและอยู่ในใจของเขาตลอดมา

ปัจจุบัน พี่บุญส่งทำหน้าที่คอยดูแลความสะอาดและคอยให้บริการประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยเมื่อก้านธูปปักเต็มกระถางทองเหลือง พี่บุญส่งจะหยิบก้านธูปออก และนำก้านธูปไปจุ่มน้ำในถังที่วางไว้ จากนั้นจะเอาก้านธูปที่ไม่มีเชื้อไฟใส่ในถุงดำที่เตรียมไว้

ด้วยการทำงานที่ยาวนานถึง 16 ปี พนักงานผู้นี้จึงได้ทำงานรับใช้ในพระบรมวงศานุวงศ์มาอย่างต่อเนื่อง สมัยที่สมเด็จย่าทรงพระประชวรแล้วมารักษาตัวที่ร.พ.ศิริราชด้วย โดยพี่บุญส่งจะเป็นผู้ปูลาดพระบาทให้สมเด็จย่าทุกวัน และก่อนที่ในหลวงจะเสด็จมาประทับที่ร.พ. ศิริราช เขาก็เป็นผู้ทำความสะอาด เช็ดกระจกห้องบรรทมของในหลวง ที่ชั้น 16 ห้องในสุด เมื่อทำความสะอาดเสร็จพี่บุญส่งจะกราบที่เตียงของในหลวงก่อนที่จะออกจากห้องดังกล่าวมา

แม้ว่าการทำหน้าที่ของเขาโดยปกติจะเริ่มต้นที่เวลา 06.00 - 14.00 น.และได้หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ แต่พี่บุญส่งกลับไม่เคยหยุดทำงานสักวัน ยิ่งในหลวงทรงประทับอยู่ พี่บุญส่งบอกว่ายิ่งต้องอยู่ทำงานทุกวัน และจากเวลาที่เลิกปกติคือ 14.00 น. ก็จะกินเวลาไปถึง 20.00 น.

“ที่ผมทำงานล่วงเวลาก็เพราะอยากทำ เห็นพี่น้องประชาชนเดินทางมาเยอะทุกวันก็ยิ่งต้องอำนวยความสะดวกมากขึ้น งานที่ทำทุกวันนี้ มันทำให้ผมปลื้มปีติมาก คุณคิดดูคนรวยๆ ที่มีฐานะเขามาช่วยผมทำความสะอาด ช่วยกวาดพื้น สังคมทุกวันนี้ยังมีคนที่มีน้ำใจ มีจิตใจดี ผมมีอะไรก็แบ่งให้คนที่มาเฝ้าได้กินกัน มันมีความสุข ผมจะสอนลูกเสมอว่าให้รักในหลวง เพราะในหลวงเป็นผู้มีพระคุณ วันนี้ได้ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทก็ถือเป็นบุญแก่ครอบครัว พวงมาลัยที่ในหลวงถวายสักการะพระบรมราชชนก ผมก็เก็บเอาไว้มาบูชาที่บ้าน ทุกวันนี้ผมก็นำพระราชดำรัสเรื่องความอยู่อย่างพอเพียงมาใช้ ก็ให้มีเงินเก็บ มีเงินเลี้ยงครอบครัว มีบ้านของตัวเองจากที่ชีวิตนี้ไม่เคยมีอะไรเป็นของตัวเอง” พี่บุญส่ง พูดพร้อมกับยิ้มอย่างภาคภูมิใจ

เช่นเดียวกับ “ป้าตุ๋ย น้อยฉ่ำ” วัย 64 ปี วันนี้ป้าสวมเสื้อสีชมพู พร้อมกลัดเข็มกลัดพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงเด่นเป็นสง่า ป้าตุ๋ยนั่งในท่าพับเพียบ ด้านหน้ามีตระกร้าเล็กๆ อยู่หนึ่งใบที่บรรจุพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงอยู่หลายใบ หลายพระราชอิริยาบถ

ป้าตุ๋ย เดินทางมาเฝ้าในหลวงตั้งแต่วันแรกที่ในหลวงทรงเข้าโรงพยาบาล และเกาะติดสถานการณ์อย่างเหนียวแน่น

“ป้ารู้ข่าวจากเพื่อนโทร.มาบอกว่าในหลวงไม่สบาย ทรงเข้าโรงพยาบาล วันที่ 15 ก.ย.พระองค์ก็มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้อยู่ร.พ.นาน จนมาวันที่ 19 ก.ย.ถึงเสด็จฯ มารักษาพระองค์เป็นเวลานานจนมาถึงทุกวันนี้ ป้ามาเฝ้าที่ร.พ. ก็ 70 กว่าวันได้แล้ว ตอนแรกที่ป้ารู้ข่าวก็ตกใจมาก แบบจะเป็นลมเลย แต่พอมาถึงทุกวันนี้พระองค์มีพระอาการดีขึ้น ป้าก็สบายใจขึ้น”

