xs
xsm
sm
md
lg

แก้รัฐธรรมนูญ อย่าทำลายนิติธรรม

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

...ถ้าพรรคการเมืองดังกล่าว ดำเนินกิจการพรรคการเมืองของตนโดยไม่ต่างจากกิจการรถเมล์ คือ หากใครมีเงินจ่ายค่าโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือเป็นโจรผู้ร้ายแอบแฝงตัวมา ก็พร้อมจะบริการ รับขึ้นรถได้ตลอดเวลา โดยไม่สนใจจะตรวจสอบจุดยืน ความคิดอ่าน หรือแม้แต่เป้าหมายปลายทางของคนเหล่านั้น พรรครถเมล์ดังกล่าวจะไหลลื่น แฉลบออกนอกวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไปไกลเพียงใด”
 
--------------------------------------------------
ขณะนี้ นักการเมืองบางกลุ่มบางพรรค กำลังขมีขมัน เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 หลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ใช้บังคับกับนักการเมืองโดยตรง

ก่อนหน้านี้ นักการเมืองจำนวนหนึ่งได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ห้ามเข้ามาเล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี (ห้ามเข้ามาทำงานสาธารณะด้านการเมือง) จากผลแห่งการกระทำความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา, นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา, นายประภัตร โพธสุธน, นายจองชัย เที่ยงธรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, นายเนวิน ชิดชอบ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายยงยุทธ ติยะไพรัช, นายสมัคร สุนทรเวช, นายไชยา สะสมทรัพย์,นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์, นายสุวิทย์ คุณกิตติ, นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นายนพดล ปัทมะ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายประชา มาลีนนท์, นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นต้น ก็คือ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญร้ายแรง กระทั่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งชั่วคราวนั่นเอง

แม้อดีตกรรมการบริหารพรรคบางส่วนจะเคารพกติกา ยอมรับคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ยินยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของศาล โดยยุติบทบาททางการเมืองของตนโดยดี แต่บางส่วนกลับทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับคำชี้ขาดของอำนาจตุลาการ และปัจจุบัน ถึงกับแสดงออกโดยเปิดเผยที่จะให้ ส.ส.ที่อยู่ภายใต้อาณัติของตนกระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และให้มีการนิรโทษกรรมแก่พวกตนในที่สุด

ในภาวะปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของบ้านเมืองยามนี้ ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเอือมระอากับพฤติกรรมที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์พวกตนของนักการเมืองอย่างที่สุด

นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อสารมวลชน หรือแม้แต่คนที่สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารการเมือง ผู้ไม่ได้มีส่วนได้เสียโดยตรง ต่างยอมรับไม่ได้ และวิพากษ์วิจารณ์การจะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 อย่างรุนแรง

อาจารย์วัชรา หงส์ประภัศร เป็นนักกฎหมายฝีมือดี ผู้มีคุณธรรม อดีต ส.ส.ร.2550 ได้เขียนบทวิเคราะห์ แสดงความคิดเห็นส่งมาให้ความรู้แก่ผม ผมเห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจ ช่วยให้เข้าใจที่มาที่ไป และมูลเหตุแห่งปัญหาบางส่วนได้ดี จึงขอนำบางตอนมาเรียบเรียงถ่ายทอดต่อ ดังนี้

...................

“มาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กระทบความรู้สึกของคนบางคน จนกระทั่งทนไม่ได้ที่จะให้บทบัญญัติมาตรานี้คงอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนที่เราชนชาวไทยจะวิพากษ์วิจารณ์หรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะคงเอาไว้หรือแก้ไขตัดรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวออกไป ควรทำความรู้จักกับบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน

มาตรานี้ มี 2 ส่วนหรือ 2 วรรค

วรรคแรก กล่าวถึงว่า ผู้สมัคร ส.ส.หรือ ส.ว..ผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ผู้ใดโกงการเลือกตั้ง” ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ ส.ส.หรือ ส.ว.ผู้นั้น

