xs
xsm
sm
md
lg

คนญี่ปุ่นย้ายถิ่นจากศรีราชาสู่ระยองทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง”ยุ่น”นับถอยหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่เคยอาศัยอยู่ในเขตอ.ศรีราชา บางส่วนได้ย้ายไปอยู่ที่ระยอง เพื่อลดต้นทุนเดินทาง ขณะที่บางส่วนเดินทางกลับประเทศ ทำให้ศรีราชาเริ่มเงียบเหงา
ศูนย์ข่าวศรีราชา -ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับคนญี่ปุ่นในอ.ศรีราชาเริ่มสะดุด หลังกลุ่มครอบครัวคนญี่ปุ่น ย้ายถิ่นเข้าไปอยู่จ.ระยองมากขึ้น เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง และใกล้ที่ทำงาน ขณะที่บางส่วนพิษเศรษฐกิจทำให้ต้องพาครอบครัวกลับบ้าน

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชลบุรี เผยถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2552 ของภาคตะวันออกว่า แม้มีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้น ตามดัชนีความเชื่อมั่นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอัตราการจ้างงานในโรงงานต่างๆ ที่มีมากขึ้น แต่สัญญาณดังกล่าวก็เป็นเพียงการเติบโตในลักษณะของการใช้สินค้าที่อยู่ในสต๊อกเท่านั้น ยังไม่ใช่การเติบโตในลักษณะของความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดียังพบว่าการลงทุนในจังหวัดชลบุรียังคงชะลอตัว แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสำคัญกลับเติบโตต่อเนื่องในจังหวัดระยอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว และเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อการลงทุนในภาคตะวันออก ที่สำคัญหากรัฐบาลกล้าตัดสินใจดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จ.ระยองอย่างจริงจังก็จะสร้างความมั่นใจทางการลงทุนให้แก่นักลงทุนต่างชาติได้

“การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอย่างต่อเนื่องในจ.ระยอง ทำให้กลุ่มชาวญี่ปุ่นที่เคยพักอาศัยในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เริ่มทยอยย้ายที่อยู่อาศัยเข้าไปอยู่ในจ.ระยอง เพื่อให้ใกล้ที่ทำงานและประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายของสำนักงานใหญ่ เช่นเดียวกับในพื้นที่เมืองพัทยา ขณะนี้ก็มีชาวญี่ปุ่นเหลือไม่ถึง 300 คน ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่เคยอาศัยในอ.ศรีราชาบางส่วน เดินทางกลับประเทศ ทำให้ขณะนี้จำนวนชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในอ.ศรีราชาเริ่มลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับชาวญี่ปุ่นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร ฯลฯ ”

นายสุรชัย ยังเผยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจว่าได้ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งในจ.ชลบุรี ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการขนส่งใช้ประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้เพียง 60% เท่านั้น และคาดว่าหากในอนาคตภาวะเศรษฐกิจดีดกลับประสิทธิภาพที่เหลืออีก 40% ก็สามารถรองรับความต้องการด้านการขนส่งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น