xs
xsm
sm
md
lg

ฉะรัฐบาลมั่วส่ง“เทพเทือก”ถกพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -ภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทพระวิหารแถลงการณ์คัดค้านขึ้นทะเบียนร่วมพระวิหาร บี้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-เขมรอย่างเป็นทางการ รวมทั้งแจ้งต่อยูเนสโกและประชาคมโลกให้รับทราบ รวมทั้งขอให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีป ระบุสุดเสี่ยงส่ง “เทพเทือก” หารือ “ฮอร์ นัม ฮง” ชี้ไม่รู้ข้อมูล-ข้อเท็จจริง เผยเขมรเปิดพานักท่องเที่ยวชมปราสาทจุดพื้นที่ทับซ้อนเก็บเงิน แต่ทหารไทยกลับห้ามคนไทยเข้าพื้นที่ “สุเทพ”เชื่อปัญหาจบหลังเดินทางเจรจากับ “ฮุนเซน”

วานนี้ (23 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีปราสาทพระวิหาร โดยม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ พร้อมด้วยสมาชิกภาคีจากกลุ่มต่างๆ อาทิ จากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากชมรมใจภักดิ์รักไทย เครือข่ายปัญญาสยาม ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มประชาธิปไตยยาตรา ฯลฯ ได้เปิดแถลงข่าวคัดค้านการขึ้นทะเบียนร่วมพระวิหาร
ม.ล.วัลย์วิภาเปิดเผยว่า ในขณะนี้คำว่า “ขึ้นทะเบียนร่วม” ถูกนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อหมกเม็ดความไม่โปร่งใส ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจว่าในตอนแรกทางกลุ่มสนับสนุนให้ไทยและกัมพูชาขึ้นทะเบียนพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่นั่นคือก่อนที่จะทำ Joint Communiqu? เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.51 ที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศในขณะนั้น ลงนามสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารก่อน แล้วจึงค่อยผนวกไทยเข้าไปขึ้นทะเบียนร่วม แต่เจ้าของหลักคือกัมพูชา และจะนำไปสู่การตั้ง ICC หรือคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee) ที่เปิดให้ 7 ประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ทางภาคีฯ จึงขอคัดค้านการขึ้นทะเบียนร่วม
ส่วนการที่นายสุวิทย์ คุณกิติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบินไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะเป็นการคัดค้านแบบไหน
นอกจากนี้ ม.ล.วัลย์วิภายังแสดงความห่วงใยต่อเอกสารบางฉบับที่มดเท็จบิดเบือนความจริง ที่อาจส่งผลให้ประชาชนเข้าใจผิด เช่นเอกสารของอีโคโมสไทย ที่ระบุว่าศ.ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการมรดกโลกไทยสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารร่วมกับเขมร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น และรวมไปถึงเอกสารราชการ ฉบับด่วนที่สุด โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานเลขานุการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ลงวันที่ 22 พ.ค.51 ที่เสนอแนะและสนับสนุนให้รัฐบาลกัมพูชาผนวกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 7 แห่งของไทยกินพื้นที่ 3 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,550,837 ไร่ ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติด้วย
“เราพบข้อมูลด้วยว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทุ่มงบประมาณ 1,500,000 บาท ให้แก่นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงและอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง เพื่อทำโครงการศึกษาข้อมูลเชิงวิชาการและคุณค่าโบราณสถานบริเวณผามออีแดงและอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก”
ม.ล.วัลย์วิภากล่าวอีกด้วยว่า ล่าสุดมีกระแสข่าวว่ามีคนไทยบางกลุ่มได้แอบอ้างเป็นตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ เข้าเป็นสมาชิก ICC แล้ว ซึ่งนั่นแปลความได้โดยนัยว่าไทยยอมรับการขึ้นทะเบียนร่วมปราสาทพระวิหารกับกัมพูชา ซึ่งไม่ทราบว่ารัฐบาลไทยทราบหรือไม่

