xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยววูบโรงแรมร้างส่อขายทิ้ง-ต่างชาติจ้องฮุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงแรมไทยวิกฤตหนัก คาดอัตราเข้าพักโลว์ซีซั่นปีนี้เหลือแค่ 10%  ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯอัตราเข้าพักวูบเกือบ 40%   เหตุไม่มียอดจองล่วงหน้า นักธุรกิจหยุดเดินทาง หวั่นติดโรคระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ 2009   นายก ทีเอชเอ ฉะมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรัฐอืด 3 เดือนยังกู้ไม่ได้ อ้างติดเงื่อนไข หวั่นสิ้นปีต้องขายกิจการให้เสือหิวอย่างสิงคโปร์และตะวันออกกลาง  ขู่ฟ้องรัฐเดือนหน้าเหตุยังไม่ควักกระเป๋าจ่ายชดเชยปิดสนามบิน

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า  สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยขณะนี้ถือว่าวิกฤตมากที่สุดในรอบ 40 ปี เนื่องจากอัตราการเข้าพักในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-เม.ย.) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26%  ซึ่งเป็นการลดลงในทิศทางเดียวกันกับของอุตสาหกรรมภาคอื่นๆ เช่น ส่งออก การเกษตร และ รถยนต์  
โดยคาดว่าในเดือนมิถุนายนซึ่งเข้าสู่ช่วงกรีนซีซั่น (โลว์ซีซั่น) อัตราเข้าพักโรงแรมในบางพื้นที่จะลดเหลือเพียง 10% เช่น โรงแรมที่กระบี่ และพังงา เป็นต้น  เพราะขณะนี้ไม่มียอดจองล่วงหน้าเลย  ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 30-40%  โดยเฉพาะรายที่มีลูกค้าหลักเป็นนักธุรกิจ จากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะติดลบมากถึง 30-40%
ปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนี้ มาจาก ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 บวกกับปัญหาของเดิมคือวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศ  ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง กลุ่มนักธุรกิจที่เคยเดินทางเพื่อเจรจาการค้า พอเศรษฐกิจไม่ดี แล้วมาเจอกับสถานการณ์โรคระบาดก็ยิ่งไม่เดินทางกันมากขึ้น เนื่องจากเกรงว่าเมื่อกลับไปยังประเทศของตนอาจถูกควบคุมตัว

คาดสิ้นปีขายทิ้งโรงแรม

นอกจากปัจจัยดังกล่าว ยังมีเรื่องของภาพลักษณ์ประเทศไทยในเรื่องของสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งจริง ทำให้หลายประเทศยังไม่มั่นใจและยังไม่ยกเลิกประกาศเตือนนักท่องเที่ยว  ซึ่งรัฐบาลต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและหาทางแก้ไขสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจ หากสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมยังเป็นเช่นนี้ต่อไปถึงสิ้นปีเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการคงแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว และคงต้องประกาศขายกิจการโรงแรมอย่างแน่นอน  ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศสนใจซื้อกิจการโรงแรมในไทยเริ่มสอบถามมายังสมาคมฯเพื่อขอข้อมูลบ้างแล้ว เช่น สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง  เพราะต้องการซื้อของดีราคาถูก
“ตอนนี้อัตราเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งประเทศอยู่ที่ 30-40% ซึ่งต่ำมากกและเดือนหน้าคาดว่าอัตราการเข้าพักโรงแรมจะต่ำกว่านี้อีก เพราะเป็นโลว์ซีซั่น หากสิ้นปีสถานการณ์ยังไม่พลิกฟื้นจะส่งผลให้ภาพรวมอัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยทั้งปีได้ไม่เกิน 50% ก็คงต้องมีเจ้าของโรงแรมประกาศขายกิจการแน่  ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาอัตราเข้าพักเฉลี่ย 60-65% ผู้ประกอบการจึงจะสามารถอยู่ได้”

ฉะโครงการเงินกู้ชีพท่องเที่ยวอืด

นายประกิจ กล่าวอีกว่า  หลายมาตรการที่ทางสมาคมโรงแรมและภาคเอกชนด้านท่องเที่ยวเสนอขอให้รัฐบาลช่วยเหลือยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม ที่สำคัญที่สุดคือโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย(เอสเอ็มอี) วงเงินปล่อยกู้ 5,000 ล้านบาท  ในที่นี้จะเป็นโควต้าของสมาคมโรงแรมไทย 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่จะปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์แต่ติดที่มีเงื่อนไขมาก .
ในขณะนั้น สมาคมฯได้ส่งรายชื่อผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์พิจารณาไปแล้ว  45 ราย รวมวงเงินขอกู้ 1,532 ล้านบาท แต่เมื่อมาเปลี่ยนเป็นให้กู้ผ่านธนาคารเอสเอ็มอี เพื่อจะได้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้ได้นั้น ล่าสุดมีผู้ผ่านเกณฑ์พิจารณาเพียง  16 ราย รวมวงเงินขอกู้ 80 ล้านบาท เท่ากับว่ามีผู้ประกอบการได้สิทธิ์น้อยลงและยังต้องเสียเวลามากขึ้น
โดยสมาคมฯได้ส่งเรื่อไปยังธนาคารเอสเอ็มอีแล้ว คงต้องรอดูว่าจะได้รับเงินภายใน 15 วันหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ได้ก็คงต้องส่งหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
“เราเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากว่า 3 เดือนแล้ว เพราะธุรกิจเราแย่จริงๆทุกคนกำลังจะจมน้ำตายอยู่แล้ว แต่จนบัดนี้ผู้ประกอบการก็ยังไม่สามารถกู้เงินดังกล่าวมาใช้ได้แล้วใครจะทนไหวถ้านานกว่านี้ก็จนน้ำตายแล้วแน่นอน”