และวรรค 2 กล่าวถึงว่า ถ้าผู้สมัคร ส.ส.หรือ ส.ว.ผู้ใดกระทำการตามตามวรรคหนึ่งนั้น ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้น คือ “การโกงการเลือกตั้ง” แล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการ “โกงการเลือกตั้ง” เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

สำหรับวรรคแรกของ มาตรา 237 การที่ “ผู้โกงการเลือกตั้ง” จะรับผลของการกระทำ ไม่มีปัญหาอะไร ทุกๆ ฝ่ายยอมรับได้ แต่สำหรับวรรค 2 ที่ให้หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับผิดในการกระทำของ ส.ส.ในพรรคด้วยนั้น ถูกโต้แย้งคัดค้านมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรรมการบริหารพรรคการเมืองหลายพรรค ที่จะต้องรับโทษทัณฑ์หรือมีความผิดไปด้วย โดยที่ตนไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำ แต่รู้เห็นหรือไม่เอาใจใส่ปล่อยให้มี “การโกงการเลือกตั้ง”เกิดขึ้น

ซึ่งความจริง แม้หัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคเองไม่ได้ “โกงการเลือกตั้ง” แต่ (1)มีส่วนรู้เห็น หรือ (2)ปล่อยปละละเลย หรือ (3)ทราบถึงการกระทำ “การโกงการเลือกตั้ง” แต่ไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไข ก็เท่าๆกับว่า หัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ได้ร่วมกระทำ ซึ่งตามหลักกฎหมายทั่วไปเรียกว่า เป็น “ตัวการ” หรืออย่างน้อยก็เป็น “ผู้สนับสนุน” การกระทำ ซึ่ง“การโกงการเลือกตั้ง”

การเอาผิดแก่ผู้สมัคร ส.ส. หรือ ส.ส.ผู้โกงการเลือกตั้ง หรือผู้สนับสนุนผู้โกงการเลือกตั้ง ถือว่า เป็นการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ส่วนการปล่อยให้มีการโกงการเลือกตั้ง การสนับสนุนการโกงการเลือกตั้ง โดยไม่เอาผิดใดๆ ต่อการโกงการเลือกตั้ง เป็นการไม่รักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรม

มาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติให้ ส.ส.ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย หรืออำนาจในการปกครองประเทศ ทางรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม (the legal justice principle)

การโกงการเลือกตั้ง ไม่ใช่หนทางที่ ส.ส.จะสนับสนุน เพราะไม่ใช่แนวทางนิติธรรม

ผลของ “การโกงการเลือกตั้ง” ก็ต้องถูกบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 237 วรรค 2 อันเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาไว้

การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 237 วรรค 2 จึงเป็นการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนหลักนิติธรรม .. เป็นการสนับสนุน บุคคลให้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นการต้องห้ามมิให้กระทำ”

..............

ผมมีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้

1) ข้อพึงตระหนักเป็นสำคัญ คือ มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีไว้ใช้บังคับกับนักการเมืองที่อาสาตัวเข้ามาทำงานสาธารณะ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของส่วนรวม

จึงวางมาตรการป้องกันนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ไม่สุจริต มิให้เข้ามามีอำนาจรัฐ

ได้วางบทลงโทษรุนแรง สำหรับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อป้องปราม และบังคับให้กรรมการบริหารพรรคต้องทำหน้าที่สอดส่องดูแล ป้องกัน แก้ไข มิให้นักการเมืองในสังกัดพรรคของตนไปทำการทุจริตเลือกตั้งโดยเด็ดขาด

เหมือนกับที่กฎหมายให้เจ้าของกิจการสถานบันเทิงต้องร่วมรับผิดชอบ หากปล่อยปละละเลยให้ลูกค้านำยาเสพติดเข้ามาในสถานบริการของตนเอง หรือแม้แต่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ตามกฎหมายเข้ามาก็ไม่ได้ เจ้าของกิจการก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ทำให้เจ้าของต้องตรวจตราเข้มงวด เพราะจะอ้างว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นไม่ได้เด็ดขาด

