xs
xsm
sm
md
lg

คลังถังแตก! นายกฯ มือใหม่ หัวใจอยู่ที่ใคร?

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

ฟังคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 พ.ค.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ตลอดจนเหตุผลในการรีดภาษีบาป เหล้า-บุหรี่ และอาจจะรวมถึงภาษีประเภทอื่นๆ อาทิ น้ำมัน ที่จะตามมาแล้วอยากจะเชื่อมั่นประเทศไทย อยากจะเชื่อมั่นนายกฯ ตามชื่อรายการที่เชิญชวน ทว่า ...

สิ่งที่นายกฯ อภิสิทธิ์เพียรอธิบายดูเป็นตรรกะที่ฟังรื่นหูก็จริง แต่ฟังไปฟังมาก็ให้นึกถึงคำพูดประเภทหนึ่งที่พูดเมื่อไหร่ก็ใช่ เมื่อไหร่ก็ถูก เข้าทำนองพูดอีกก็ถูกอีก

อย่างกรณีเรื่องขึ้นภาษีท่านบอกว่า “สิ่งที่เราคิดว่าเป็นฐานภาษีที่จำเป็นที่จะต้องมีการปรับ ก็มุ่งไปในเรื่องของภาษีบาป นั่นคือเรื่องของเหล้ากับบุหรี่ นอกจากจะเป็นการเอื้อต่อการที่เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังสอดคล้องกับแนวนโยบายทางด้านสาธารณสุข ในแง่สุขภาพของคนไทย ถ้าเราจัดเก็บภาษีเรื่องเหล้า เรื่องบุหรี่ เพิ่มขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยในการปรับพฤติกรรมของประชาชนที่ยังสูบบุหรี่ ที่ยังดื่มเหล้าอยู่ด้วย”

แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน รัฐบาลใด เมื่อรายได้ของรัฐเก็บไม่ได้ตามเป้าหมาย มาตรการ “รีดภาษี” หรือ “ถอนขนห่าน” ก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกแรกเสมอที่จะต้องถูกงัดออกมาใช้

และแน่นอนอีกเช่นกันว่า การรีดภาษีบาปเป็นมาตรการซึ่งจะทำให้รัฐบาลได้เงินมาเร็วและมหาศาล โดยอยู่ภายใต้ความเชื่อที่ว่า มาตรการเช่นนี้ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ยกเว้นคอเหล้าและสิงห์อมควัน ที่เป็นคนบาปของสังคม

เรื่องเหล้า บุหรี่ และสุขภาพนี้ให้ถามร้อยคนก็จะตอบกลับมาร้อยคนว่าเห็นด้วย ไม่มีเหตุผลอะไรไม่เชื่อมั่นประเทศไทยและนายกฯ ในประเด็นนี้ เพียงแต่นัยของความไม่เชื่อมั่นที่มองอยู่ที่ “วิธีคิด-วิธีจัดการ” ของรัฐบาลต่างหาก

วิธีคิดแบบที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา ไม่ได้แสดงออกให้เห็นซึ่งความต่างและหนีให้ไกลจากวังวนเก่าๆ ที่เอาแต่มองและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

กล่าวคือ พอเงินขาดมือก็เร่งรีบรีดภาษี เหล้า บุหรี่ น้ำมันอยู่แค่นี้ ไม่เตรียมพร้อมและพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งรัฐบาลและประชาชนให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่เสียที

สิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นคืออะไรบ้าง ก็เช่น การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ การปรับปรุงฐานข้อมูลเรื่องภาษีที่จะทำให้ทันสมัย ภาษีรั่วไหลน้อยที่สุดเพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ทั้งต่อธุรกิจและประชาชน

อย่างเช่น “ภาษีบาป” พูดกันตามความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ได้มีแค่เรื่อง เหล้า-บุหรี่ ถามว่าแล้ว อาบ อบ นวด ล่ะ ผับ บาร์ สถานบันเทิงประเภทคาวโลกีย์อื่นๆ อีกมากมายล่ะ รัฐบาลจะทำอย่างไร? หรือรัฐบาลไม่กล้าไปแตะสิ่งพวกนี้ เพราะปัจจุบันสิ่งที่สถานบันเทิงคาวโลกีย์เหล่านี้จ่ายนอกจากภาษีในระบบแล้ว ก็ยังมีภาษีนอกระบบที่จ่ายให้กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และนักการเมืองด้วย ใช่หรือไม่?

