xs
xsm
sm
md
lg

ความอยากของ พล.อ.ชวลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมการการเมือง”
โดย พาณิชย์ ภูมิพระราม


นักเศรษฐศาสตร์จาก 14 องค์กรชั้นนำของไทย เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะมีการขยายตัวเป็นบวกได้ร้อยละ 1.45 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวกเป็นไตรมาสแรกนับจากไตรมาส 4 ปี 2551 โดยจะได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ทั้งได้รับการเปิดเผยจากศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ซึ่งสำรวจความคิดเห็นขอนักเศรษฐศาสตร์

ที่สำคัญนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้น่าจะเป็นลักษณะ W-Shape มากกว่า V-shape เหมือนที่รัฐบาลเชื่อมั่น

นอกจากนั้น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ติดลบร้อยละ 0.7 ส่งผลให้คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ขณะที่คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 31.1-33.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็น อุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ทิศทางและการคาดการณ์เศรษฐกิจโดยรวมส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเชื่อว่า ภายในสิ้นปีนี้ ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวไปที่ระดับ 750 จุด เนื่องจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทย

โดยยอดรวมการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศปีนี้มียอดซื้อสุทธิประมาณ 6 หมื่นล้านบาท คงมีเพียงปี 2551 เท่านั้นที่นักลงทุนต่างประเทศมียอดขายสุทธิ - 162,356.80 ล้านบาท ดังตาราง สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ ค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการลงทุนในตลาดหุ้น นั่นคือ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทิศทางตลาดหุ้นจะปรับสูงขึ้น แต่หากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ตลาดหุ้นจะปรับลดลง เนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นสามารถทดแทนการลดค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ได้

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ค่าเงินดอลลาร์กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติลดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อทำกำไรระยะสั้น รวมทั้งการนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ที่จะส่งผลต่อสภาพคล่องของระบบการเงิน


นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ คือ ความสำเร็จของโครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ที่รัฐบาลคาดหวังว่า จะทำให้เศรษฐกิจโตจากฐานเฉลี่ย 1.3% ต่อปี

รวมทั้งเสถียรภาพทางด้านการเมือง ที่อาจจะส่งผลให้เกิดการหดตัวลงของเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญนั้น คาดกันว่า จะเกิดขึ้นประมาณกลางปีหน้า ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 9 เดือน แบ่งเป็นประชามติ 3 เดือน ขั้นตอนในสภา 3 เดือน และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องอีก 3 เดือน

ถ้ายึดเอาคำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นฐานการคิดคำนวณ นั่นคือ ประมาณเดือนกรกฎาคม ปี2553 จะมีการยุบสภา หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

ทั้งๆที่ รัฐบาลสามารถสามารถบริหารงานไปได้จนถึงธันวาคมปี 2554

แต่ดูเหมือนว่า แรงกดดันจากหลายฝ่ายไม่ยอมให้รัฐบาลอภิสิทิ์บริหารงานได้ครบเทอม โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย-ทักษิณ-นปช.

กระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเพื่อไทยที่สำคัญ เพื่อเดินหน้ากดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาให้ได้ นั่นคือ การเข้ามาของ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 22

พล.อ.ชวลิต พร้อมทีมงานกว่า 20 คน เข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อเร็วๆนี้ โดยแอบอ้างประชาชนทุกกลุ่มทั้งพลเรือน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา ทั่วประเทศ (เหมือนในอดีตเป๊ะ) เรียกร้องให้พล.อ.ชวลิต เข้ามาทำงานที่พรรคเพื่อไทย

“ต้องอโหสิกรรมกัน ลืมเรื่องเก่า” นั่นคือ คำหวานตามรูปแบบเดิมๆของ พล.อ.ชวลิต เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในแวดวงการเมืองไทย

ที่สำคัญ พล.อ.ชวลิต ยืนกรานว่า การตัดสินใจเข้าสู่การเมืองครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติชี้มูลความผิดคดี 7 ต.ค.

