xs
xsm
sm
md
lg

เกรย์ฯงัดสูตรเด็ดช่วยลูกค้า เผยคนไทยยังยึดติดแบรนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – เกรย์ ชู เครื่องมือ “eye on Asia” ช่วยลูกค้าวางแผนกลยุทธ์การตลาด หวังประคองรายได้ทั้งปีทรงตัวเท่าปีก่อน แม้ลูกค้าตัดงบลง เผยพฤติกรรมคนไทย ติดแบรนด์ สร้างอิมเมจ สวนทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขึ้นแท่นอันดับ 1 ใน 16 ประเทศ  

นางชารุ ฮาริช ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการสื่อสารของเกรย์กรุ๊ป เอเชีย แปซิฟิค เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา เกรย์ได้สร้างเครื่องมือขึ้นมา เรียกว่า “Eye on Asia” ซึ่งเป็นเครื่องมือ ที่เกิดจากการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเอเชียอย่างละเอียด พร้อมทั้งสามารถพยากรณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ
ทั้งนี้มาจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 8,000 คนต่อปี ใน 16 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม ศรีลังกา บังคลาเทศ อินเดีย ไต้หวัน ฮ่องกง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เฉลี่ยประเทศละ 500 คน อายุตั้งแต่ 18-65 ปี เป็นกลุ่มที่มีระดับรายได้ตั้งแต่ ระดับบีถึงระดับเอ สำรวจในกลุ่มหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก
โดยข้อมูลใน Eye on Asia ถือเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ลูกค้ามีการวางแผนกลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ผลสำรวจจาก Eye on Asia มุ่งศึกษาใน 3 ด้าน หลัก คือ 1.วิถีชีวิต 2.ความต้องการด้านต่างๆทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต 3.เรื่องต่างๆเกี่ยวกับผู้บริโภคและการสื่อสาร
ผลการสำรวจในปี 2552 ที่สำคัญ พบว่า ชาวเอเชีย ยังคงมองโลกในแง่ดี แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเรื่องต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยกว่า 76% เชื่อว่าอนาคตจะดีกว่าอดีต และกว่า 63% มีความพึงพอใจกับชีวิตในทุกวันนี้ แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเงินในครัวเรือน มีการออมมากขึ้น โดยกว่า 98% เชื่อว่าความมั่นคงทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับตน และกว่า 97% ต้องการมีภาวะทางการเงินที่ดีกว่านี้
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ช่วยให้มีการแบ่งประเภทของกลุ่มผู้บริโภคได้ 5 ประเภท ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องการการวางแผนกลยุทธ์การตลาดได้ดีขึ้น ได้แก่ 1.กลุ่มที่สนุกสนานกับแบรนด์ใหม่ๆ ชอบลองของใหม่ มีสัดส่วนกว่า 21% ซึ่งได้แก่ เวียดนาม อินเดีย จีน และบังคลาเทศ สังเกตได้ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ประชากรมีรายได้ที่ดี
2.กลุ่มที่มองหาคุณค่าที่รับรู้ได้ มีสัดส่วนกว่า 23% เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องแบรนด์ต้องดี การใช้งานต้องดี และราคาต้องเหมาะสม ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไต้หวัน และมาเลเซีย สังเกตได้ว่า เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากร ที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ
3.กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นในตัวตน มีสัดส่วนกว่า 21% เป็นกลุ่มที่มองหาแบรนด์ที่ตอบสนองความเป็นตัวตนเป็นหลัก มุ่งในเรื่องของความเป็นปัจเจกบุคคล ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี และสิงคโปร์
4.กลุ่มที่มองหาสถานภาพของตน มีสัดส่วน 19% เป็นกลุ่มที่มียึดติดแบรนด์ชั้นนำเป็นหลัก เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ให้ความสำคัญกับสถานภาพของตน ได้แก่ ไทย เกาหลี และญี่ปุ่น และ5.กลุ่มที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้งาน มีสัดส่วน 16% เป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ไม่ยึดติดแบรนด์ ได้แก่ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
นางชารุ กล่าวต่อว่า เป็นที่สังเกตว่า ผู้บริโภคคนไทย เมื่อแยกกลุ่มตาม 5 ประเภทนี้แล้ว พบว่า ให้ความสำคัญในเรื่องของสถานภาพของตนกว่า 26% รองลงมาคือ ความเชื่อมั่นในตัวตน 25% มองหาคุณค่าที่รับรู้ได้ 23% เน้นเรื่องการใช้งาน 15% และสนุกสนานกับแบรนด์ใหม่ 11% ตามลำดับ
เมื่อดูจากผลสำรวจในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ยังพบอีกว่า ไทยเป็นผู้นำที่ยึดติดในเรื่องของสถานภาพของตนมากที่สุด จากผลสำรวจใน 16 ประเทศ  โดยในปี 2550 มีสัดส่วนที่ 75% ปี 2551เพิ่มเป็น 94% และในปี 2552 อยู่ที่ 92% ซึ่งตัวเลขเฉลี่ยของเอเชียอยู่ที่ 74% เท่านั้น หมายความว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการสร้างอิมเมจให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคระดับใดก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะยิ่งเครียดก็ยิ่งต้องใช้จ่ายเพื่อสร้างความสบายใจ โดยเฉพาะในกลุ่มระดับบน ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจก็ยังคงใช้เม็ดเงินเพื่อสร้างอิมเมจอย่างต่อเนื่อง
นางภัทรพร วงศ์มีศักดิ์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร และผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เกรย์ (ประทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เครื่องมือนี้ ถูกนำไปช่วยลูกค้าในการวางแผนการตลาดไปบ้างแล้ว เช่น กรุงไทยแอกซ่า และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ถึงแม้ว่าลูกค้าในปีนี้จะชะลอเม็ดเงินลงไปบ้าง ทั้ง พีแอนด์จี และอีกหลายๆราย ที่เป็นลูกค้ารายสำคัญบวกกับการมีลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 2 ราย เชื่อว่าสิ้นปีบริษัทจะสามารถประคองรายได้เท่าปีที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น