xs
xsm
sm
md
lg

นาฏกรรมประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

“ผู้ใดมีอำนาจวาสนา
ธรรมดาหาอะไรก็หาได้
กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้
ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียวเกลอ…”

- - - พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องวิวาหพระสมุทร โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน ผมพลิกอ่านคอลัมน์ของคุณเปลว สีเงิน ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

วันนั้น อาเปลวเขียนเรื่อง “ทักษิณฟ้องได้-แต่ใครฟ้องทักษิณไม่ได้!” เกี่ยวกับพฤติกรรมอันฉ้อฉลและน่าตลกขบขันของ นักโทษชายทักษิณ ที่มอบอำนาจเอาเงินฟาดหัวทนาย ให้วิ่งไล่ฟ้องคนโน้นคนนี้ในคดีหมิ่นประมาทและคดีต่างๆ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ด่าศาล ด่าผู้พิพากษา ด่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยว่า “ลำเอียง-ไร้ความเป็นธรรม” และระบุว่าเป็นกระบวนการซึ่ง “ยุติความเป็นธรรม”

นอกจากนี้ อาเปลวยังเขียนถึงข้อสงสัยในวิธีการมอบอำนาจ-มอบฉันทะ เพื่อแต่งตั้งทนาย เพื่อฟ้องคดีของ นช.ทักษิณ ด้วยว่ามีความน่าเคลือบแคลง เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ นช.ทักษิณ จะเซ็นใบมอบอำนาจแบบลอยๆ ทิ้งเอาไว้ โดยเมื่อจะใช้ทนายคนไหนไปฟ้องคดีใครก็หยิบเอาใบมอบอำนาจลอยนี้ไปใช้

และก็ยิ่งน่าแปลกใจเข้าไปอีกว่า เหตุใด ตำรวจ อัยการ รวมถึงผู้มีอำนาจทั้งหลายกลับไม่เคยตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ หรือใช้ประโยชน์จากการมอบอำนาจดังกล่าวนี้ ในการไปไล่ล่า นช.ทักษิณ กลับมารับโทษอาญาเลย?

2 วันถัดมา ในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2552

ผม ในฐานะกรรมการของบริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ก็ต้องเดินทางไปตามหมายนัดของศาลจังหวัดมีนบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3596/2551 ในคดีหมิ่นประมาทระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะโจทก์ และ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมกับพวกรวม 6 คน ในฐานะจำเลย

ในวันนั้น เนื่องจากคุณสนธิในฐานะจำเลยที่ 1 มีนัดกับแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอาการบาดเจ็บจากการลอบสังหารเมื่อวันที่ 17 เมษายน ส่วน อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็ติดภารกิจเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีเพียงจำเลย 4 ราย 6 คน ประกอบไปด้วย คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข คุณพิภพ ธงไชย กรรมการบริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม (เจ้าของเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการ) 2 คน และกรรมการบริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) อีก 2 คน เดินทางไปตามนัดดังกล่าว

บรรยากาศในช่วงเช้าวันจันทร์ พวกเราในฐานะจำเลยและทนายจำเลยเดินทางไปตามนัดตรงเผง 9 นาฬิกา ขณะที่ทนายโจทก์ เดินเข้าห้องพิจารณาคดีตามหลังมาติดๆ

วันนั้นในห้องพิจารณาคดีที่ 3 ของศาลจังหวัดมีนบุรี ไม่ได้มีการพิจารณาคดีของพวกเราแต่เพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้การดูแลของผู้พิพากษา 2 ท่าน ยังมีคดีอาญาอื่นๆ ของคนอื่นๆ ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกันด้วย ทำให้ผมมีโอกาสได้รับฟังการสนทนา การสืบพยานและคำพิพากษาในวันนั้นอย่างละเอียด (แม้จะไม่ได้ตั้งใจมาฟังก็ตาม)

คดีแรกที่ผู้พิพากษาหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ก็คือ คำพิพากษาอุทธรณ์ คดียาเสพติดของนักโทษชายรายหนึ่ง ซึ่งต้องโทษจากศาลชั้นต้นจากคำพิพากษาในคดีค้ายาบ้า 1,800 เม็ด และถูกจับได้ในห้องพักเขตสะพานสูงเมื่อหลายปีก่อน ผู้ต้องหาคนนี้เดินเข้ามาในห้องพิจารณาคดีในชุดนักโทษ พร้อมโซ่ตรวนที่ข้อเท้า กุญแจมือ และผู้คุมร่างสูงใหญ่

ในคดีนี้ สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนให้จำคุกตลอดชีวิต แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษ 1 ใน 4 เหลือจำคุก 37 ปี และปรับ 750,000 บาท

คดีถัดมาเป็นคดีของชายวัยกลางคน รูปร่างเล็ก เขาเดินเข้าห้องพิจารณาคดีมาด้วยสีหน้าอิดโรย พร้อมกับโซ่ตรวนที่ข้อเท้าและกุญแจมือเช่นกับชายคนแรก ผิดกันก็แต่ว่า คดีของชายคนที่สองนี้เป็นคดีลักทรัพย์ ซึ่งเท่าที่ได้รับฟังโดยคร่าว คดีนี้เกิดขึ้นมาได้สักพักหนึ่งแล้ว เป็นคดีลักทรัพย์โดยมีทรัพย์สินของกลางก็คือ มอเตอร์ไฟฟ้า และกระทะ มูลค่า 1,500 บาท!

