xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คเบรกกม.คุมม๊อบสตช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม. เห็นชอบร่างประกาศ พื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่างประกาศเรื่องการให้หน่วยงานของรัฐมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ดำเนินการแทนหรือมีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการด้วย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย และร่างข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ รวม 3 ฉบับ ตามที่ กอ.รมน.เสนอ
สำหรับสาระสำคัญของการประกาศตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯคือ 1.ประกาศพื้นที่ปรากฎการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ 5 ตำบล ใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และ4 ตำบล ในอ. หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทะเลอาณาเขตชายฝั่ง ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และต.หัวหิน ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เว้นเขตพระราชฐาน วังไกกังวล ระหว่างวันที่ 12-27 ตุลาคม 2552 โดยมอบให้ กอ.รมน. รับผิดชอบในการดำเนินการตามมาตรา 15 แห่งพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ
2. ให้หน่วยงานของรัฐมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายให้ กอ.รมน.ดำเนินการแทน หรือมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้วย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ เป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมาย จำนวน 17ฉบับ ตามมาตร 16 วรรค 4 และ 3.ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ จำนวน 5 ข้อ
ด้าน นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อจัดระเบียบการชุมนุมให้เป็นไปตามหลักสากล แต่ต้องไม่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และเป็นการจัดระบบการชุมนุม ในที่สาธารณะให้มีความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ครม. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมทั้งในส่วนของการจัดระเบียบ การควบคุม และการกำหนดบทลงโทษ ที่ต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์การชุมนุม จากนั้นจะส่งกลับมาที่ ครม. เพื่อส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ท้วงติงในที่ประชุม ครม.ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างเดิม ตั้งแต่ปี 2550 อาจมีข้อห้าม หรือระเบียบขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม จึงขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษาเพิ่มเติม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติประกาศพื้นที่ใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในฯ ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตั้งแต่วันที่ 12-27 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงระหว่างการปะชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และประเทศคู่เจรจา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับ ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ สตช.เสนอนั้น จะให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหลักในการ ไปทำร่าง เพราะยังมีข้อพิจารณาว่า การขออนุญาตการชุมนุมจะขัดกับสิทธิเสรีภาพ การชุมนุมหรือไม่ แม้ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน น่าจะมีกฎหมายบริหาร จัดการ ชุมนุมในที่สาธารณะ แต่คำว่า จัดการ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการจำกัดสิทธิ แต่หมายถึงทำอย่างไร เราจะมีเครื่องไม้เครื่องมือกฎกติกาที่จะมาดูแลว่า การชุมนุม ในที่สาธารณะจะไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้อื่น แล้วนำไปสู่ปัญหาความรุนแรง
ฉะนั้นอันนี้คือกรอบที่ใช้อยู่ เพียงแต่ร่างที่เสนอเข้ามาจัดทำโดย สตช.และเป็นร่างเดิมที่เคยเสนอมาเข้าใจว่า ปี 2550 ไม่ได้มีการปรับปรุงเลย แล้วส่งเข้ามาเหมือนเดิม เลยมีข้อสังเกตจากหลายหน่วยงาน และจากหลายรัฐมนตรีว่าน่าจะไปดูกันใหม่ จึงได้ให้ทางกฤษฎีกาไปจัดร่างแทน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อข้องใจที่รัฐบาลเห็นว่าไม่เหมาะสมคืออะไร นายกฯ กล่าวว่า ประเด็นที่ถกเถียงกันว่า การต้องขออนุญาตล่วงหน้าว่าจะชุมนุม และมีกรรมการฯ มาพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชุมนุม จะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการที่จะชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ นี้คือตัวอย่าง
ทั้งนี้ก่อนการประชุม ครม. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจงต่อ ครม.ว่า ในการประชุมครม. ครั้งนี้ สตช. จะเสนอร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....ให้ครม.พิจารณา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสนอเข้าสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ผ่านการพิจารณา ทาง สตช.จึงได้ปรับปรุงร่าง และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว ก่อนเสนอกลับมาที่ครม.อีกครั้ง
โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมี 12 มาตรา และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิ์ ของการชุมนุม แต่ต้องมีกฎหมายออกมาวางแนวทางการปฏิบัติ ผู้ชุมนุมต้องสามารถ ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องอยู่ในกรอบว่าทำได้แค่ไหน และในส่วนของ เจ้าหน้าที่ทำได้แค่ไหน กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความชัดเจนในการใช้สิทธิและปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยจะเป็นเกราะให้กับทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ชุมนุมก็ชุมนุมได้มาตรฐาน และมีบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิด หากเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ทั้งแกนนำ ผู้จัด และผู้ร่วมตามลำดับไป
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าการชุมนุมของประเทศเราไม่ได้มาตรฐาน เดินไปยึดตรงนั้น ลุยตรงนี้ การชุมนุมหลายครั้งที่เกิดขึ้นสร้างความไม่สงบเรียบร้อย รัฐธรรมนูญปี 40 หรือปี 50 โดยเฉพาะปี 50 ในมาตรา 63 นั้นพูดถึงการชุมนุมไว้ว่า การกำจัดสิทธิในการชุมนุมทำไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะการชุมนุมสาธารณะ ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองไม่เรียบร้อยจากการชุมนุมก็ต้องออก กฎหมายมา สตช.ที่มีความรับผิดชอบในการจัดระเบียบการชุมนุมจึงได้ยกร่าง กฎหมายนี้ขึ้นมา ซึ่งต่อไปถ้ามีกฎหมายนี้ การชุมนุมก็จะได้มาตรฐาน ผู้รับผิดชอบในการควบคุมหรือจัดระเบียบการชุมนุม ก็จะทำได้ตามมาตรฐาน” พล.ต.ต.อำนวย กล่าวและว่า หากครม.ให้ความเห็นชอบก็ต้องนำเข้าสู่สภาฯต่อไป ซึ่งก็คงต้องมีการพูดคุยและปรับแก้กันอีก และทราบว่ามีหลายร่าง ซึ่งคงต้องไปดูว่าร่างไหนดีที่สุด หรือจะปรับแก้ผสมกัน เพื่อให้มีกฎหมายที่ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น