แม้สถานการณ์ด้านการส่งออกของไทย จะยังประสบปัญหากับการถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ผลกระทบดังกล่าว มิใช่เกิดเฉพาะธุรกิจที่ทำธุรกิจส่งออก แต่ได้ลุกลามไปถึงการเข้ามาตั้งฐานการผลิต การเพิ่มกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อ่อนแรงลงตามภาวะตลาด
ซึ่ง “ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม” มีทั้งรูปแบบการขายที่ดินเปล่า การพัฒนาที่ดินและสร้างโรงงานมาตรฐานสำเร็จรูปในนิคมอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เช่า เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมในไทย ที่ถูกท้าทายและรอโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาช่วยพลิกฟื้นให้ตลาดนิคมฯกลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่ง
แต่สำหรับบริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ TFD กลับมองเห็นโอกาสในการกระจายความเสี่ยง ปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมในการรุกก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และเป้าหมายทางนโยบายธุรกิจจากนี้ คือ พยายามเติบโตของยอดขายและสินทรัพย์ ควบคู่ไปกับการเพิ่มกระแสเงินสดให้มากยิ่งขึ้น
รุกคืบอสังหาฯ เพิ่มกระแสเงินสด
นายกัมพล ติยะรัตน์ กรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารบริษัทฯ กล่าวว่า เราคงหันมาให้น้ำหนักกับการพัฒนา โครงการอสังหาริมทรัพย์และลงทุนอาคารสำนักงานให้เช่าเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของโครงการเพื่อที่อยู่อาศัยในเบื้องต้นจะมี 2 โครงการ มูลค่าขายประมาณ 4,600-4,700 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการมหาดเล็กหลวง ถนนราชดำริ เป็นการเช่าสิทธิที่ดินแปลงหนึ่งจากสำนักงานพระคลังข้างที่ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขออนุญาตจากเจ้าที่ดินเพื่อดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มกลางปี 53 เพื่อก่อสร้างที่พักอาศัยสูง 30 ชั้น มูลค่าขาย 1,400 ล้านบาท ทั้งนี้ จะเริ่มพรีเซลปลายปีนี้
โครงการที่ 2 ได้ลงทุนซื้อโครงการหัวหิน เฮอริเทจ จากบริษัท ปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท จำกัด (เคยเข้าไปบริหารอาคาร14 ชั้น โครงการเคหะดินแดง 5 ของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 270 ห้อง ตั้งแต่ปี 45-51 ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเมื่อเดือนธ.ค.51 เพื่อพัฒนาเป็นอาคารชุดพักอาศัยเพื่อขายให้แก่ลูกค้ารายย่อย เนื่องจากมีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทปริ๊นส์ตั้นฯ ทำให้ต้องโอนที่ดินซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขาเต่า อ.ปารณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่กว่า 9 ไร่ให้แก่บริษัทแม่ ทั้งโครงการหัวหิน เฮอริเทจ มีมูลค่าการขายประมาณ 3,200 ล้านบาท และถือเป็นโครงการที่อยู่ใกล้เขตพระราชฐาน แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นอาคารชุดพักอาศัยบนเนื้อที่ 8-0-23.4 ไร่ โครงการได้รับอนุญาตผลการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว(EIA) โดยแบ่งการก่อสร้างเป็นอาคารชุดพักอาศัย 28 ชั้น 2 อาคาร( อาคา A,B) โดยจะเริ่มขายอาคาร B และส่วนที่สองเป็นรูปแบบทาวน์โฮม 3 ชั้น จำนวน 6 หน่วย อยู่ใกล้กับทะเลทั้งนี้ ทางโครงการได้ลงทุนกว่า 60 ล้านบาท สร้างคลับเฮ้าส์ไว้รองรับลูกค้าในโครงการ