ปัจจุบันป้าตุ๋ย มีภาระงานอย่างเดียวคือดูแลหลานไม่ต้องทำงานอะไรมาก พอส่งหลานไปโรงเรียนแล้ว ป้าก็จะมานั่งประจำที่ลานพระบรมราชชนก โดยจะหันหน้าเข้าอาคารเฉลิมพระเกียรติที่ในหลวงทรงประทับอยู่ และบางคราวก็แหงนหน้ามองไปที่ชั้น 16 บ้าง เผื่อว่าในหลวงทรงปรากฏพระพักตร์ให้เห็น เมื่อมาทุกๆ วันป้าตุ๋ยจึงเป็นเสมือนผู้กระจายข่าวสารใก้กับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เดินทางมาทุกวัน บางทีก็จะมีเพื่อนโทร.มาบอกว่าให้จองที่นั่งบนผืนผ้าใบไว้ให้ด้วย

ป้าตุ๋ยเล่าว่า เวลาเดินเข้ามาป้าจะกินข้าวให้แล้วเสร็จ และก็จะหิ้วข้าวกล่องมาด้วย บางวันก็มีเพื่อนๆ เอาข้าว เอาขนมมาให้กิน มีอะไรก็แบ่งกันกิน กิจวัตรประจำวันนอกจากจะนั่งเฝ้าในหลวงแล้ว บางทีป้าตุ๋ยก็จะหยิบหนังสือสวดมนตร์ขึ้นมาสวด โดยบทที่สวดบ่อยที่สุดคือ บทโพชณังคะปะริตตัง เพื่อขอให้ในหลวงทรงหายขาดจากพระอาการประชวร

ทั้งนี้ วันที่ 23 ต.ค.ที่ในหลวงทรงเสด็จฯ ลงมาบริเวณลาน 100 ปี ป้าตุ๋ยบอกว่าตนไม่ได้อยู่ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง แต่เพื่อนๆ ที่ได้เห็นพระองค์ก็ต่างเล่าให้ฟังอย่างดีอกดีใจว่า เป็นบุญอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ หลายคนต่างน้ำตาไหล ความรู้สึกปลื้มปีติยินดีพรั่งพรูอยู่ในใจและยังคงตราตรึงอยู่อย่างนี้ตลอดไป

ด้าน “ป้าสำรวย สุจิตรจูล” วัย 62 ปี ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มาเข้าเฝ้าฯ ในหลวงที่รพ.ศิริราช เล่าเรื่องราวสมัยที่ตนยังสาวให้ฟังว่า เคยเห็นในหลวงในงานทอดกฐินที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม

“ป้าอยากเข้าไปใกล้ๆ พระองค์มาก แต่ทหารก็กันเอาไว้ ป้าไม่มีอะไรจะให้ในหลวง แต่รู้ตัวว่าอยากจะให้ ก็เลยควักเงินในกระเป่าออกมา 100 บาทและบอกกับทหารที่ตามเสด็จฯ ว่าอยากจะถวายเงิน แต่ป้าก็หมดหวังเมื่อทหารบอกว่า พระองค์เดินไปไกลมากแล้วจะหันกลับมาก็คงลำบาก แต่เหมือนว่าในหลวงทรงมีหูทิพย์ ท่านหันมาทางป้า และป้าก็ได้ถวายเงิน 100 บาทแก่ท่าน ตอนนั้นป้าตัวสั่นไปหมดเลย ขนลุกด้วย แต่หนูเอ๋ย พระองค์ทรงสง่างาม ผิวเหลืองอร่าม พระพักตร์มีแต่ความเมตตา ป้าน้ำตาซึมเลย ความทุกข์ทั้งหมดที่มีก็ผ่อนคลายไปด้วย คือตอนนั้นป้ามีความทุกข์เรื่องน้องชาย น้องชายป้าถูกยิงตายด้วยความเข้าใจผิด ป้าก็เกิดความเคียดแค้นอยากจะเอาคืน แต่พอเห็นในหลวงความคิดก็ป้าไม่มีความแค้นที่สั่งสมก็ค่อยๆ หายไป ในใจคิดแต่เรื่องอยากทำความดี และท้ายสุดป้าก็อโหสิกรรมให้เขาไป”

ความปลื้มปีติของประชาชนคนไทยยังไม่หมดแค่นี้ ป้าจรัสวรรณ ธีรธรรม ที่มาร่วมวงสนทนาด้วย บอกว่า ในสมัยเด็กอายุ 10 กว่าปี แม่เคยพาไปวัดพระแก้ว ในสมัยนั้นเขาจะเอาผ้าเช็ดหน้าที่พกมากับตัว วางบนพื้นดินเพื่อให้ในหลวงทรงประทับรอยพระบาท และเก็บเอามาเข้ากรอบบูชาที่บ้าน ทุกวันนี้ที่บ้านก็ยังคงเก็บรักษาเอาไว้ แต่ในยุคนี้ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

บรรดาป้าๆ ที่มานั่งร่วมสนทนากันต่างบอกว่า ในหลวงเป็นที่เทอดทูนของพสกนิกรชาวไทย พระองค์ทำเพื่อประชาชนมากมายหลายเรื่อง แต่เรามานั่งเฝ้าพระองค์เท่านี้ถือเป็นเรื่องนิดเดียว ด้อยกว่าผงธุลีดินเสียอีก พระองค์เป็นผู้ให้ และไม่เลือกว่าเราจะใคร ทรงมีพระเมตตากับทุกคน ทรงเป็นกำลังใจให้ทุกคน หากทำได้อยากทอนชีวิตที่มีลมหายใจอยู่ให้กับในหลวง เพื่อให้ในหลวงอยู่คู่บ้านคู่เมืองของเราอย่างนี้ตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น