คำปฏิเสธของ พล.อ.ชวลิต ตรงกันข้ามข้อเท็จจริงในใจตัวเองอีกครั้ง

แม้ว่าจะให้ข่าวกับสื่อว่า พล.อ.ชวลิต จะเข้ามาทำงานในสิ่งที่ถนัดและมีประสบการณ์ คือแนวทางสมานฉันท์

แต่คนที่รู้จัก พล.อ.ชวลิต ดี กลับไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น

ยิ่งเมื่อในฐานะประธานพรรค (ตามที่คาดหมายกันไว้)ของ พล.อ.ชวลิต ทำงานร่วมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย

ยิ่งสร้างความเสี่ยงในการลงทุนกับพรรคนี้มากขึ้น

ลองไปถามเสนาะ เทียนทอง หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิม กลายเป็นขุนพลข้างกาย พล.อ.ชวลิต ในพรรคความหวังใหม่ดู...แค้นครั้งนั้น เสนาะ ยังไม่มีโอกาสสะสาง “คนกร่างใจมด” เสียด้วยซ้ำ

แม้กระทั่ง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ประธานที่ปรึกษาพรรค ก็คงมองเห็นอนาคตอยู่รำไร

ไม่แปลกที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะประกาศในที่ประชุมสัมมนาของพรรคที่ขอนแก่น ภายหลังรู้ว่า พล.อ.ชวลิต เข้าสังกัดเพื่อไทยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าขอให้พี่น้องชาวอีสานเลือก ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยทั้ง 138 คน แล้วจะ นำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านภายใน 6 เดือน

ที่สำคัญ ร.ต.อ.เฉลิม ขอเป็นนายกฯสัก 6 เดือน!!

อันที่จริง การให้เหตุผลของเทพไท เสนพงศ์ ถึงการเข้ามา พล.อ.ชวลิต ด้วยเหตุผล 2 ข้อ ล้วนแล้วแต่มีน้ำหนัก นั่นคือ

1) เป็นการทดแทนบุญคุณ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยสนับสนุนการเลือกตั้งพรรคความหวังใหม่ยุคสุดท้ายก่อนยุบพรรค

2) เกิดจากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่า พล.อ.ชวลิต มีความผิดจากปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. 2551

แต่ทั้ง 2 เหตุผลสำคัญเท่ากับ “ความอยากของ พล.อ.ชวลิต” และ “จุดอ่อนของเพื่อไทย”

ว่ากันว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต ถูกส่งเทียบเชิญจากมือของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ด้วย “ข้าวเหนียวมะม่วง” มาครั้งหนึ่งแล้ว และหลายครั้ง พล.อ.ชวลิต ก็เป็นตัวเลือกของทักษิณ

แต่เงื่อนไขของ พล.อ.ชวลิต สูงเกินไป โดยเฉพาะ “ค่าบริหารจัดการ” ผิดกับ สมัคร สุนทรเวช ที่ไม่มีเงื่อนไขมากนัก

"พี่จิ๋วคิดได้เต็มที่ มีอะไรที่เห็นว่าพรรคต้องปรับก็ขอให้ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนคนที่อยู่ก็ไม่ต้องหวั่นไหว หรือห่วงสถานภาพว่าแล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะได้เป็นรัฐมนตรี ไหนจะลูกน้องพี่จิ๋วอีก” นั่นคือเนื้อหาสาระที่ทักษิณ พยายามจะบอกลูกพรรคเพื่อไทยในการประชุมพรรคต้อนรับ พล.อ.ชวลิต

เนื่องจากหลายคน หวาดหวั่นว่า เพื่อไทยจะเดือนซ้ำรอยกับความหวังใหม่ช่วงปลาย เพราะการบริหารจัดการต่างๆภายในถูกคนทำงานไม่เป็นอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม คุมไว้ทั้งหมด

ที่สำคัญเงื่อนไขพิเศษของ พล.อ.ชวลิต ในการควบคุม “เสบียง” ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยร้อนๆหนาวๆไปตามๆกัน

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า กรรมการบริหารพรรค 13 คน ของเพื่อไทยในปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของ 4 พี่น้องตระกูลชินวัตร

แม้ว่าก่อนหน้านี้ เพื่อไทยจะคิดโมเดลโครงสร้างพรรคใหม่ ด้วยสูตรแบ่งสัดส่วนจากบุคคล 3 กลุ่ม คือ ส.ส. นายทุนพรรค และนักวิชาการ ในจำนวนกรรมการบริหารพรรค 21 คน เช่น สูตร 5-7-9 และ 7-7-7

แต่ก็เป็นสูตรที่เจ้าของพรรคไม่เอาด้วย

ทำให้ 4 พี่น้องตระกูลชินวัตร แบ่งกันดูแล ส.ส.ของพรรค แล้วปล่อยให้กรรมการบริหารพรรคทำงานด้านธุรการไป ประเภทหนังสือเข้าหนังสือออก หรือแถลงข่าวประจำสัปดาห์

