xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยผู้ดีปลุกปั้น’ปลาหุ่นยนต์’ เครื่องทุ่นแรงค้นมลพิษแหล่งน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยเมืองผู้ดีเตรียมส่งทีมปลาหุ่นยนต์สำรวจลำน้ำเทมส์ เพื่อสร้างแผนที่มลพิษ 3 มิติของแม่น้ำสายนี้
ขณะนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอสเส็กซ์ในโคลเชสเตอร์ กำลังขะมักเขม้นพัฒนาปลาหุ่นยนต์ อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมูลค่า 2.5 ล้านปอนด์ในการค้นหาแนวทางใหม่เพื่อติดตามตรวจสอบมลพิษในแหล่งน้ำ ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป
ปลาหุ่นยนต์แต่ละตัวจะมีความยาว 50 เซนติเมตร สูง 15 เซนติเมตร และกว้าง 12 เซนติเมตร ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับมลภาวะที่สามารถดมกลิ่นสารเคมีอันตรายในน้ำได้
นักวิจัยได้พัฒนาเทคนิคอัจฉริยะที่ช่วยให้ปลาทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยหุ่นยนต์เหล่านี้จะสื่อสารกันผ่านระบบ wi-fi รวมถึงใช้ระบบค้นหาพิกัดตำแหน่งผ่านดาวเทียมหรือจีพีเอส ระหว่างค้นหาแหล่งมลพิษ และจะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่หากพบแหล่งสารเคมีอันตราย รวมถึงส่งสัญญาณผ่านระบบจีพีเอสเพื่อระบุตำแหน่งให้ปลาตัวอื่นๆ มารวมกัน
ดร.ดงบิงกู ผู้นำการวิจัยเผยว่า แต่ละทีมจะประกอบด้วยปลาห้าตัว โดยปลาเหล่านี้เคลื่อนไหวร่างกายแบบคลื่นซึ่งทำงานด้วยมอเตอร์ และใช้ครีบและหางช่วยเปลี่ยนทิศทาง ทีมนักวิจัยหวังว่าปลาหุ่นยนต์จะมีความเร็วครึ่งเมตรต่อวินาที และสามารถอยู่ในน้ำได้นาน 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องชาร์จไฟใหม่
ปลาหุ่นยนต์ยังติดตั้งเซนเซอร์หลายแบบเพื่อตรวจจับสารมลพิษต่างๆ ข้อมูลที่ได้จากปลาเหล่านี้จะนำไปสร้างแผนที่มลพิษในน้ำแบบเรียลไทม์ 3 มิติ เพื่อให้ผู้ดำเนินการพิจารณาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว
นักวิจัยคาดว่าจะพัฒนารุ่นต้นแบบสำเร็จภายใน 18 เดือน และในระยะแรกจะนำไปทดสอบบริเวณท่าเรือเพื่อติดตามตรวจสอบการแพร่กระจายและการรั่วไหลของสารพิษจากเรือใหญ่ อย่างไรก็ดี ดร.กูเสริมว่า ระบบนี้สามารถนำไปใช้ในแม่น้ำเทมส์ได้ด้วยเช่นกัน
“อาจดูเหมือนเป็นบางสิ่งที่หลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วการเลือกรูปแบบนี้มีเหตุผลในเชิงปฏิบัติมาก และมีประสิทธิภาพด้านพลังงานอย่างเหลือเชื่อ” รอรี ดอยล์ จากบริษัทวิศวกรรม บีเอ็มที กรุ๊ป ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น