xs
xsm
sm
md
lg

โพธิสัตตบูรณา เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 49)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

49. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)

การจะ บูรณา ความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบันได้นั้น คนผู้นั้นจะต้องมีระดับจิตอยู่ใน จิตชั้นที่สอง (a second-tier person) อันเป็นระดับจิตที่สามารถตระหนักถึง สุขภาวะของกระบวนการเกลียวพลวัตแห่งจิตของทั้งสังคมได้ (the health of the entire spiral) และถือว่า สุขภาวะของกระบวนการเกลียวพลวัตของทั้งสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดยิ่งกว่าการเอาใจใส่ต่อระดับจิตหรือมีมสีใดมีมสีหนึ่งเท่านั้น นี่เป็นมุมมองที่ไม่สามารถมีได้ในระดับจิตที่อยู่ใน จิตชั้นที่หนึ่ง เพราะแม้แต่ปัญญาชนชั้นนำหัวก้าวหน้าของประเทศนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีระดับจิตอยู่ที่ มีมสีเขียว ก็ยังไม่สามารถมีมุมมองแบบข้างต้นนี้ได้

ในโมเดลเกลียวพลวัต จิตชั้นที่สอง จะมี 3 ระดับหรือ 3 มีมสี ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก จิตชั้นที่หนึ่ง ซึ่งมี 6 ระดับหรือ 6 มีมสี ดังต่อไปนี้คือ

(7) มีมสีเหลือง เป็นระดับจิตแบบบูรณาการ (integrative) ที่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของโลก จิตใจ (mind) และธรรมจิต (Spirit)โดยตระหนักถึงกระบวนการอันยิ่งใหญ่ของ “ชีวิต” (Life) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบสิ้น จึงสามารถสนองตอบต่อชีวิตด้วยความยืดหยุ่น ความเป็นไปเอง และความเปี่ยมประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นระดับจิตที่สามารถบูรณาความแตกต่าง และความหลากหลายเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน เป็นผู้ที่ยอมรับทั้งลัทธิเสมอภาคนิยม และยอมรับการจัดอันดับของคุณค่า และความเป็นเลิศที่ดำรงอยู่อย่างเป็นธรรมดาของโลก

เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในความรู้ ปัญญาญาณ และความสามารถภายในของตนว่า มีความสำคัญยิ่งกว่าการได้มาซึ่งอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญใดๆ ทั้งปวง เป็นผู้ที่มองว่า ระเบียบโลกก่อนหน้านี้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดมาจากการดำรงอยู่ของระดับที่แตกต่างกันของมีมสีต่างๆ จนทำให้การเคลื่อนไหวเชิงวิวัฒนาการของสังคมมีลักษณะเป็นแบบวิภาษวิธี (dialectic) หรือเป็นแบบเกลียวพลวัต

กล่าวคือ วิวัฒนาการของระดับจิตในแต่ละขั้น จะมีการเคลื่อนไหวเป็นเกลียวที่หมุนวนสูงขึ้นไป โดยจะ สวิง ไปทางด้าน ขวามือ อันเป็นระดับจิตที่เน้น การแสดงตัวตน (expression of the self) ออกมาในเชิง ปัจเจกชนนิยม แล้วก็จะ สวิง กลับมาทางด้าน ซ้ายมือ อันเป็นระดับจิตที่เน้น การเสียสละตัวตนเพื่อหมู่คณะ (sacrifice of the self) ออกมาเสมอ อันเป็นกระบวนการแบบวิภาษวิธีที่เป็นบทเสนอ (thesis) บทแย้ง (antithesis) และบทสังเคราะห์ (synthesis) (ดู แผนภูมิ : พัฒนาการเชิงเกลียวพลวัตหรือวิภาษวิธีของระดับจิต ประกอบ) พลังทางสังคมของคนระดับจิตในขั้นนี้คือ 5% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 1% ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว

(8) มีมสีเทอร์ควอยส์ (turquoise)เป็นจิตแบบองค์รวม (holistic) ที่สามารถผสานความรู้สึกนึกคิดของตนเข้ากับองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน และยังสามารถบูรณาและหลอมรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่หลากหลายให้เป็น ระบบชุดความคิดชุดหนึ่ง ได้ เป็นผู้ที่สามารถสมานฉันท์ได้กับทุกระดับจิต และสามารถใช้ปฏิสัมพันธ์กับจิตระดับต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่เริ่มมี

มีมสีเหลือง                           จิตชั้นที่สอง
mature                              มีมสีเทอร์ควอยส์
worldcentric                      holistic
                                          mature
                                          worldcentric