**เขมรเปิดให้ต่างชาติเข้าชม
ด้านนายปริญญา ศิริสารการ อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง กรณีทีมงานของคณะกรรมการมรดกโลก ที่มีนักการเมืองเข้าไปร่วมอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่แทบไม่มีนักวิชาการที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้อยู่เลย ซึ่งทำให้มีเรื่องผลประโยชน์เรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย
“น่าห่วงมากตรงที่ทีมที่ไปคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะทำได้มากแค่ไหน หรืออาจจะเป็นได้แค่แบบคุณปองพลที่คัดค้านไปอย่างนั้น และไม่ก่อให้เกิดอะไรขึ้นเลย ก็ห่วงว่าคุณสุวิทย์จะเป็นแบบนั้น รวมถึงนักการเมืองที่เข้ามามีบทบาทเรื่องมรดกโลก แต่พวกนี้ไม่มีความรู้ด้านนี้เลย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เฉพาะทางมาก”
นายปริญญายังแสดงความเป็นห่วงต่อการจะเดินทางไปพบปะนายฮอร์ นัม ฮง ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณในเร็วๆ นี้ด้วยว่า นายสุเทพอาจจะไม่ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีปราสาทพระวิหารมากพอ
“ผมเดินทางไปดูสถานการณ์ที่ปราสาทพระวิหาร พบว่าฝั่งไทยทหารไทยไม่ให้คนไทยขึ้นไปบนพื้นที่เขตทับซ้อนที่กำลังเป็นปัญหา แต่ฝั่งกัมพูชากลับเปิดให้นักท่องเที่ยวนานาชาติเข้าชมและเก็บเงิน ซึ่งผมขอเสนอให้รัฐบาลประกาศยกเลิก Joint Communiqu? อย่างเป็นทางการเพื่อให้นานาประเทศรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย”นายปริญญากล่าว
ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ออกแถลงการณ์โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังว่า การพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา จะกระทำได้ต่อเมื่อกัมพูชาได้ถอนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วเท่านั้น ส่วนปัญหาใดๆ ในเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ขอให้มีการเจรจาทำความเข้าใจระหว่างประเทศ ในระดับทวิภาคีเท่านั้น เช่น การประชุมกรรมาธิการเขตแดนร่วม( JBC) ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความบาดหมางหรือความรุนแรงใดๆ ระหว่างสองประเทศ
นอกจากนั้น ขอให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา(Joint Communique) เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 อย่างเป็นทางการ รวมทั้งแจ้งต่อยูเนสโกและประชาคมโลกให้รับทราบ รวมทั้งขอให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีป ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 (มาตรา 224) และพ.ศ. 2550 (มาตรา 190)

**”เทพเทือก”มั่นใจเคลียร์ฮุนเซนจบ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์กรณีที่จะเดินทางไปกัมพูชาว่า ความจริงได้มีนัดหมายกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาไว้ก่อนแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่นายกฯเดินทางไปกัมพูชาก่อนหน้านี้ แต่บังเอิญตนไม่สบายจึงไม่ได้เดินทางไปด้วย ครั้งนี้ก็ได้นัดหมายกันใหม่ โดยจะเดินทางไปวันที่ 27 มิ.ย.นี้ โดยเฉพาะเมื่อมีความเข้าใจผิดกันอยู่ ตนก็จะนำข้อเท็จจริงไปพูดคุยให้สมเด็จฮุนเซน รับทราบ
“เท่าที่ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับสมเด็จฮุนเซน ในระดับหนึ่ง ผมเห็นว่าท่านไม่ปรารถนาจะให้เกิดปัญหา เหมือนกับเราเช่นกัน เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน อยากจะร่วมมือกันมากกว่า ส่วนกรณีที่มีความเข้าใจผิดก็ต้องไปชี้แจงกัน ผมก็จะตั้งหลักว่าเรื่องที่เป็นข่าวอยู่นี้ มันไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลไทยกับยูเนสโก และกรรมการมรดกโลก และที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ เดินทางไปแสดงจุดยืนที่ยูเนสโก ก็ไปในฐานะที่เป็นกรรมการมรดกโลก ไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลไทย” รองนายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาความถึงเครียดตามแนวชายแดนขณะนี้อย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า เมื่อคุยกับสมเด็จฮุนเซน เสร็จก็ต้องดูว่าจะได้ผลอย่างไร ซึ่งยอมรับว่าคงมีความตรึงเครียดอยู่บ้าง โดยตนจะไปกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ทั้งนี้หลังการพูดคุย ตนตั้งความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น