จากนั้นศาลจึงถามว่า จะรับสารภาพหรือไม่รับ พร้อมสำทับว่า รับๆ ไปเถอะ เพราะมูลเหตุเป็นแค่ทรัพย์สินมูลค่า 1,500 บาทเท่านั้น จากนั้นจึงถามชายคนเดิมต่อว่าจะรับในข้อหาอะไร ลักทรัพย์ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน หรือรับของโจร?

ส่วนจำเลยในชุดนักโทษพอได้ยินคำศาลก็ทำหน้าเหลอหลาอยู่พักใหญ่

เมื่อเห็นดังนั้น “พี่เพชร” พชร สมุทวณิช กรรมการบริษัทไทยเดย์ฯ ซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยด้านข้างกันกับผม ก็หันมากระซิบกับผมว่า

“รับๆ ไปเหอะ แค่ 1,500 เดี๋ยวพี่ช่วยจ่ายให้ ... สงสารเขาว่ะ”

จริงๆ ผม รู้ดีว่าในใจของพี่เพชรนั้นก็รู้ดีเหมือนผมว่า คดีดังกล่าวนี้แม้จะมีต้นเหตุของคดีเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ชิ้น และกระทะ 1 ใบ มูลค่ารวมเพียงแค่ 1,500 บาท แต่ก็เป็นคดีอาญาซึ่งยอมความกันไม่ได้ อีกทั้งชายผู้นั้นก็อาจจะเป็นมิจฉาชีพซึ่งลักเล็กขโมยน้อยและอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว

ทว่า สิ่งที่ทำให้เราต่างรู้สึกสะทกสะท้อนใจและหดหู่ก็ คือ “ภาพหลักฐานอันแจ่มชัด อันพิสูจน์ถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม”

ในขณะที่ มหาเศรษฐีคนหนึ่งซึ่งต้องโทษจำคุก 2 ปี จากศาลฎีกา ในคดีทุจริตต่อชาติบ้านเมือง และยังมีคดีโกงชาติรอตามหลังอีกพะเนินเทินทึก คิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท มหาเศรษฐีคนนี้กลับใช้กระบวนการยุติธรรมซึ่งเขาปฏิเสธที่จะรับโทษ มาใช้จัดการกับผู้อื่นและศัตรูได้โดยสะดวกโยธิน ส่วนกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่จะจัดการกับมหาเศรษฐีโกงชาติคนนี้กลับต้องหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง

กลับกัน คนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งนอกจากจะต้องสละชีวิต สละอวัยวะ สละทรัพย์สิน-เงินทอง ออกมาปกป้องชาติ เสี่ยงชีวิต เสี่ยงภัย เสี่ยงคุก เสี่ยงตะราง กลับต้องทนทุกข์กับความฉ้อฉลในกระบวนการของรัฐ และความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะในชั้นตำรวจ อัยการ ป.ป.ช. และชั้นศาล ไม่นับรวมกับการต้องเทียวขึ้น-เทียวลงศาล ด้วยความถี่ในระดับที่เรียกได้ว่า “วันเว้นวัน”

ในขณะที่ ตระกูลโฉดตระกูลหนึ่ง สามารถบุกรุกและลักขโมยหลวง อันเป็นที่ดินภายใต้การดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปได้หน้าตาเฉย คนในตระกูลนี้ยังสามารถเชิดหน้าชูคออยู่ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศได้ แถมคนในตระกูลนี้ก็ยังสามารถ กอดคอ-กอดอก-กอดเอว กับนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้อย่างน่าชื่นตาบาน

กลับกัน คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งลักเล็กขโมยน้อยกลับแทบจะไม่มีหนทางต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีโอกาสได้ประกันตัวเพียงเสี้ยววินาที ไม่มีเงินไปจ้างทนาย ไม่มีปัญญาแม้จะต่อสู้เพื่อลดโทษจากหนักให้เป็นเบา แม้ทรัพย์สินที่เขาทุจริตมาจะมีมูลค่าเพียงแค่ค่าอาหารว่าง หรือเศษเงินของคนบางคนก็ตาม

ฟังแล้วก็เซ็งนะครับ หรือจะเป็นอย่างที่เขาว่า “คุกไทยมีไว้ขังหมากับคนจน” จริงๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น