มีมสีส้ม                                จิตชั้นที่หนึ่ง
modern
worldcentric


มีมสีแดง                               มีมสีเขียว
predatory                          postmodern
egocentric                         worldcentric

มีมสีเบจ                               มีมสีน้ำเงิน
pre-egocentric                     traditional
                                          egocentric


                                          มีมสีม่วง
                                          magical
                                          egocentric


         แผนภูมิ : พัฒนาการเชิงเกลียวพลวัตหรือเชิงวิภาษวิธีของระดับจิต

*หมายเหตุ* เป็นที่น่าสังเกตว่า มีมสีด้านซ้ายมือของเกลียวพลวัต จะเป็นระดับจิตที่มุ่งแสดงตัวตนในเชิงปัจเจกนิยม ขณะที่มีมสีด้านขวามือของเกลียวพลวัต จะเป็นระดับจิตที่มุ่งเสียสละตัวตนเพื่อหมู่คณะ ความเข้าใจในเชิงรหัสนัย (mystic) และญาณทัศนะ (intuition) พลังทางสังคมของคนระดับจิตในขั้นนี้คือ 1% ทั่วโลกมีประชากรในระดับนี้ราวๆ 0.1% เท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว

(9) มีมสีคอรอล (coral) เป็นจิตแบบองค์รวมบูรณาที่พัฒนาต่อจากมีมสีเทอร์ควอยส์ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นก่อตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ และยังมีจำนวนน้อยมาก เป็นระดับจิตขั้นสุดท้ายของ จิตชั้นที่สอง ก่อนที่จะก้าวกระโดดไปสู่ จิตชั้นที่สาม (third tier) ซึ่งเป็น จิตเหนือโลก หรือ จิตอริยะ อันเป็นจิตชั้นสูงสุดของมนุษย์

โมเดลเกลียวพลวัต บอกว่า มีมแต่ละสีล้วนมีคุณค่า และมีด้านที่เป็นประโยชน์ในตัวของมันเองเสมอ โดยที่พัฒนาการแห่ง “ตัวตน” ของเราไม่ได้แบ่งแยกมีมสีออกมาอย่างเด็ดขาดชัดเจนเหมือนขั้นบันได แต่จะมีลักษณะคล้ายกับลูกคลื่นที่การเดินทางของ “ตัวตน” มักจะอยู่ระหว่างอิทธิพลของมีมสี 2 มีมในแต่ละระดับจิตของผู้นั้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่พลวัต

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้นั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ก็มักจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก มีมสีน้ำเงิน ไปสู่ มีมสีส้ม ซึ่งจะมีคุณลักษณะของมีมสีทั้ง 2 สีปรากฏออกมาพร้อมๆ กัน แต่เมื่อผู้นั้นเติบโตทางจิตขึ้นโดยผ่านการศึกษา และเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ลักษณะเด่นของ มีมสีส้ม ก็จะปรากฏเด่นชัดในตัวผู้นั้นมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้าผู้นั้นเป็นคนชอบคิด ชอบอ่าน และเปิดใจใฝ่หาความรู้ที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ในไม่ช้าลักษณะเด่นของ มีมสีเขียว ก็จะค่อยๆ เริ่มปรากฏในตัวของผู้นั้นควบคู่ไปกับ มีมสีส้ม จนเข้ามาแทนที่ในที่สุด เหล่านี้เป็นต้น

โมเดลเกลียวพลวัตยังบอกอีกว่า มีมสีระดับที่สูงกว่าย่อม “ก้าวข้าม และหลอมรวม” มีมสีระดับที่ต่ำกว่าเอาไว้ในตัวเองเสมอ คนเราจึงควรพัฒนาตนเองให้สามารถบรรลุระดับมีมสีที่สูงที่สุดเท่าที่ศักยภาพของตนเองจะสามารถบรรลุถึงได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ยิ่งมีระดับจิตที่สูงยิ่งขึ้นเท่าไหร่ คนผู้นั้นก็จะยิ่งมีความสามารถใช้มีมสีแต่ละประเภทที่ตัวเองได้ลุถึง และก้าวข้ามไปแล้ว ไปจัดการกับสถานการณ์ที่หลากหลายของชีวิตได้อย่างเต็มเปี่ยมและมีพลังได้