ส่วนกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่ประพฤติตัวเป็นเด็กดี ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการปรับโครงสร้างภาษีหรือลดหย่อนภาษี ส่งเสริมอัตราภาษีให้พวกเขาอยู่รอดปลอดภัย สามารถที่จะฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่?

รัฐบาลควรที่จะเร่งทำเรื่องเหล่านี้ควบคู่กันไปกับการรีดภาษีเฉพาะหน้า และ ควรส่งสัญญาณและพูดออกมาบ้างว่า เราๆ ท่านๆ ที่เป็นประชาชนจะได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้างจาก ‘ภาษี’ ที่ต้องเสียบำรุงรัฐ และบำรุงกระเป๋านักการเมืองทุกๆ ปี

ต้องไม่ลืมว่าในสภาวะที่เศรษฐกิจเลวร้ายเช่นปัจจุบัน หากรัฐบาลแสดงออกถึงการดูแลประชาชนของตนเองด้วยมาตรการภาษีอย่างเต็มที่ ความเชื่อมั่นจะหลั่งไหลให้รัฐบาลโดยไม่ต้องร้องขอ มิใช่พอถึงรอบปีชำระภาษีก็เร่งรัดประชาชนตาดำๆ หรือธุรกิจสุจริตให้พากันเสียภาษีตามกฎหมาย ขณะที่ละเลยปล่อยให้มหาเศรษฐีและบริษัทยักษ์ใหญ่เลี่ยงภาษีอย่างสบาย

สอง กับคำพูดของนายกฯ ที่บอกว่า “ในวันที่เข้ามารับตำแหน่ง เวลาของปีงบประมาณผ่านไปเพียง 3 เดือน ก็มีการประเมินว่า การจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าเป้าไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท และเมื่อมาเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในทางการเมืองด้วย หลังจากที่เราได้ดูตัวเลขในช่วงต้นปีในทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ก็มีการคาดการณ์กันว่าการจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าเป้าถึง 2 แสนล้านบาทขึ้นไป ตรงนี้ก็ย่อมมีผลกระทบกับการบริหารจัดการทางด้านการเงินการคลังของรัฐบาล”

คำพูดเช่นนี้แปลว่าอะไร? แปลว่าเดิมรัฐบาลคาดว่าจะเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 1 แสนล้านแต่แวบเดียวห่างกันไม่ถึงเดือน ก็มาบอกว่ารายได้น่าจะขาดเพิ่มถึง 2 แสนล้านนี่จึงเป็นเหตุให้ต้องตาลีตาเหลือกขึ้นภาษีบาปและน้ำมันอย่างที่เป็น ตรงนี้เหมือนคุณอภิสิทธิ์จะยอมรับกลายๆ ว่ารัฐบาลประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจผิดพลาด

คนเมื่อตัดสินใจอะไรพลาดแล้วพลาดอีก ความเชื่อมั่นย่อมลดลง ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐบาลไหนๆ ในโลกนี้ก็เช่นกัน การประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะหากนับย้อนไปในอดีต ทั้งเรื่องปัญหาการเมือง ทักษิณ-เสื้อแดง ความล้มเหลวอย่างน่าอับอายที่สุดในการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา ที่ส่งผลเสียใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนในภาพรวม ความพยายามจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือนักโกงเมืองและยืดอายุรัฐบาล ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากการประเมินที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของท่านไม่ใช่หรือ?

กระนั้น ผมเชื่อว่าด้วยช่วงเวลาที่เหลืออยู่ รัฐบาลของท่านยังมีเวลามากพอที่จะพิสูจน์และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนได้หากกล้าจะที่เปลี่ยนแปลงตนเอง

พูดถึงการเปลี่ยนแปลง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ติดตามดูหนังซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง “CHANGE” กำลังเป็นที่กล่าวขวัญอยู่ในบ้านเมืองตอนนี้ ผมถามท่านว่า หาก “อาซากุระ เคตะ” ได้ชื่อว่า นายกฯ มือใหม่ หัวใจประชาชน แล้ว 5 เดือนกว่าๆ ในตำแหน่งของคุณอภิสิทธิ์ “นายกฯ มือใหม่ของเรา” หัวใจของท่านอยู่ที่ประชาชนหรือใครกันแน่?

กำลังโหลดความคิดเห็น