xs
xsm
sm
md
lg

เชลล์ชดเชยผู้ประท้วงไนจีเรีย$ 15.5 ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี –รอยัล ดัตช์ เชลล์ กลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ๋สัญชาติอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ แถลงในวันจันทร์ (8) ว่า จะจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจำนวน 15.5 ล้านดอลลาร์ ให้แก่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกรัฐบาลไนจีเรียในอดีตสังหารและทำทารุณกรรมต่างๆ เพื่อยุติคดีฟ้องร้องที่เชลล์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว
“ในวันนี้ฝ่ายโจทก์และจำเลยสามารถตกลงกันได้ในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนที่บริษัทรอยัล ดัตช์ ปิโตรเลียม ถูกฟ้อง และเรารู้สึกพอใจที่ฝ่ายโจทก์จะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายสูงมาก” ทนายของฝ่ายโจทก์ระบุ
การตกลงกันของทั้งสองฝ่ายคราวนี้ เป็นการยุติกรณีขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ หลังจากที่ญาติๆ ของเคน ซาโร-วิวา นักเขียนชาวไนจีเรีย และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายคน ฟ้องร้องว่าเชลล์เกี่ยวข้องกับการที่ศาลทหารไนจีเรียตัดสินประหารชีวิตซาโร-วิวากับพรรคพวก ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงอย่างสันติวิธีต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโอโกนีในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์
ทว่า กลุ่มทนายด้านสิทธิมนุษยชนได้ไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยที่เชลล์และบริษัทน้ำมันอื่นๆ ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการที่รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงด้วย
ฝ่ายเชลล์ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่ก็ยอมจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้เชลล์ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนคดี ซึ่งอาจมีการเปิดเผยเรื่องราวที่ทำให้บริษัทต้องขายหน้ามากขึ้น
“เชลล์ขอยืนยันว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็นเท็จ” มัลคอล์ม บรินเด็ด กรรมการบริหารดูแลการสำรวจและผลิต ระบุในคำแถลง “อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชลล์ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เรายอมรับว่าฝ่ายโจทก์ได้รับความเดือดร้อน”
นอกจากนั้น เชลล์ยังได้เน้นย้ำถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็น “ท่าทีในเชิงมนุษยธรรม” ที่จะช่วยเหลือชาวโอโกนีด้วยว่า “ในขณะที่เราเตรียมการขึ้นศาลเพื่อรักษาชื่อเสียงของเรา แต่เราเชื่อว่าหนทางที่ถูกต้องต่อไปก็คือการให้ความสำคัญกับอนาคตของชาวโอโกนีด้วย”
“เราเชื่อว่าการตกลงจ่ายชดเชยค่าเสียหายจะช่วยให้เกิดกระบวนการปรองดองและสันติภาพในแผ่นดินของชาวโอโกนี ซึ่งเราถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก” บรินเด็ดกล่าว
เงินค่าเสียหายส่วนหนึ่งจะมอบให้แก่ผู้ฟ้องร้อง ส่วนที่เหลือจะนำเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือชาวโอโกนี และเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องคดี
ผู้ฟ้องร้องชาวไนจีเรีย ซึ่งมีนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนเป็นตัวแทน ได้นำรัฐบัญญัติ “Alien Tort Claims Act” ซึ่งเป็นกฎหมายของสหรัฐฯ ที่ออกตั้งแต่ปี 1789 มาใช้ในการเอาผิดกับบริษัทข้ามชาติในประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ คดีของเชลล์มีกำหนดเข้าสู่กระบวนการไต่สวนเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม แต่ได้มีการเลื่อนกำหนดออกไป โดยเชลล์ประกาศยอมจ่ายค่าเสียหายในวันจันทร์
มาร์โก ไซมอนส์ หนึ่งในทนายความฝ่ายโจทก์บอกว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็น “หลักหมายที่สำคัญมากทีเดียว” สำหรับงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน และแม้ว่าเงิน 15.5 ล้านดอลลาร์จะเป็นเงินเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณรวมของเชลล์ แต่ก็เป็นจำนวนสูงมากพอที่จะทำให้บริษัทอื่นๆ ที่เข้าไปพัวพันกับรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงจะต้องนำไปคิด
“เชลล์คงจะคิดแล้วว่า ทุกครั้งที่มีใครได้รับบาดเจ็บจากฝีมือของทหารในพื้นที่โครงการใดโครงการหนึ่งที่บริษัทเข้าไปสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ผู้บาดเจ็บแต่ละคนจะได้รับเงินชดเชยค่าเสียหาย 1 ล้านดอลลาร์” ไซมอนส์กล่าว
อนึ่ง คดีดังกล่าวยังช่วยปลุกให้พวกบริษัทข้ามชาติทั้งหลายรับรู้ว่าตนจะต้องร่วมรับผิดต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ไม่ว่าคดีจะเกิดขึ้นที่ใดในโลกก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น