ยกตัวอย่างเช่น หากอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเอาชีวิตรอดในยามคับขันเสี่ยงภัย คนผู้นั้นก็ต้องใช้ มีมสีแดง แต่ในยามต้องไปเจรจาต่อรองทางหน้าที่การงาน ก็ต้องใช้ มีมสีส้ม ในยามที่ต้องออกไป “กู้ชาติ” ผู้นั้นก็ต้องปลุก มีมสีน้ำเงิน ให้สำแดงพลังรักชาติออกมา ในยามคบหากับคนรัก และเพื่อนสนิทควรต้องใช้ มีมสีเขียว แต่ถ้าต้องการ ใช้ชีวิตอย่างบูรณาการ (integral life style) ที่สามารถเติมเต็มในทุกๆ มิติของชีวิตได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นมิติของความจริง-ความดี-ความงาม ด้วยองค์ความรู้หลายระดับที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรู้ของกาย-ใจ-วิญญาณ รวมทั้งมีบทบาททางสังคมควบคู่ไปกับการยกระดับจิตใจของตนเองไปพร้อมๆ กัน คนผู้นั้นก็ต้องใช้ มีมสีเหลือง หรือ มีมสีเทอร์ควอยส์ หรือ มีมสีคอรอล เป็นคุณสมบัติหลักประจำตัวของผู้นั้น ถ้าหากผู้นั้นสามารถพัฒนาระดับจิตของตนเองไปถึงมีมสีนั้นได้

จะเห็นได้ว่า คนที่มีระดับมีมสีที่สูงกว่า หรือระดับจิตที่สูงกว่า ย่อมสามารถเปล่งประกายในการดำเนินชีวิตได้มากกว่าคนที่มีระดับมีมสี หรือระดับจิตต่ำกว่าเสมอ ยกตัวอย่างเช่น คนที่ถูกอำนาจรัฐจับตัวไปคุมขังอยู่ในคุก หากเป็นคนที่อยู่ในระดับ มีมสีแดง ก็จะอาละวาดเท่าที่จะทำได้

ถ้าเป็น มีมสีน้ำเงิน ก็จะจำยอมอยู่ในคุกแต่โดยดี ถ้าเป็น มีมสีส้ม จะใช้เวลาที่อยู่ในคุกเรียนหนังสือ ถ้าเป็น มีมสีเขียว อาจจะเขียนบทกวี แต่งเพลง หรือเขียนหนังสือ ถ้าเป็น มีมสีเหลือง ขึ้นไป จะใช้ที่คุมขังเป็นอาศรมปฏิบัติธรรมในการบำเพ็ญจิตเจริญภาวนาเพื่อฝึกกาย และจิตให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เหล่านี้เป็นต้น

ปัญหานั้นอยู่ที่ว่า มีมในจิตชั้นที่หนึ่ง (ระดับที่ 1-6) นั้น ไม่สามารถที่จะเข้าใจโลกทัศน์ของมีมสีอื่นได้อย่างแท้จริง และต่อให้เป็นมีมสีเดียวกัน ก็ยังอาจมีจุดยืนที่ต่างกันได้ ยกตัวอย่างเช่น พวกที่เลื่อมใสสังคมนิยมแบบลัทธิมาร์กซ์กับพวกที่เลื่อมใสทุนนิยมนั้น ความจริงต่างเป็น มีมสีส้ม ระดับเดียวกัน เพียงแต่พวกแรกเป็นกบฏต่อระบบทุนนิยม ขณะที่พวกหลังเป็นพวกปกป้องระบบทุนนิยมเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น จงอย่าแปลกใจที่อดีตคนเดือนตุลาที่เคยเข้าป่าจับปืนสู้กับอำนาจรัฐ แล้วออกจากป่ามาเป็นนายทุน นักธุรกิจ แล้วขายอุดมการณ์ ขายจิตวิญญาณมารับใช้ระบอบทักษิณ การกลับไปกลับมาแบบสวิงสุดขั้วเช่นนี้ได้ของอดีตคนเดือนตุลา ก็เพราะผู้นั้นยังอยู่ในระดับจิตเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของชุดความคิดหลักในระดับจิตเดียวกันเท่านั้น จะมีก็อดีตคนเดือนตุลาที่ออกจากป่า แล้วไปเรียนต่อต่างประเทศจนจบปริญญาเอก แล้วกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคมในภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) เท่านั้น ที่ได้ยกระดับจิตของตนจากมีมสีส้มสู่มีมสีเขียวได้ แต่ยังมีอดีตคนเดือนตุลาจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่สามารถยกระดับจิตของตนเข้าสู่ จิตชั้นที่สอง ได้อย่างเช่น ยุค ศรีอาริยะ และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ขณะที่พวก มีมสีน้ำเงิน มักไม่ยอมรับ มีมสีส้ม โดยมองว่า พวกนี้เห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน ขณะที่พวก มีมสีส้ม เอง ก็มองพวก มีมสีน้ำเงิน ว่าไม่รักความก้าวหน้า ล้าหลัง ไม่ทันโลก และมองพวก มีมสีเขียว ว่าเป็นแค่พวกเอ็นจีโอกวนเมืองที่ชอบทำให้รถติด พวกมีมสีต่างๆ ใน จิตชั้นที่หนึ่ง โดยเฉพาะพวก มีมสีส้ม กับพวก มีมสีเขียว ยิ่งไม่เข้าใจ พวกมีมใน จิตชั้นที่สอง ที่ยอมรับเรื่องของจิตวิญญาณ โดยมองว่าเป็นพวกเดียวกับพวก มีมสีม่วง หรือ มีมสีแดง ที่งมงายในไสยศาสตร์ ซึ่งความจริงนั้นไม่ใช่เลย

