xs
xsm
sm
md
lg

สสปน.คลอด5ยุทธศาสตร์ฟื้นตลาดไมซ์ อัด 200 ล้าน.เดินเกมรุกดึงนักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสปน. ร่าง 5 ยุทธศาสตร์ฟื้นตลาดไมซ์ ทุ่ม 200 ล้านบาท อัดฉีดเงินช่วยผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ยอมรับใช้ยาแรง เดิมเกมรุกเหนือคู่แข่งขัน  เชื่อชิงตลาดไมซ์กลับได้ภายในไตรมาส 2 ปีหน้า สิ้นปีนี้ขอติดลบแค่ 20%  ยอมรับมี 7 งานใหญ่ขอยกเลิกแล้ว ไทยสูญรายได้กว่า 950 ล้านบาท

นางศุภวรรณ  ตีระรัตน์  ผู้อำนวยการฝ่ายงานแสดงสินค้านานาชาติ และรักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ สสปน.(TCEB) เปิดเผยว่า  สสปน. ได้จัดทำแผน 5 ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ไทยปี2552 โดยเตรียมใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามแผนให้เกิดเป็นรูปธรรม

โดยตั้งมั่นจะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมการจัดประชุม นิทรรศการ และ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล(ไมซ์)ของประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในไตรมาส 2-3 ของปี 2553 และช่วยพยุงให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยในปี 2552 นี้ ติดลบไม่เกิน 20% น้อยกว่าที่คาดว่าจะติดลบมากถึง 20-30% เพราะเป็นผลจากความวุ่นวายทางการเมืองของไทยช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์เม็กซิโก  และสสปน.ปรับเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดไมซ์ปีนี้มาอยู่ที่ 5 แสนคน สร้างรายได้ 4.1 หมื่นล้านบาท จากช่วงต้นปีที่ตั้งไว้ว่าตัวเลขปีนี้จะใกล้เคียงปีก่อนคือ จำนวน 6.4 แสนคน รายได้ 5.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ 5  ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้แก่ 1.บูรณาการกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก 2.รุกตลาดอินบาวนด์ด้วย QUICK WIN Promotion 3.กลยุทธ์การสื่อสารแบบ 360 องศา 4.กระตุ้นตลาดสัมมนาในประเทศ และการพัฒนา 4 จังหวัดหลักของประเทศไทยให้เป็นเมืองแห่งธุรกิจไมซ์ คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และ เชียงใหม่ และ 5.มาตรการรับมือวิกฤตแบบครบวงจร

**ออกแคมเปญแรงดูดนักท่องเที่ยว**
โดยในส่วนของ QUICK WIN Promotion  เน้นจับตลาดการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยสสปน.ได้จัดแคมเปญส่งเสริมการขายเร่งด่วน 3 รายการหลัก ได้แก่ 1.แคมเปญ มีทติ้ง พลัส(Meeting Plus)   มี 2 แพกเกจ คือ แพกเกจพักฟรีคืนที่ 3 ให้สิทธิแก่ผู้ประชุมที่มีการจัดประชุมมากกว่า 3 วัน ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ต้นปี ขยายเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือน มี.ค.52 ไปเป็นสิ้นเดือนก.ย.52 และแพกเกจรับรองให้สิทธิผู้เดินทางกลุ่มองค์กรได้รับเงินสนับสนุนในการจัดงานต้อนรับ หรือเลี้ยงอาหารค่ำ สิ้นสุดโครงการ 31 ธ.ค.52

2.แคมเปญ บริง มอร์ เอนจอย มอร์(Bring More Enjoy More) จับตลาดการประชุมนานาชาติ หรือคอนเวนชั่น โดย สสปน.จะให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทจัดการเดินทาง และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่นำกลุ่มเข้าร่วมงานสัมมนานานาชาติ จำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป จะได้รับเงินสนับสนุนทางการตลาดตั้งแต่ 50,000-120,000 บาท  และแพกเกจต้อนรับตั้งแต่ 30,000-60,000 บาท  เริ่มโครงการตั้งแต่บัดนี้ถึง 30ก.ย.53

และ 3.แคมเปญ บียอน เอกซิบิชั่น(Beyond Exhibition) จับตลาดการแสดงสินค้านานาชาติ โดยแบ่งโปรโมชั่นตามกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 ลักษณะ คือ ผู้เข้าชมงานและผู้แสดงงาน จะได้รับแพกเกจ Triple E ให้การสนับสนุนค่าที่พักฟรีคืนที่ 4 และกลุ่มสมาคมการค้าจะได้รับแพกเกจ 100 A-Head  ให้เงินสนับสนุนการตลาดจำนวน 100 เหรียญสหรัฐสหรัฐ ในการนำกลุ่มแสดงสินค้าที่มีผู้เข้าชมงานตั้งแต่ 15 คนขึ้นไปโดยให้สิทธิเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน จีน และ อินเดีย

“ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้จำนวนและมูลค่าตลาดไมซ์ของโลกลดลงประมาณ 15%   แต่ประเทศไทยมีปัจจัยลบที่เข้ามากระทบธุรกิจมากกว่าประเทศอื่นๆ ตลาดจึงน่าจะลดลงไม่น้อยกว่า 20% สสปน.จึงต้องออกแคมเปญให้แรง เพื่อจูงใจให้ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานตัดสินใจได้เร็วขึ้น และดึงให้งานที่ขอยกเลิกเปลี่ยนเป็นขอเลื่อนไปจัดปีหน้า  เช่นกรณีการให้เงินสนับสนุน สสปน.จะให้ตั้งแต่กรุ๊ป 15-20 คนขึ้นไป  ขณะที่ประเทศคู่แข่งขันอย่างฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ จะให้เฉพาะกรุ๊ปตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งนโยบายเราจะต้องช่วยทั้งผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ขณะนี้มีงานที่ขอยกเลิก 7 งาน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 1.15 หมื่นคน สูญรายได้ กว่า 950 ล้านบาท”

นอกจากนั้น ยังเตรียมจัดแฟมทริป เชิญสื่อมวลชนต่างประเทศ ผู้จัดงาน และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่จัดงานและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย และออกร่วมงานเทรดโชว์และโรดโชว์ในต่างประเทศรวมกว่า 20 งาน ตามแผนเดิมที่วางไว้ เพื่อใช้เวทีระดับนานาชาติเหล่านี้ในการบอกกล่าวและยื่นยันความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นพื้นที่จัดงาน

สำหรับตลาดในประเทศ เปิดตัวโครงการ “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” กระตุ้นให้หน่วยงานรัฐ และ บริษัทเอกชนเดินทางจัดประชุมสัมมนาในประเทศไทย พร้อมกับร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เพิ่มศักยภาพจังหวัดใหญ่ตามหัวเมืองให้ก้าวสู่การเป็นผู้จัดงานเอกซิบิชั่นในระดับประเทศ  อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่สสปน.ใช้ในแผนยุทธศาสตร์นี้เป็นงบประจำปี2552 แต่สสปน.ก็มีแนวคิดที่จะของบเพิ่มโดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำไปรวมกับแผนงานของท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ เพราะเราเป็นหน่วยงานหนึ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น