xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน:การแข่งขันทางการค้า : เครื่องมือที่ถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโยบายจัดการเรื่องการค้าปลีกที่ดี ต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะทำให้สินค้ามีราคาต่ำ ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ และในขณะเดียวกัน ยังช่วยพัฒนาร้านโชวห่วยให้อยู่รอดได้ด้วย ซึ่งมาตรการสำคัญที่ควรมีเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจค้าปลีก ประกอบด้วย

1) ให้ประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ : ระบบประชามติตามทฤษฎี Public Choice ในวิชาเศรษฐศาสตร์การคลังนั้น การตัดสินใจควรเป็นของผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั้งหมดในสังคม ดังนั้น ผมจึงเสนอว่า ปัญหาเรื่องการอนุญาตให้จัดตั้งหรือไม่ให้จัดตั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในแต่ละพื้นที่ ควรแก้ไขโดยการทำประชามติในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่า ต้องการให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาตั้งในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่หรือไม่

2) จัดการกับกลยุทธ์ของการค้าที่ทำลายคู่แข่งของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ แม้ว่ารัฐบาลไม่ควรเข้าไปควบคุมห้างค้าปลีกขนาดใหญ่โดยตรง แต่รัฐควรจัดการกับกลยุทธ์ทางการค้าที่ทำลายการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยเฉพาะกลยุทธ์ Loss leading ซึ่งเป็นการลดราคาสินค้าบางชนิดให้ต่ำกว่าต้นทุน โดยห้างค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถทำเช่นนี้ได้ด้วยการชดเชยด้วยกำไรจากการขายสินค้าอื่น และการให้ผู้ผลิตเข้าร่วมโครงการลดราคาโดยการแบกรับภาระต้นทุนส่วนหนึ่งด้วย กลยุทธ์การค้าเช่นนี้ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จะทำให้ร้านโชวห่วยตายลงไปในที่สุด

หากกระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าภายใน)มีความตั้งใจจะจัดการกับกลยุทธ์ทางการค้าของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ จำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อทำให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ เนื่องจากเนื้อหาใน พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้ายังไม่ได้ครอบคลุมถึงกลยุทธ์การค้าที่ไม่เป็นธรรมของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

3) พัฒนาโชวห่วยให้แข่งขันได้ โดยมีแนวทางหลัก 2 ประการคือ การพัฒนาระบบแฟรนไชส์ของร้านโชวห่วย การที่ร้านโชวห่วยจะแข่งกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน วิธีการที่เร็วที่สุดในการพัฒนาประสิทธิภาพ คือการพัฒนาระบบแฟรนไชส์ของโชวห่วย ที่มีลักษณะคล้ายกับเครือข่ายของร้านสะดวกซื้อ ระบบแฟรนไชส์จะทำให้เกิดประโยชน์สองประการ คือเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตและผู้ค้าส่ง และสามารถได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการจัดการจากเจ้าของแฟรนไชส์ด้วย

ดังนั้น ก.พาณิชย์ ควรมีการปรับปรุงนิยามของธุรกิจ ที่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งตามมาตรา 20 (3) ของร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโชวห่วยที่ต้องการปรับปรุงร้านของตนเอง สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกของระบบแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่ภาครัฐต้องการสนับสนุน หรือระบบแฟรนไชส์ที่คิดค่าตอบแทนในราคาถูก โดยไม่ต้องขออนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด

การหาช่องว่างการตลาดของร้านโชวห่วย ร้านโชวห่วยที่ยังคงอยู่รอดได้ เพราะมีจุดเด่นเฉพาะตัว หรือสามารถหาช่องว่างทางการตลาดได้ เช่น ความยืดหยุ่นในการซื้อสินค้า การเป็นที่พบปะของคนในชุมชน การขายสินค้าเฉพาะอย่างที่ร้านค้าสมัยใหม่ไม่มี การส่งสินค้าถึงบ้าน เป็นต้น การหาช่องว่างทางการตลาดจะทำให้โชวห่วยสามารถอยู่รอดได้ แม้ในภาวะที่มีการบุกรุกของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่

ปัญหาธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ไม่อาจถูกแก้ไขอย่างสมบูรณ์ ด้วยการออกกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และมีผลได้ผลเสียที่ต้องพิจารณารอบด้าน การแก้ปัญหาอาจเป็นไปได้ยาก หากมอบอำนาจการตัดสินใจให้คณะกรรมการที่มีภาคราชการเป็นส่วนใหญ่ การให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสินใจและแก้ปัญหาเอง น่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่สามารถรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไว้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น