พื้นที่ภาคใต้ ซึ่งไม่สำคัญมากนักสำหรับเพื่อปล่อยให้ เยาวเรศ ชินวัตร พี่คนโตที่อยู่ในเมืองไทย วัย 57 ปี เป็นผู้ดูแล ในฐานะประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ คนที่ 20

เยาวเรศ เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 9 คน ของ นายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร นางเยาวเรศ ทำธุรกิจขายสินค้าชุมชน และงานศิลปะ

เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ วัย 54 ปี น้องสาวคนรองของทักษิณ บุตรคนที่ห้าของครอบครัวชินวัตรจากทั้งหมด 9 คน ดูแลพื้นที่ และส.ส.ภาคเหนือ ของพรรค และเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เอ็ม ลิงก์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด นั่นทำให้ส.ส.ภาคเหนือของพรรคไม่คิดแยกตัวไปร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น

ผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ การันตีฝีมือเจ๊แดงคนนี้พอสมควร เพราะทำให้ ทัศนัย บูรณุปกรณ์ เข้ามาเป็นที่หนึ่งได้สำเร็จ หลังจากปล่อย ร.อ.หญิงเดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ บริหารงานมาช่วงหนึ่ง

พื้นที่ใหญ่ในภาคอีสานปล่อยให้ พายัพ ชินวัตร เป็นบุตรคนที่ 6 ของครอบครัวบริหารจัดการ พายัพมีความมักคุ้นับ พล.อ.ชวลิต มากกว่า 20 ปี ที่สำคัญในแวดวงตลาหุ้นถือกัน เขาเป็น “ขาใหญ่” คนสำคัญ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จกับตำแหน่งประธานบริษัทชินวัตรไหมไทย จำกัด จนเป็นหนี้กว่า 600 ล้านบาท

แต่พายัพ ก็ไม่ทำให้แมงเม่า และส.ส.ที่เล่นหุ้นในตลาดผิดหวัง

พายัพ เคยประกาศเสียงดังฟังชัดว่า ถ้าตระกูลชินวัตรกลับมาอำนาจอีกครั้งเมื่อไหร่ จะกลับมาแก้แค้นบุคคลที่ล้มล้างอำนาจทักษิณ

การเข้ามาของ พล.อ.ชวลิต อาจจะทำให้คำประกาศของพายัพ เป็นจริงหรือไม่ ยังเป็นปริศนา??

น้องสาวคนสุดท้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กลายเป็นผู้ดูแลพื้นที่ภาคกลาง และกทม. แต่ขณะเดียวกันบทบาทอีกด้านหนึ่งของ ปู-ยิ่งลักษณ์ก็คือ การบริหารบริษัทเอสซี แอสเซท จำกัด และมูลนิธิไทยคม-มูลนิธิที่ลงโฆษณาให้สื่อที่โจมตีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างสม่ำเสมอ

สี่พี่น้องตระกูลชินวัตร บริหารจัดการพรรคเพื่อไทย ด้วยการทำงานส.ส.ของพรรคเป็นเสมือน “ลูกจ้าง” ไม่เว้นกระทั่งทีมงานโฆษกพรรคทั้ง 10 คน ประด้วย พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค และรองโฆษกพรรคอีก 9 คน

จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส.ส.กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

พล.อ.ชวลิต จึงกลายเป็นตัวเลือกของรูโหว่ระหว่าง ส.ส. และพี่น้องตระกูลชินวัตร

แต่กระนั้นก็ไม่มีใครเชื่อว่า พล.อ.ชวลิต จะสกัดจุดอ่อนของเพื่อไทยได้จริง เหมือนที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นิยามความเป็น พล.อ.ชวลิต ว่า “มิสเตอร์เยส”

เป็นคนไม่เคยปฏิเสธใคร จนทำให้กลายเป็น จิ๋วหวานเจี๊ยบที่คุยไม่รู้เรื่อง และมีโอกาสทำให้พรรคเพื่อไทยเพิ่มความเสี่ยงด้านการบริหารบุคคลอีกต่างหาก

พล.อ.ชวลิต-เพื่อไทย-นปช. และสี่พี่น้องตระกูลชินวัตร จะทำให้ ทักษิณกลับมานั่งในสภาปีหน้าหรือไม่ ไม่ต้องคาดการณ์ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้น พล.อ.ชวลิต ต้องได้ในสิ่งที่อยากได้ก่อน...
กำลังโหลดความคิดเห็น