xs
xsm
sm
md
lg

6 เดือนเปิดใช้รถไฟไทย-ลาวไม่คุ้มค่า เอกชนจี้เพิ่มขบวนขนสินค้า/เชื่อมต่อถึงจีนตอนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

6 เดือนหลังเปิดใช้เส้นทางรถไฟไทย-ลาว ไม่คุ้มค่ามีประชาชนมาใช้บริการเบาบาง เฉลี่ยขบวนละประมาณ 20 คน
หนองคาย-เชื่อมทางรถไฟข้ามประเทศไทย-สปป.ลาว ไม่คุ้มค่า ระบุ 6 เดือนแรกหลังเปิดใช้ มีผู้โดยสารคึกคักแค่ช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้นมีผู้โดยสารเฉลี่ยแค่ 20 คนต่อขบวน ภาคเอกชนแนะ พัฒนาให้สมบูรณ์แบบเชื่อมต่อเส้นทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์และจีนตอนใต้ พร้อมเพิ่มขบวนขนส่งสินค้า มั่นใจดันไทยเป็นฮับด้านการขนส่งระบบรางในภูมิภาคอาเซียน


หลังจากที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการเดินขบวนรถไฟเป็นปฐมฤกษ์ระหว่างประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 และได้เปิดรถไฟเที่ยวพิเศษในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ให้แก่ประชาชนที่ซื้อตั๋วโดยสารที่ระลึก แต่ยังไม่มีการเปิดให้บริการเดินรถ เนื่องจากทั้งไทยและลาวยังไม่ได้เซ็นสัญญาการเดินรถร่วมกัน

ทำให้ไม่มีกฎหมายการเดินรถไฟระหว่างประเทศที่จะมีผลใช้บังคับในการปฏิบัติหน้าที่ของการรถไฟทั้งไทยและลาว กระทั่งวันที่ 8 มีนาคม 2552 ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยและหัวหน้าองค์การรถไฟลาว ได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการเดินรถไฟร่วมกันแล้ว ทำให้สามารถให้บริการรถไฟได้ตามปกติ

ในช่วงแรกที่มีการเดินรถ มีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องการนั่งรถไฟสายประวัติศาสตร์ ไทย – ลาว ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งถือเป็นการนั่งรถไฟข้ามประเทศระหว่างไทย-ลาวเป็นแห่งแรก แต่ขณะนี้กระแสความนิยมเริ่มลดน้อยลง จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟน้อยมาก เฉลี่ยเที่ยวละ 20 –30 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และชาวลาว เป็นต้น ส่วนที่เป็นคนไทยที่มาใช้บริการ ส่วนใหญ่ต้องการทดลองนั่งรถไฟข้ามประเทศเท่านั้น

เอกชนแนะเชื่อมเส้นทางถึงจีนตอนใต้

นายกำภล เมืองโคตร นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปัญหาที่พบในช่วงแรกคือการกรอกเอกสารผ่านแดน ทั้งเกี่ยวข้องกับด่านตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากร ทำให้ต้องเสียเวลาในการดำเนินการเล็กน้อย ซึ่งผู้โดยสารที่จะเดินทางข้ามประเทศจะต้องทำเอกสารผ่านแดนชั่วคราว หรือต้องมีพาสปอร์ตทุกคนตามกฎหมายการเข้าเมือง เช่นเดียวกับการเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย – ลาว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้รถไฟไทย-ลาว ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายสูงกว่าเดินทางโดยทางรถยนต์ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และยังไม่มีระบบคมนาคมที่มาเชื่อมต่อ ต้องจ้างเหมารถทั้งมีค่าจ้างเหมาสูงกว่าปกติ ไม่ว่าจะไปที่ร้านค้าปลอดภาษี หรือไปในนครหลวงเวียงจันทน์ ต่างจากผู้ต้องการไปร้านค้าปลอดภาษี ที่ข้ามโดยรถยนต์ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั้น เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการข้ามโดยทางรถไฟมาก

ปัจจุบันผู้ที่หันมาใช้บริการรถไฟไทย-ลาว เป็นพ่อค้า-แม่ค้าชาวลาว ที่มีการข้ามมาซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นผลไม้และอาหารสด เนื่องจากมีความสะดวกทั้งแหล่งซื้อ และสะดวกในการนำข้ามโดยทางรถไฟ เพราะร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าดังกล่าว ได้ย้ายมาตั้งบริเวณถนนสายที่จะไปด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งอยู่ปากทางเข้าสถานีรถไฟ ไม่มาก

