xs
xsm
sm
md
lg

พบความมหัศจรรย์แพนด้าน้อยขนดำที่ขาขึ้นแค่เข่าคล้ายถุงเท้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ความมหัศจรรย์ "แพนด้าน้อย" ของไทยมีลักษณะพิเศษ พบขนสีดำขึ้นบริเวณขาหลังทั้งสองข้างตั้งแต่ปลายเท้าเถึงหัวเข่าดูคล้าย "สวมถุงเท้า" ซึ่งมีโอกาสพบน้อยมากในลูกแพนด้าทั่วไป ขณะเดียวกันปลื้มสุขภาพและพัฒนาการร่างกายยังดีอย่างต่อเนื่อง

วานนี้ (18 มิ.ย.) เวลาประมาณ 09.00 น.ที่สวนสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ทีมงานสัตวแพทย์โครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย พร้อมด้วยนายเว่ย หมิง ผู้เชี่ยวชาญแพนด้าจากจีน ได้ทำการแยกลูกแพนด้าออกจากแม่แพนด้า "หลินฮุ่ย" เพื่อทำการตรวจสุขภาพและติดตามพัฒนาการการเจริญเติบโต โดยได้ทำการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดและแยกลูกแพนด้านานประมาณ 1 ชั่วโมง จึงนำกลับไปคืนให้แม่แพนด้าตามเดิม
นายประเสริฐศักดิ์ บุญตระกูลพูนทวี หัวหน้าโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญแพนด้าจากจีนมีความพึงพอใจพัฒนาการการเติบโตของลูกแพนด้าตัวนี้เป็นอย่างมาก และยังระบุด้วยว่าลูกแพนด้าตัวนี้มีความพิเศษกว่าลูกแพนด้าทั่วไป ตรงที่มีขนสีดำขึ้นบริเวณขาหลังทั้งสองข้างตั้งแต่ปลายเท้าถึงหัวเข่าเท่านั้น มีลักษณะคล้ายสวมถุงเท้า ขณะที่ตามปกติลูกแพนด้าทั่วไปจะมีขนสีดำขึ้นตั้งแต่ปลายเท้าไปจนถึงโคนขา ซึ่งลักษณะดังกล่าวของลูกแพนด้าตัวนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นสิ่งพบได้น้อยมาก
นายประเสริฐศักดิ์เปิดเผยด้วยว่า ผลการตรวจสุขภาพลูกแพนด้ามีสุขภาพโดยรวมแข็งแรงสมบูรณ์ดี และยังมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง ชั่งน้ำหนักได้ 955 กรัม เพิ่มขึ้น 145 กรัม จากการตรวจสุขภาพครั้งก่อนเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.52 ที่ชั่งได้ 810 กรัม ซึ่งก่อนการตรวจสุขภาพครั้งนี้คาดว่าลูกแพนด้าน่าจะมีน้ำหนักถึง 1,000 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม แต่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะในช่วงที่มีการแยกออกมานั้น ลูกแพนด้ายังไม่ได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ส่วนความยาววัดได้ 29 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 3 เซนติเมตร
ลักษณะภายนอกของลูกแพนด้านั้น ขนแท้ที่มีลักษณะเป็นกำมะหยี่เริ่มขนดกเต็มตัวแล้ว ส่วนขนที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดซึ่งมีลักษณะยาวจะค่อยๆ ร่วงหลุดไป จนเหลือแต่ขนแท้ที่มีสีขาวและดำในที่สุด สำหรับเปลือกตาทั้งล่างและบนเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คาดว่าอีกไม่กี่วันน่าจะลืมตาได้แล้ว นอกจากนี้ ลูกแพนด้ามีการขยับตัวได้ดี และมีการใช้ขาหลังเกาตามลำตัวด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าลูกแพนด้าเริ่มรับรู้ความสึกทางผิวหนังได้ดียิ่งขึ้นแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น