พิษณุโลก “สุโขทัย”ฮิต เพาะลูก “นกหัวจุก”สร้างรายได้ ปั๊มลูกนกหายาก เซียนนกให้ราคาดี “นกสีโอวัลตินอ่อน-ตาแดง- สีหมอก” ขายตัวละร่วมแสน ล่าสุดคนสุโขทัยแห่เลี้ยง แถมสร้างกรงขายเป็นสินค้าพื้นบ้าน
“นกกรงหัวจุก”ที่คนใต้นิยมเลี้ยงกันมาก แม้ขึ้นทะเบียนนกคุ้มครองประเภทที่ 3 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 แต่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งเริ่มมีนักเลงนกกรงหัวจุก เลี้ยงอย่างจริงจัง กระทั่งจัดประกวด 30 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สารพัดเหตุผลที่นำมากล่าวอ้าง บ้างก็บอกว่า ทำให้สนุก ผ่อนคลาย บางคนเชื่อว่านำโชคลาภ เพราะเป็นนกที่สวยงาม ทั้งลีลา ท่าทาง น้ำเสียงฟังแล้วเพลิดเพลิน สามารถประชันเสียงและประกวดสี โดยเฉพาะนกที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนใคร และสีหายาก
นายเสกสรรค์ ไทยรุ่งโรจน์ (เฮียปิก) ที่ปรึกษาสมาพันธุ์นกกรงหัวจุกภาคเหนือ บอกกับ “ASTV ผู้จัดการรายวัน ”ว่า อาชีพหลักของเขาคือประดับยนต์และบริการรถตู้ให้เช่า หลายปีที่ผ่านมา เวลาว่างก็สนใจเลี้ยงนกกรงหัวจุก เรียนรู้ถึงขั้นผสมพันธุ์จนสำเร็จเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับ“สี”ที่สามารถเพาะผสมพันธุ์ได้ครั้งแรก คือ สีโอวัลตินเข้ม หรือโกโก้ ปีที่แล้ว ผสมได้สีโอวัลตินอ่อน และสีโอวัลตินอ่อน ตาแดงซึ่งเป็นสีที่หาได้ยาก ล่าสุดปีนี้ สามารถเพาะผสมพันธุ์ได้ สีหมอก ตั้งชื่อว่า “สงกรานต์” เพราะเกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสีที่หายาก มีผู้สนใจขอไปเลี้ยงร่วมแสนบาท
“ตอนแรกๆ ไม่มีใครเชื่อ ยิ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะปกตินกกรงหัวจุก ที่ผสมพันธุ์กันสำเร็จ จะได้แต่สีดำเท่านั้น ส่วนสีแฟนซี ในประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ใครสามารถเพาะผสมพันธุ์ได้ โดยเฉพาะในแถบเหนือล่าง หรือสุโขทัยก็ว่าได้ “ นายเสกสรรค์ กล่าวและว่า
ส่วนสีโอวัลตินอ่อน ราคาซื้อขายจะอยู่ที่นกละ 40,000 บาท สีโอวัลตินอ่อน ตาแดง 50,000 บาท และ สีหมอก 80,000-100,000 บาท ทั้งหมดเกิดจากการผสมที่นิ่งแล้ว ส่วนนกด่าง มีราคาซื้อขายกันตั้งแต่ 30,000-300,000 บาท เคยทดลองเพาะผสมพันธุ์แล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะออกมาเป็นสีดำหมด รวมทั้งนกหัวอินทรี ด้วย และนกเผือกตาแดง ซึ่งเป็นนกที่หายาก เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด มีราคาซื้อขายตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป
“เฮียปิก” เล่าอีกว่า ใครที่สนใจเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ต้องหาซื้อลูกนกที่มีการเพาะเลี้ยงมาก่อน ไม่ใช่นกป่า เพื่อทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ การเลี้ยงต้องใกล้เคียงธรรมชาติ มากที่สุด ป้อนเหยื่อลูกนก ต้องใช้อาหารนกขุนทองแช่น้ำป้อนให้กิน และกล้วยน้ำว้ากับมะละกอสลับกัน ห้ามเอาหนอนหรือแมลงป้อน จะทำให้ลูกนกตาย เพราะย่อยเองไม่ได้ ต้องรอให้โต
ปัจจุบัน สุโขทัย มีผู้สนใจหันมาเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันมากขึ้น กลายเป็นอาชีพเสริม เพราะยังมีอุปกรณ์ เช่น กรงนกที่ทำตู้ไม้โบราณ ซึ่งแพร่หลายมากในสุโขทัย จากเศษไม้สักที่เหลือจากการทำตู้ไม้โบราณสามารถพัฒนาเป็นสินค้าพื้นเมืองและของฝากแก่นักท่องเที่ยว
เขาบอกอีกว่า ที่ผ่านมาตนเองก็ได้ปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นกกรงหัวจุกกลับคืนสู่ธรรมชาติ บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง หรือ เขาหลวงสุโขทัยแล้ว จำนวนเกือบ 100 คู่ ช่วยอนุรักษ์นกกรงหัวจุก
สำหรับนกกรงหัวจุกมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “นกปรอดหัวโขนเคราแดง” ทางภาคเหนือเรียกว่า “นกพิชหลิว” ภาคกลางเรียก “นกปรอดหัวโขน” หรือ “นกปรอดหัวจุก