รถไฟไทย-ลาวที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่สมบูรณ์แบบ ใช้ประโยชน์ในด้านใดก็ไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีอะไรมารับช่วงต่อ หากจะให้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นั้น น่าจะเป็นการขนส่งสินค้า เนื่องจากบริเวณท่านาแล้ง เมืองหาดทรายฟอง สปป.ลาว มีโกดังเก็บสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการเชื่อมต่อกับการขนส่งทางรถไฟ หากส่งสินค้ามาทางรถไฟแล้ว ต้องหารถยนต์มาขนต่อไปยังโกดังอีก ทำให้ต้องมีการขนสินค้าขึ้นลงหลายครั้ง ต่างจากการขนสินค้าทางรถยนต์ สามารถนำสินค้าไปส่งถึงโกดัง

แนวทางแก้ไข ต้องมีการทำโกดังเก็บสินค้าภายในบริเวณเดียวกันกับสถานีรถไฟท่านาแล้ง และหากจะมีการใช้การขนส่งหรือการท่องเที่ยวทางรถไฟ ต้องมีการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ต่อไปยังจีนตอนใต้ได้ จะมีความสมบูรณ์มาก น่าจะทำให้มีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์จากรถไฟไทย-ลาว เพิ่มขึ้น

หอการค้าหนองคายแนะเพิ่มขบวนขนส่งสินค้า

ด้านนายมงคล ศิโรรัตนรังษี กรรมการหอการค้าจังหวัดหนองคาย และผู้ประกอบการค้าชายแดน กล่าวว่า รถไฟไทย-ลาวนั้น จะส่งผลดีมากในระบบลอจิสติกส์ ซึ่งสปป.ลาวยังไม่มี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบลอจิสติกส์ที่จะไปสู่อาเซียน โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ เป็นนิมิตหมายที่ดีมาก อนาคตประเทศไทยจะได้เป็นฮับในการกระจายสินค้าสู่อาเซียน ซึ่งจะต้องแข่งขันกัน

ทั้งนี้ หากมีการให้บริการเต็มรูปแบบ เชื่อว่าการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการจะหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟมากขึ้น แต่ปริมาณอาจไม่มากเท่าขนส่งทางรถยนต์ ในอนาคตหากมีการเพิ่มขบวนขนส่งสินค้า จะทำให้ต้นทุนสินค้าจากประเทศไทยไปประเทศในกลุ่มอาเซียนลดลงด้วย ซึ่งจะได้ประโยชน์อย่างสูง ซึ่งมองว่าขณะนี้ยังไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่รัฐจ่ายไป

เปิดปูมรถไฟไทย-ลาว

สำหรับรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2540 รัฐบาลไทยและรัฐบาลสปป.ลาว ได้ร่วมลงนามสัญญาว่าด้วยการเดินรถไฟร่วมกัน เพื่อให้มีการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างสองประเทศ และให้การรถไฟของทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนดจำนวนขบวนรถโดยสารและตารางการเดินรถ ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือรัฐบาล สปป.ลาว ในการก่อสร้างทางรถไฟจากช่วงกึ่งกลางสะพานมิตรภาพไทย- ลาว ถึงสถานีท่านาแล้ง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ในวงเงิน 197 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าร้อยละ 30 และเงินกู้ผ่อนปรนแบบมีเงื่อนไขร้อยละ 70 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ในระหว่างการประชุมร่วมรัฐมนตรีไทย – ลาว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 เนื่องจากกฎระเบียบในสัญญาฉบับเดิมล้าสมัย ทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดทำสัญญาฉบับใหม่และได้ลงนามการตกลงว่าด้วยการเดินรถไฟร่วมกันในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2551

การเดินรถไฟระหว่างประเทศทั้งสองนี้จะเป็นการพัฒนาการขนส่งระบบราง และศักยภาพการขนส่งในอนาคต ทั้งด้านผู้โดยสารและสินค้า รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายระบบการขนส่งในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ขบวนรถไฟที่ให้บริการในแต่ละวันขณะนี้ มีจำนวน 2 เที่ยว หรือ 4 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ ประ กอบด้วย ตู้ชั้น 2 ปรับอากาศ ตู้ชั้น 2 พัดลม และตู้ชั้น 3 ออกจากสถานีหนองคาย ไปสถานีท่านาแล้ง เวลา 10.00 น. ออกจากสถานีท่านาแล้ง กลับมาสถานีหนองคาย 10.45 น. และเที่ยวที่ 2 ออกจากสถานีหนองคาย ไปสถานีท่านาแล้ง เวลา 16.00 น. แล้วออกจากสถานีท่านาแล้ง กลับมาสถานีหนองคาย เวลา 17.00 น. สำหรับอัตราค่าโดยสารชั้น 2 ปรับเอนได้ ปรับอากาศ 50 บาท ชั้น 2 ปรับเอนได้ พัดลม 30 บาท และชั้น 3 ราคา 20 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น