ขู่ฟ้องรัฐฐานเบิกเงินไม่ได้

นอกจากนั้นในประเด็นของเงินช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินเมื่อปลายปีที่ผ่านมา  ที่รัฐบาลแจ้งให้โรงแรมให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ติดค้าง  ระบุว่าจะจ่ายเงินให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นค่าที่พักและอาหารรายละ 2,000 บาทต่อวัน โดยไม่มีเงื่อนไข  แต่จนถึงขณะนี้ผู้ประกอบการโรงแรมโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคใต้ยังเบิกเงินดังกล่าวจากรัฐบาลไม่ได้  อ้างว่าไม่ถูกเงื่อนไข โดยยังติดค้างอยู่อีกราว 14 ล้านบาทจากวงเงินที่ส่งเบิกทั้งหมดกว่า 100 ล้านบาท   
แม้จะเป็นเงินไม่มาก แต่ก็มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการ เพราะจะได้นำไปใช้เสริมสภาพคล่องในยามที่ธุรกิจย่ำแย่  ซึ่งทางสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ได้ให้เวลาแก่กระทรวงการคลังถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ จากนั้นจะทำหนังสือทวงถามอีกครั้งพร้อมขีดเส้นตายว่าต้องจ่ายภายในวันที่ 15 มิ.ย.52 ถ้าไม่ได้ก็จะยื่นฟ้องรัฐบาล

ตลาดท่องเที่ยวไทยแย่

สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในปี 2552 มีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะต้องเผชิญกับตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 รวมทั้งหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา ตลอดจนการระบาดของโรคซาร์สในภูมิภาคเอเชีย และวิกฤตสึนามิ
เพราะนอกจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในแถบอเมริกาเหนือที่แพร่กระจายไปในภูมิภาคต่างๆแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังคงไม่นิ่งด้วย ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจากเหตุการณ์จลาจลในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาและวิกฤตไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปี 2552 มีแนวโน้มถดถอยลงจากปี 2551 รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทยในปี 2552 จะมีจำนวนประมาณ 11-12 ล้านคน ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปี 2551 และรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงเหลือเพียง 380,000-400,000 ล้านบาท ลดลง 25% เมื่อเทียบกับปี 2551 ทั้งนี้อาจจะต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย
ดังนั้น ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งปรับตัว นอกเหนือจากการลดแลกแจกแถม และการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อรักษาเงินหมุนเวียนที่มีอยู่ให้ได้นานที่สุด โดยผู้ประกอบการควรเร่งนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวแนวใหม่ๆเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะการปรับแผนการตลาดที่หันมาเน้นคนไทยและกลุ่มคนต่างชาติที่ทำงานในไทยมากขึ้น และสร้างโอกาสในการขยายตลาดโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเพื่อการแต่งงาน/ฮันนีมูน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเพื่อการผจญภัย เป็นต้น
เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่กิจกรรมในการเดินทาง สถานที่การท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และแหล่งช้อปปิ้ง ที่มีให้เลือกในรูปแบบที่หลากหลายแล้ว ยังเป็นแนวทางในการนำเสนอสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันออกไปได้อย่างเหมาะสมด้วย ขณะเดียวกันยังเป็นทางเลือกใหม่ๆที่น่าจะสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคในยุคที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติต่างหันมาเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาได้บ้างพอสมควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการถดถอยของจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย บวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ได้ส่งผลกระทบต่อการเข้าพักในโรงแรมตามเมืองท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณห้องว่างในแต่ละโรงแรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผลจากการเร่งลงทุนโครงการโรงแรมจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ปัจจุบันปริมาณห้องพักมีมากเกินความต้องการ(โอเวอร์ซัพพลาย) เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น ขณะที่นักลงทุนได้ตัดสินใจชะลอการลงทุนโครงการโรงแรมใหม่ออกไป เนื่องจากภาพรวมทางเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน
"ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดว่า ทุนนอกจะเข้ามาไล่ซื้อโรงแรมในไทย แต่ในเร็วๆนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ ตอนนี้คงมีแต่นักลงทุนในไทยที่อาจจะใช้โอกาสช่วงนี้ ไล่ซื้อโรงแรม เช่น กลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มีการซื้อโรงแรมในต่างจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง "
กำลังโหลดความคิดเห็น