xs
xsm
sm
md
lg

ยุบอีลิทผลาญงบ2.3พันล.ชี้แจงทูตลดสิทธิสมาชิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ดทีพีซีสรุป 4 แนวทางเลือกอีลิทการ์ด เสนอบอร์ดททท. 29 ก.ค.นี้ ก่อนส่ง “ชุมพล” ตัดสินใจ แล้วนำเข้าที่ประชุมครม. เชื่อไม่เกิน สิงหาคมนี้รู้ผลแน่ ระบุถ้ายุติโครงการต้องใช้เงินกว่า 2.3 พันล้านชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าเดินหน้าต่อก็เป็นภาระของรัฐ  ชี้มีความเป็นไปได้ที่จะโอนองค์กรไปเป็นหน่วยงานหนึ่งใน ททท.

นายธงชัย ศรีดามา ประธานคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท  เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 4 แนวทางเลือก ในการดำเนินงานของทีพีซี  โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดททท.ในวันที่ 29 ก.ค.52 เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอต่อนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ตัดสินใจเลือก 1 ใน 4 แนวทาง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาดครั้งสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับ 4 แนวทางที่ ทีพีซี จะนำเสนอจะมีรายละเอียดทั้งข้อดีและข้อเสียเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้วย ได้แก่ 1.ยุติโครงการโดยสิ้นเชิง พร้อมจ่ายเงินคืนให้แก่สมาชิกพร้อมค่าเสียหาย ซึ่งผลดีคือตัดปัญหาในระยะยาว แต่ข้อเสียคือต้องใช้เงินจำนวนมากในการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเลิกจ้างพนักงานรวมเป็นเงินกว่า 2,300 ล้านบาท
ไม่รวมเงินที่จะถูกเรียกจากการฟ้องร้องของสมาชิก ที่สำคัญคือเสียภาพลักษณ์ประเทศ
2.ดำเนินการต่อโดยร่วมทุนกับภาคเอกชน สัดส่วนการลงทุนแล้วแต่จะกำหนดว่ารัฐหรือเอกชนจะถือหุ้นใหญ่ โดยในความเป็นจริงรัฐควรถือหุ้นใหญ่ เพราะจะได้รับการช่วยเหลือด้านการประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 3.เดินหน้าโครงการต่อโดยปรับแผนธุรกิจลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ และ 4.โอนภาระกิจทั้งหมดของทีพีซีให้กับ ททท.ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปดำเนินงานเองโดยใช้แผนธุรกิจการทำงานที่ทีพีซีได้จัดทำในรูปแบบใหม่แล้วมาใช้บริหารงาน ซึ่งแนวทางนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด
ทั้งนี้ในแนวทางเลือกข้อ 2-4  กรอบแนวทางจะคล้ายกันคือต้องปรับลดขนาดองค์กรปรับวิธีบริหารจัดการเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ โดยผลเสียคือต้องมีการปรับลดพนักงาน เท่ากับเพิ่มจำนวนตัวเลขผู้ว่างงานในประเทศ อีกทั้งยังเป็นภาระที่รัฐบาลต้องแบกรับไปในระยะยาว หรือบางครั้งอาจต้องจัดสรรงบประมาณเข้าช่วยเหลือด้วย ส่วนผลดีคือประเทศไม่เสียภาพลักษณ์ ลดความเสี่ยงที่จะถูกสมาชิกฟ้องร้อง เป็นต้น
“ทั้ง 4 แนวทางเลือกมีปัญหาทั้งหมดในเรื่องของการจัดทำรายละเอียดในการปฎิบัติว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป แต่ทั้งนี้ก่อนที่ ครม.จะตัดสินใจ ต้องส่งรายละเอียดให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อให้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด”
**แจงสถานทูตลดสิทธิประโยชน์
นายอุดม เมธาธำรงค์ศิริ รักษาการผู้จัดการใหญ่ ทีพีซี  กล่าวว่า สมาชิกยังไม่มีสิทธิขอเงินคืน เพราะบริษัทฯยังไม่ได้ปิดกิจการ  ส่วนการปรับลดสิทธิประโยชน์ล่าสุด ทีพีซีได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังสถานฑูตทุกแห่งในประเทศไทย และสำนักงาน ททท.ในต่างประเทศ เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นในการปรับลดสิทธิประโยชน์ โดยอ้างถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ประเทศไทยและทีพีซีก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
บริษัทฯจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดสิทธิประโยชน์เสริมแต่ยังคงไว้ซึ่งสิทธิประโยชน์หลักที่แม้มีเงินก็ซื้อไม่ได้เช่น สิทธิวีซ่า 5 ปีสำหรับสมาชิกผู้ถือบัตร และบริการฟาสต์แทรก ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง  เป็นต้น โดยสิทธิประโยชน์หลักนี้หากทีพีซีได้ดำเนินงานต่อก็จะใช้เป็นจุดขายหลัก
อย่างไรก็ตามหลังจากบริษัทฯได้ปรับลดค่าใช้จ่ายไปกว่า 62% ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนเหลือประมาณ 20 ล้านบาท  โดยมีกระแสเงินสด ณ วันที่ 31 พ.ค.52 อยู่ที่ 408 ล้านบาท  ขาดทุนสะสม ณ วันที่ 30 มิ.ย.52 ที่ 1,431.93 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ ครม.มีมติให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯไปดำเนินการยุติโครงการบัตรไทยแลนด์อีลิท มาเป็นเวลานานแล้วแต่ก็ยังไม่มีเรื่องส่งกลับมาที่ ครม.เสียที ซึ่งมีกระแสข่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่ ครม.จะใช้ทางเลือกโอนทีพีซีไปเป็นหน่วยงานหนึ่งใน ททท. ซึ่งขณะนี้
ครม.ก็รอเรื่องที่กระทรวงการท่องเที่ยวจะส่งมาให้พิจารณา เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น