" ทั้งโครงการที่มหาดเล็กหลวงและโครงการที่หัวหิน แหล่งเงินที่มาลงทุนส่วนหนึ่งมาจากรายได้โครงการ59 เฮอริเทจ ที่ทยอยรับรู้รายได้จากการขายตั้งแต่ปี 51 ต่อเนื่องถึงปี 52 จำนวน 255 ล้านบาท และ 700 ล้านบาทตามลำดับ "
ดึงทุนสิงคโปร์ซื้ออสังหาฯ ปล่อยเช่า
นายกัมพลยังกล่าวว่า ธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นอีกโครงการที่ทางบริษัทฯให้ความสนใจ โดยได้ร่วมทุนกับบริษัท Schubert Holdings Pte., Ltd. จากประเทศสิงคโปร์เข้าลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท เอส จี แลนด์ กับธนาคารไทยพาณิชย์ฯในสัดส่วน 49.89% ของทุนจดทะเบียน และได้รับเงินกู้จากธนาคารฯมาปรับโครงสร้างทางการเงินอีก 450 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการขยายฐานอาคารสำนักงานให้เช่าใจกลางซีบีดี ตลอดจนผลประโยชน์เพิ่มที่จะมีต่อโครงการของบริษัทในซอยมหาดเล็กหลวง 2 เนื่องจากพื้นที่ดินของโครงการอยู่ติดกับที่ดินของบริษัท เอสจี แลนด์ จำกัด ทั้งนี้ เอสจีแลนด์ เป็นเจ้าของอาคาร อาคารเอส จี ทาวเวอร์ 1 และ อาคารเดอะมิลเลนเนีย (เอส จี ทาวเวอร์ 2) มูลค่าตึกทั้งสองแห่งประมาณ 900 ล้านบาท
ธุรกิจหลัก'นิคมอุตฯ'ยังไม่ตก
ถึงแม้บริษัทฯจะมาเน้นโครงการอสังหาฯมากขึ้น แต่ธุรกิจหลัก คือ นิคมอุตสาหกรรมยังคงเป็นหลักในสร้างได้ ซึ่งมีสัดส่วน 70% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตาม เราก็ยอมรับว่าตลาดนิคมฯในช่วงนี้ ไม่ค่อยเวิร์ค ไม่ค่อยโอเค โรงงานต่างๆใช้กำลังการผลิตแค่ 40-50% เท่านั้น ดังนั้น จากการสังเกตและติดตามลูกค้าที่เช่าโรงงานสำเร็จรูปของบริษัทฯ ถ้าใช้กำลังการผลิตไม่เกิน 75% ของกำลังการผลิต ก็ยังไม่คิดจะลงทุนขยายโรงงานต่อ
แต่โดยภาพรวมแล้ว ในแต่ละนิคมฯที่ดูแลอยู่ ก็ยังมีลูกค้าเข้ามาดำเนินกิจการในโครงการ เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมที เอฟ ดี เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ (ในระยะแรก) มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,800 ล้านบาท และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ให้ครบ 500 ไร่
ขณะที่ บริษัทโทเทิล อินดัสเตรียล เซอร์วิสเซล จำกัด (TISCOM) ที่บริษัทลงทุนผ่านบริษัทย่อยด้วยเงินลงทุน 100 ล้านบาท ถือหุ้น 51% จะเน้นขยายการลงทุนประเภทโรงงานสำเร็จรูปขนาดเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการเช่าที่ดินและเช่าโรงงานสำเร็จรูปจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)บริเวณท่าเทียบเรือแหลมฉะบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกอบด้วยพื้นที่ 40 ไร่ ในเขตส่งออก มีโรงงาน 23 หลังเพื่อให้เช่า ปัจจุบันคงเหลือ 3 โรงงาน ส่วนโครงการคลังสินค้ากิ่งแก้ว ย่านถนนกิ่งแก้ว-ลาดกระบัง มีอาคารคลังสินค้า 17 หลัง ก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ปัจจุบันมีผู้เช่าคลังสินค้าแล้ว 10 หลัง คงเหลือ 7 หลัง ทั้งสองนิคมฯ จะสามารถสร้างรายได้ปีนี้ 42 ล้านบาทเท่ากับปี 51