เชียงราย – พันธมิตรฯเมืองพ่อขุนฯเวียนถกแถลงหาข้อสรุปทิศทางการตั้งพรรคพันธมิตรฯต่อเนื่อง เตรียมนำผลเสนอต่อเวทีใหญ่ 24-25 พ.ค. เผยส่วนใหญ่เห็นด้วยแผนตั้งพรรคพันธมิตรฯ แต่บางส่วนแนะให้รอความพร้อม หลัง “ระบอบทักษิณ” ฝังรากลึกในพื้นที่เหนือ-อีสาน หวั่นทำให้ทำงานการเมืองลำบาก
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า ในช่วงสัปดาห์นี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในพื้นที่เชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่รวมตัวกันอยู่ในเขต อ.เมือง และ อ.แม่สาย ได้มีการปรึกษาหารือกันหลายรอบเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง และความจำเป็นในการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่ม พธม.ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ในวันที่ 24-25 พฤษภาคมที่เขตรังสิต กรุงเทพฯ
การหารือเป็นไปอย่างออกรสชาติ เพราะมีความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งในเรื่องสถานการณ์ในภาพรวม และประเมินสถานการณ์ในพื้นที่เชียงราย
นายผ้าง พลชัย เจ้าของคลื่นวิทยุชุมชนห้วยไคร้ ความถี่เอฟเอ็ม 105.5 เมกะเฮิรตซ์ ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย แกนนำกลุ่ม พันธมิตรฯใน จ.เชียงราย กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเรามีการประชุมหารือกันแล้ว 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมครั้งละ 30-40 คน ซึ่งผลการประชุมที่ได้แตกต่างกันแต่ก็เป็นสีสันที่ดีอย่างยิ่ง โดยกลุ่มพันธมิตรฯในเขต อ.เมือง เห็นด้วยที่พันธมิตรฯจะมีการจัดตั้งพรรคการเมือง เพราะเห็นว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว
นายผ้าง กล่าวอีกว่า สำหรับความเห็นของกลุ่มพันธมิตรฯที่ อ.แม่สาย เห็นด้วยในภาพรวม แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งพรรคในช่วงนี้เพราะในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย หรือส่วนใหญ่ของภาคเหนือยังไม่มีความพร้อมหากมีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น เพราะฐานเสียงของพรรคการเมืองในระบอบทักษิณยังคงแน่นหนาขณะที่ประชาชนก็ยังคงนิยมใน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้การจัดหาตัวแทนของพรรคการเมืองใหม่เพื่อไปเป็นตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎร หรือมีคนหาเสียงหรือทีมงานแทบเป็นไปไม่ได้ กระนั้นในภาพรวมแล้วพวกเราเห็นด้วยแต่ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเตรียมตัวในพื้นที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน
นายผ้าง กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม พวกเราก็จะยังมีการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการนัดประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นว่าเราจะเคลื่อนไหวในลักษณะนี้โดยไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนคนเสื้อแดง แต่จะเน้นเรื่องการขยายองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปยังหมู่บ้านประชาชนระดับต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือกันเองในเรื่องที่จำเป็นเกี่ยวกับกิจกรรมมากกว่า
"ตัวอย่างกรณีผมเองเมื่อราววันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา เกิดลมพายุพัดหนักจนทำให้เสาวิทยุชุมชนห้วยไคร้เสียหายไม่สามารถถ่ายทอดเอเอสทีวีได้กว่า 2-3 สัปดาห์ จนทำให้ผมคิดจะเลิกไปแล้วเพราะไม่มีกำลังทรัพย์แต่กลุ่มพวกเราเห็นเหตุการณ์ก็มารวมตัวกันช่วยเหลือด้วยการบริจาค บางคนบริจาค 100 บาทก็มี จนมีทุนช่วยกันซ่อมแซมเสาอากาศจนสามารถถ่ายทอดได้ตามปกติจนถึงปัจจุบัน" นายผ้างกล่าว และว่า ตัวอย่างนี้ตนอยากให้นำไปขยายต่อยังชุมชนต่างๆ เพื่อขยายองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปสู่สังคมไทยต่อไป