เหมือนกับที่กฎหมายบังคับให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องรับผิดชอบดูแลสัตว์เลี้ยงของตน มิให้ไปทำร้าย หรือทำความเสียหาย ทำสกปรกเลอะเทอะแก่ส่วนรวม หากเจ้าของปล่อยปละละเลย ไม่ดูแล เจ้าของก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของสัตว์เลี้ยงของตนโดยไม่สามารถหลบเลี่ยงได้เช่นกัน

หลักการเรื่องความรับผิดชอบร่วมเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในระบบกฎหมายไทยแต่ประการใด

2) เมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2550 บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย และองค์กรต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเนื้อหาและแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

แต่ไม่ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่กำลังพยายามจะแก้ไขลบล้างบทบัญญัติมาตรา 237 อยู่ในขณะนี้ จะได้เคยแสดงความคิดเห็นคัดค้าน ทักท้วงบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมาก่อน จนกระทั่งนักการเมืองและพรรคการเมืองของตนกระทำผิดกฎหมาย ถูกพิพากษาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว ในภายหลัง จึงได้ปรากฏว่ามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังผลให้มีการลบล้างความผิดที่พวกตนถูกตัดสินไปแล้วตามบทบัญญัติดังกล่าว

กรณีจึงมิใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสุจริตใจ หรือโดยปราศจากการมีผลประโยชน์ส่วนได้เสียของตนและพวกพ้อง แต่เป็นการจงใจใช้อำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ของตนและพรรคพวก หรือล้มล้างอำนาจตุลาการ ลบล้างความผิดของตนและพวก ซึ่งไม่น่าจะกระทำได้

3) กรณีผู้ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 บางคน พยายามกล่าวอ้างเพื่อชี้นำว่า บทบัญญัติมาตรานี้ ไม่เป็นธรรม เพราะเปรียบเสมือนการเอาผิดยกเข่งยกครัว เปรียบเทียบว่าลูกไปกระทำผิดฆ่าคนตาย คนเป็นพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวเดียวกันจะต้องร่วมรับผิดไปด้วย กระนั้นหรือ ?

อุปมานี้ เป็นกลลวงที่ผิดตั้งแต่ต้น

ประการแรก การเอาผิดตามมาตรา 237 มิใช่ความผิดอาญา (ไม่เหมือนการฆ่าคนตาย) มิใช่การลงโทษจำคุกหรือประหารชีวิต แต่เป็นเพียงการห้ามมิให้บุคคลเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี เท่านั้น


การห้ามมิให้เข้ามาทำงานการเมือง ด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี แท้จริงก็คือ การป้องกันว่า ในเมื่อนักการเมืองเหล่านี้ มีพฤติกรรมหรือกระทำการในลักษณะที่ไม่สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนรวมได้ คือ ทุจริตเลือกตั้ง หรือปล่อยให้นักการเมืองในสังกัดพรรคที่ตนทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารอยู่ กระทำการทุจริตเลือกตั้ง ก็แสดงว่าท่านเหล่านี้ทำงานส่วนรวมบกพร่องผิดพลาดร้ายแรง จึงสมควรจะยุติบทบาทไปชั่วคราว (5 ปี) เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นที่มีความสามารถหรือมีความรับผิดชอบดีกว่า เข้ามาทำหน้าที่แทนบ้าง

ประการต่อมา อุปมาที่น่าจะสอดคล้องต้องกันกับข้อเท็จจริงมากกว่า เช่น เมื่อพ่อแม่คนใดรู้เห็นเป็นใจให้ลูกของตนไปกระทำการลักขโมยทรัพย์สินของวัด หรือรู้แล้วไม่ป้องกันแก้ไขการกระทำของลูกตนเอง เมื่อถูกจับได้ ชุมชนกับวัดก็ย่อมจะสามารถลงโทษพ่อแม่ที่รู้เห็นในการกระทำผิดของลูก (ถ้าพ่อแม่ไม่รู้เห็นก็ไม่เป็นไร) โดยห้ามมิให้เข้าวัดเป็นเวลา 5 ปี เพื่อป้องกันผลประโยชน์สาธารณะที่อาจจะเสียหาย หากปล่อยให้บุคคลที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้เข้ามาข้องเกี่ยวกับทรัพย์สินสาธารณะ เป็นต้น

