ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – พันธมิตรฯเมืองชาละวันตั้งแท่นเป็นรูปธรรมแล้ว ล่าสุดตั้ง “เครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดพิจิตร” วางตัวผู้ประสานงานคลุมทั้ง 12 อำเภอทั่วเมือง พร้อมกำหนดกฎระเบียบ-ทิศทางการทำงาน ฯลฯชัดเจน เดินหน้าสร้างสังคมการเมืองใหม่ – ตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างเข้มข้น
“หน่อย-พงศ์ธร ศรชาพันธ์” เจ้าของร้านอาหารตามสั่งเล็ก ๆชื่อร้าน “อิ่มเอม” ในเมืองพิจิตร เครือญาติของ “สุณีย์ เหลืองวิจิตร พรรคเพื่อไทย” เปิดเผยกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.พิจิตร ว่า จนถึงขณะนี้ได้มีการตั้งองค์กรขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แต่เพื่อให้การทำงานในพื้นที่ทำได้สะดวก จึงใช้ชื่อองค์กรว่า “เครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดพิจิตร” (คป.ป.พจ.) หรือ People Network for Democracy in Phichit Province ; PNDP
ทั้งนี้ เบื้องต้นจะใช้ร้าน “อิ่มเอม” เลขที่ 24/103 ถ.สระหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร ที่ได้ขึ้นป้าย “มือตบ” ไว้ที่หน้าร้านด้วย เป็นสำนักงาน พร้อมกับแกนนำหลายพื้นที่ ได้ประชุมร่วมกันและร่างข้อบังคับ – ทิศทางการทำงานไว้คร่าว ๆ ว่า องค์กรนี้มีเป้าหมายส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข- รณรงค์ส่งเสริมสร้างจริยธรรม จิตสำนึกทางการเมืองที่ดีแก่ประชาชนพิจิตร – พัฒนา และสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งต่อเนื่อง -ตรวจสอบการเลือกตั้งทุกระดับให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม และเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ดำเนินกิจกรรมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ กำไรใด ๆ
“หน่อย-พงศ์ธร” บอกอีกว่า PNDP จะมีคณะกรรมการเครือข่ายอย่างน้อย 8 คน แต่ไม่เกิน 12 คน โดยจะมีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง โดยแบ่งเป็นประธานเครือข่าย (ระดับจังหวัด) ฝ่ายอำนวยการและประสานงาน ฝ่ายงานด้านการให้ความรู้ประชาธิปไตยฯ ฝ่ายงานการรณรงค์ทางการเมืองและประชาสัมพันธ์ ฝ่ายงานพัฒนาองค์กรประชาชน ฝ่ายตรวจสอบทุจริต ฝ่ายงานรับแจ้งเหตุกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และฝ่ายการเงินการบัญชี
เขาย้ำว่า การเบิกจ่ายของเครือข่ายฯ จะให้ประธานเครือข่ายฯ พร้อมรองประธานคนใด คนหนึ่งร่วมลงนามอนุมัติ และให้กรรมการฯ หรือผู้กระทำการแทน กับเลขานุการ หรือเหรัญญิกลงนามเบิกจ่าย 2 ใน 3 จึงจะเบิกจ่ายได้ รวมทั้งต้องรายงานให้ที่ประชุมทราบในแต่ละเดือนด้วย
“ในวันที่ 26 เมษายน จะมีการประชุมเครือข่ายฯ เพื่อสรุปอีกครั้งหนึ่ง”
“หน่อย-พงศ์ธร” บอกอีกว่า ขณะนี้เครือข่าย ฯมีตัวแทนเกือบครบทั้ง 12 อำเภอของจังหวัดพิจิตรแล้ว ประกอบด้วยตัวแทนอำเภอเมือง บางมูลนาก สามง่าม วชิระบารมี โพทะเล โพธิ์ประทับช้าง สากเหล็ก ฯลฯ เหลือเพียงวังทรายพูนเท่านั้นที่ยังไม่มีตัวแทนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีคนที่ทำหน้าที่ประสานงานอยู่แล้ว
เขาบอกว่า เครือข่ายฯจะพยายามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการใช้งบประมาณของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ เบื้องต้นที่เราสงสัย เช่น กรณีการอนุมัติงบประมาณลงมาที่พิจิตร 200 ล้านบาท ล่าสุดวิทยาลัยเกษตรสามง่าม ได้ไปแล้ว 100 ล้านบาท แต่กลับใช้เป็นงบจัดซื้อเครื่องจักรทั้งหมด ไม่มีการนำมาใช้พัฒนากระบวนการศึกษาเท่าใดนัก ซึ่งอาจจะมีเงื่อนงำขึ้นได้ รวมถึงการใช้งบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วย