xs
xsm
sm
md
lg

ถอดยศทักษิณ : ความศักดิ์สิทธิ์แห่งกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“มียศ เสื่อมยศ มีลาภ เสื่อมลาภ สรรเสริญ ติเตียน สุข ทุกข์” นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า โลกธรรม และที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ เนื่องจากมีอรรถาธิบายว่า โลกคือหมู่สัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ประเสริฐอันได้แก่มนุษย์ จะต้องหมุนตามธรรมะ 8 ประการที่ว่านี้ กล่าวคือ เมื่อมียศ ก็มีโอกาสจะเสื่อมผม ในทำนองเดียวกับเมื่อมีลาภก็มีโอกาสเสื่อมลาภ เมื่อมีคนสรรเสริญ ในขณะเดียวกันก็มีคนนินทา และสุดท้าย เมื่อมีความสุขก็มีโอกาสเกิดทุกข์ตามมา ทั้งนี้ด้วยเหตุว่าทุกอย่างตกอยู่ภายใต้กฎอนิจจตา หรือกฎแห่งความไม่เที่ยงนั่นเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดตัวอย่างหนึ่งในขณะนี้ ก็คือ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบคำถามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ถามไป การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินจำคุก 2 ปีในคดีซื้อที่ดินรัชดาฯ ว่าสามารถกระทำได้ ที่ผ่านมาสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

1. อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษให้จำคุก 2 ปีในคดีซื้อที่ดินรัชดาฯ แต่จำเลยได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จึงเท่ากับติดคุกแต่ในนาม และจะติดคุกจริงก็ต่อเมื่อเจ้าตัวยอมเดินทางมารับโทษ หรือไม่ก็มีการจับตัวจากเจ้าของประเทศที่จำเลยไปอาศัยอยู่

2. เมื่อข้าราชการตำรวจกระทำผิด และได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกหรือมากกว่าจำคุก ยกเว้นความผิดลหุโทษหรือความผิดที่กระทำไปด้วยความประมาท ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะถูกดำเนินการถอดยศตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และเมื่อถูกถอดยศก็จะถูกริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งได้รับพระราชทานชั้นยศนั้นๆ ด้วย

3. ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สอบถามเรื่องการถอดยศของอดีตนายกฯ ทักษิณ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากระทำได้หรือไม่ (ผู้เขียนเข้าใจว่าที่ต้องถามก็เนื่องจากว่าการตัดสินจำคุกอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นไปตามกระบวนการของศาลพิเศษ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอีกประการหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ลาออกจากราชการตำรวจมาแล้ว) และได้รับคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากระทำได้ จึงได้ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับการถอดยศอดีตนายกฯ ทักษิณ ในครั้งนี้

เมื่อการถอดยศอดีตนายกฯ ทักษิณสามารถกระทำได้ตามคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อจากนี้ก็เป็นกระบวนการและขั้นตอนปกติในส่วนราชการตำรวจที่จะต้องดำเนินการถอดยศ รวมทั้งกระบวนการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

จากประเด็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องปกติภายใต้ความรับผิดชอบของส่วนราชการตำรวจ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปทางกลุ่มเสื้อแดงอันเป็นเสมือนกองกำลังส่วนหน้า และพรรคเพื่อไทยอันเป็นเสมือนกองกำลังส่วนหลังของอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ได้ออกมาแสดงบทโต้แย้งกระบวนการถอดยศ และริบคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างดุเดือดและรุนแรง ทั้งในส่วนของการออกมาตีความทางกฎหมายว่า กระทำไม่ได้ และในทางการเมืองโดยการขู่ว่าจะนำกองกำลังออกมาตอบโต้ในลักษณะจะก่อกวนให้เกิดความรุนแรง และทั้งหมดที่กองกำลังของอดีตนายกฯ ทักษิณออกมาแสดง

ถ้าพิจารณาจากสายตาของสื่อที่ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง และยึดกฎหมายเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าการออกมาแสดงในลักษณะนี้มิได้ช่วยให้สถานะทางสังคมของอดีตนายกฯ ทักษิณโดดเด่นขึ้นมาในสายตาของชาวโลกที่อยู่ในสังคมที่เจริญแล้วแต่อย่างใด ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้อดีตผู้นำของไทยตกต่ำมากขึ้น นอกเหนือไปจากคนทำผิดไม่ยอมรับผิดแล้ว ยังใช้กำลังคนกำลังเงินก่อกวนประเทศอันเป็นแผ่นดินเกิดของตนเองให้ย่ำแย่ลงไป ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง

และที่หนักที่สุดคือ ทางด้านจริยธรรม ที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยควรจะมี และควรจะเป็น โดยดูแบบอย่างจากประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ถึงกับต้องไปเปรียบเทียบกับประเทศยุโรป และอเมริกา เอาแค่ประเทศที่เจริญแล้วในเอเชีย เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น เพียงแค่ตกเป็นจำเลยทางสังคมในคดีทุจริตบางคนถึงกับฆ่าตัวตายดังที่เกิดขึ้นกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ และประธานาธิบดีเกาหลีที่กระโดดภูเขาตาย ด้วยตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตของคนในครอบครัว

ถ้ากระบวนการถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอดีตนายกฯ ทักษิณเกิดขึ้น ในวันนั้นจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองดังที่กลุ่มคนซึ่งหนุนอดีตนายกฯ ทักษิณได้ประกาศไว้หรือไม่ เพราะเหตุใด?

ก่อนที่จะตอบปัญหาประเด็นนี้ ใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านมองย้อนไปดูกิจกรรมที่กลุ่มคนเสื้อแดงดำเนินการเพื่ออดีตนายกฯ ทักษิณมาตลอด ก็จะพบว่ามีความรุนแรงอยู่ครั้งเดียวคือ 8-13 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา แต่ทางรัฐบาลก็แก้ไขได้ และหลังจากนั้นแม้ว่ามีการปลุกระดมกันมาหลายครั้ง แต่ก็ได้แค่ขึ้นเวทีด่าใครต่อใครที่คนกลุ่มนี้คิดว่าเป็นเหตุให้ทักษิณต้องระเหเร่ร่อนไปนอกประเทศ แล้วจบลงด้วยการกลับไปบ้านเพื่อรอการปลุกระดมครั้งต่อไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากกว่านี้

ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันเชื่อ ได้ว่าเหมือนเดิม และอาจน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยทางตรรกะดังต่อไปนี้

1. การถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นกระบวนการทางกฎหมายปกติที่ทางส่วนราชการดำเนินการ ไม่น่าจะนำมาเป็นเหตุอ้างจูงใจใครได้มากกว่าเสื้อแดงที่เคยมาอยู่แล้ว

2. การมาชุมนุมและจบลงเพียงระยะเวลาอันสั้น จะทำให้คนเสื้อแดงปฏิเสธการมา

3. ฝ่ายรัฐบาลก็ได้เรียนรู้วิธีการควบคุมกลุ่มคนเสื้อแดงได้ค่อนข้างจะรัดกุม และมีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้นักสู้เพื่อผลประโยชน์กลุ่มนี้ทำได้แค่กิจกรรมเบิกจ่ายเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น