4) กรณีที่อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองลื่นไหล ถูกศาลลงโทษตามบทบัญญัติมาตรา 237 ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ยกอุปมาขึ้นมาอ้างว่า พรรคการเมืองก็เหมือนรถเมล์ หากพบว่ามีผู้โดยสารกระทำผิดกฎหมาย เหตุใดจะไปเอาผิดกับคนขับรถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ หรือเจ้าของรถเมล์ด้วยเล่า ???

ข้ออ้างข้างต้น สะท้อนวิสัยทัศน์ และโลกทัศน์ทางการเมืองของผู้พูดได้อย่างชัดเจน

ในความเป็นจริง พรรคการเมืองไม่ใช่รถเมล์

กิจการพรรคการเมือง จึงไม่ใช่การประกอบธุรกิจ หากินโดยการรับส่งผู้โดยสารและเก็บกินเงินค่าโดยสารเหมือนรถเมล์

พรรคการเมืองต้องเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของหลงจู๊

น่าสนใจมาก... ถ้าพรรคการเมืองดังกล่าว ดำเนินกิจการพรรคการเมืองของตนโดยไม่ต่างจากกิจการรถเมล์ คือ หากใครมีเงินจ่ายค่าโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือเป็นโจรผู้ร้ายแอบแฝงตัวมา ก็พร้อมจะบริการ รับขึ้นรถได้ตลอดเวลา โดยไม่สนใจจะตรวจสอบจุดยืน ความคิดอ่าน หรือแม้แต่เป้าหมายปลายทางของคนเหล่านั้น พรรครถเมล์ดังกล่าว จะไหลลื่น แฉลบออกนอกวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไปไกลเพียงใด

การเมืองแบบรับจ้างขนส่ง ก็สมควรจะถูกยุบพรรค เพื่อพัฒนาการเมืองใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่านั้น ขึ้นมาดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมแทน ถูกต้องแล้ว มิใช่หรือ

5) กรณีที่อดีต สสร. 2540 บางท่าน ระบุว่า เห็นด้วยกับมาตรการลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็นการกระทำผิด จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย แต่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เพราะเป็นการลงโทษพรรคการเมืองรุนแรงเกินไป ซึ่งเป็นบทลงโทษรัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มขึ้นมาใหม่ ???

ข้อเท็จจริง คือ บทลงโทษเรื่องการยุบพรรคการเมือง เป็นบทลงโทษที่มีอยู่เดิม ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540!

สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มเติมขึ้นมา คือ เมื่อยุบพรรคการเมืองแล้ว ก็ให้พิจารณาห้ามกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ เข้ามามีตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานสาธารณะทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) เท่านั้นเอง

รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนขึ้นบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก โดยถือหลักว่า สิ่งดีๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ให้คงไว้ แต่สิ่งใดบกพร่อง หละหลอม หรือเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนและส่วนรวมไม่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงก็จะมีการแก้ไข

รัฐธรรมนูญ 2550 สามารถจะแก้ไขได้ หากเป็นการแก้ไขโดยไม่ขัดกับหลักนิติธรรม และเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง

แต่ถ้าเมื่อใดที่สังคมคลางแคลงสงสัยแม้แต่เพียงเล็กน้อย ว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนักการเมือง เพื่อนักการเมือง หรือเพื่อลบล้างความผิดให้แก่พรรคพวกของนักการเมืองด้วยกันเองแล้ว เมื่อนั้น สังคมไทยคงจะถลำลงไปสู่หุบเหวแห่งวิกฤติการณ์อีกครั้ง

คราวนี้ ใครจะรับผิดชอบไหว !
กำลังโหลดความคิดเห็น