xs
xsm
sm
md
lg

วิกิพีเดียมึนแก้ระบอบปกครองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนมือบอนเปลี่ยนข้อมูลประเทศไทยในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุปกครองใน “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชี้ระบอบนี้ไม่มีในสารบบ โดยคนเขียนอาจเข้าใจผิด หรือจงใจทำให้คนสับสน

วานนี้ (6 พ.ค.) ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ได้ตรวจสอบพบว่า ในเว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ภาคภาษาไทย ได้มีผู้แก้ไขข้อมูลประเทศของประเทศไทยให้มีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็น จริง โดยระบุว่าระบอบการปกครองของประเทศไทยคือ “ระบอบราชาธิปไตย”

“ประเทศไทยปกครองใน ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งตามความใน มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เว็บไซต์วิกิพีเดียภาคภาษาไทยระบุ พร้อมอ้างอิงด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวมาจาก เว็บไซต์ของซีไอเอ และ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบไปยัง 2 เว็บไซต์ที่ถูกอ้างอิง และข้อมูลประเทศไทยในเว็บไซต์วิกิพีเดีย ภาคภาษาอังกฤษ ก็พบว่า เว็บไซต์ทั้ง 3 แห่งต่างระบุตรงกันว่าประเทศไทยปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional Monarchy) มิใช่ ระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) อย่างที่เว็บไซต์ดังกล่าวอ้าง ส่วนมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ระบุชัดเจนว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ขณะที่เมื่อมีการตรวจสอบต่อไปยังบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับ “ประเทศไทยในหน้าเว็บไซต์วิกิพีเดีย ภาคภาษาไทย” ก็พบว่า เพิ่งมีการแก้ไขล่าสุดเมื่อเวลา 09.20 น.วานนี้ (6 พ.ค.) นี่เอง

นักวิชาการชี้ไม่มี'ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ'

นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอาวุโสด้านรัฐศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” นั้นไม่มีในสารบบและคงเป็นความเข้าใจผิดของคนเขียน คนแปล หรืออาจจะเป็นความจงใจสร้างความเข้าใจผิดโดยคนบางคนมากกว่า

“จริงๆ เรื่องนี้อาจเป็นความไม่รู้ หรือรู้แต่อยากจะทำให้สังคมสับสน เพราะคำว่า ‘ราชาธิปไตย’ โดยความหมาย คือ อธิปไตยอยู่ภายใต้พระราชา อย่างเช่น ประเทศบรูไน ซาอุดีอาระเบีย และประเทศในตะวันออกกลางบางประเทศ เป็นระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ แต่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งในปวงชนนั้นพระเจ้าแผ่นดินเป็นส่วนหนึ่งด้วย” ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์กล่าว

พร้อมกันนั้น นายปราโมทย์ยังกล่าวด้วยว่า ระบอบราชาธิปไตย และ ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากอันแรกเป็นระบบเผด็จการ โดยอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช้หลักนิติรัฐ (Rule of Law) แต่ระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นเป็นระบบรัฐสภา โดยแต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน ประชาชนมีสิทธิขั้นมูลฐานและมีสิทธิเสรีภาพต่างๆ ซึ่งไม่ขัดกันกับหลักประชาธิปไตย

“อย่างไรก็ตาม ในเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประมุขก็มีสิทธิพิเศษที่ได้รับการคุ้มครองตาม กฎหมายเฉพาะ ขณะที่ประชาชนนั้นได้รับการคุ้มครองโดยหลักกฎหมายใหญ่ แต่การได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเฉพาะก็ไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ จะละเมิดสิทธิของประชาชนได้ตามอำเภอใจ ส่วนกรณีที่คนไทยบางคนอ้างฝรั่งอย่างผิดๆ อย่างเช่น ที่บอกว่า กฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นเรื่องล้าสมัย ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ก็มีกฎหมายทำนองนี้เช่นกัน” นายปราโมทย์ไขข้อสงสัย

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากเรื่องนี้เป็นความจงใจที่จะสร้างความเข้าใจผิด หรือ พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง ต้นเหตุหนึ่งก็คงเกิดจากความความไม่รู้ของชาวต่างชาติที่ไม่พยายามทำความ เข้าใจกับระบบในประเทศอื่น และ สอง คนไทยบางส่วนก็อ้างฝรั่งอย่างผิดๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนบางส่วนที่ติดใจสถาบันฯ จากเหตุการณ์บ้านเมืองในอดีต

สำหรับเว็บไซต์วิกิพีเดีย (Wikipedia) เป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2544 โดย จิมมี เวลส์ และ แลร์รี แซงเจอร์ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2544 ปัจจุบันบริหารงานโดยองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรชื่อ มูลนิธิวิกิมีเดีย (Wikimedia Foundation) โดยคำว่า “วิกิพีเดีย” มีที่มาของชื่อการผสมคำของคำว่า “วิกิ” ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างเว็บไซต์ที่ร่วมกันปรับปรุง และคำว่า “เอนไซโคลพีเดีย” ที่แปลว่าสารานุกรม โดยในปัจจุบันวิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่และเติบโตเร็ว ที่สุดในโลก และเป็นเว็บไซต์ติดอันดับ 1 ใน 10 เว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก

ในส่วนของข้อมูลภาษาไทย ณ วันที่ 6 พ.ค.52 วิกิพีเดียภาษาไทยมีบทความทั้งสิ้นรวม 45,919 บทความ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้ตั้งข้อสงสัยและให้ความกังขาเกี่ยวกับเนื้อหาของ วิกิพีเดียว่า มีความถูกต้องและมีคุณภาพมากแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าโครงการนี้เรียกตัวเองว่าเป็น “สารานุกรม” แต่กลับเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถแก้ไข-ต่อเติมเนื้อหาได้โดยอิสระ
กำลังโหลดความคิดเห็น