หากใช้เรื่องมีมสีต่างๆ ในโมเดลเกลียวพลวัตมาทำการวิเคราะห์ขุมพลัง 2 ขั้ว ที่กำลังทำ “สงครามครั้งสุดท้าย” กัน คือ ขุมพลังฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับขุมพลังฝ่ายระบอบทักษิณ จะเป็นดังต่อไปนี้

(1) ขุมพลังฝ่ายพันธมิตรฯ มี มีมสีน้ำเงิน กับ มีมสีส้ม เป็น ทัพหลัก โดยแกนนำพันธมิตรฯ ได้ใช้ วาทกรรมของมีมสีที่หลากหลาย ตั้งแต่มีมสีน้ำเงิน (จำลอง, สนธิ) มีมสีส้ม (สนธิ, สมศักดิ์, สมเกียรติ, พิภพ) และมีมสีเขียว (พิภพ) มาสร้างความเข้มแข็งให้แก่ขบวนการของพวกตน โดยได้เชิดชู วาทกรรมราชาชาตินิยม ที่ตอบสนองต่อมีมสีน้ำเงิน และ วาทกรรมการเมืองใหม่ ที่ตอบสนองต่อมีมสีส้มเป็นหลัก ขณะที่ มีมสีเหลืองขึ้นไปในฐานะปัจเจก ก็ได้เข้ามาเป็น แนวร่วม ของขุมพลังฝ่ายพันธมิตรฯ เพื่อเข้ามาช่วยผลักดันทางความคิดให้ขบวนการพันธมิตรฯ ขับเคลื่อนไปในทิศทางตามโมเดลเกลียวพลวัตที่มุ่งสู่วิวัฒนาการของสังคม และจักรวาฬ (kosmos)

(2) ขุมพลังฝ่ายระบอบทักษิณ มี มีมสีแดง คือ ชาวรากหญ้าและคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท เป็นฐานการเมืองซึ่งถูก “จัดตั้ง” และ “หว่านเงิน” โดย พวกสมุนของระบอบทักษิณ ซึ่งเป็น มีมสีส้มกลายพันธุ์ (เห็นเงินเป็นพระเจ้า และอำนาจนิยม) แต่กลับใช้ วาทกรรมแบบมีมสีเขียว (วาทกรรม “ประชาธิปไตย”) ของ แนวร่วมระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นพวกนักวิชาการมีมสีเขียวกลุ่มหนึ่งที่เคยเอียงซ้าย และไม่ชอบสถาบันกษัตริย์มาเป็นอาวุธในการต่อสู้เชิงวาทกรรมกับฝ่ายพันธมิตรฯ

การก้าวเข้าสู่ จิตชั้นที่สอง ยังเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าจุดศูนย์ถ่วงของสังคมไทยในขณะนี้ ยังอยู่ในแถบมีมสีระหว่าง มีมสีแดง กลุ่มใหญ่ ในภาคชนบท มีมสีน้ำเงิน ในภาคราชการ และ มีมสีส้ม ในภาคเอกชน แค่จะกลายเป็น มีมสีเขียว ซึ่งเป็นมีมของปัญญาชนโพสต์โมเดิร์น ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามอยู่ไม่น้อยในสังคมนี้ เพราะฉะนั้น การก้าวไปสู่ มีมสีเหลืองขึ้นไป จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก แต่มิใช่เป็นไปไม่ได้หากมีความมุ่งมั่นเพียงพอ

องค์ประกอบของปัจจัยหลักที่สามารถช่วยให้บุคคลมีพัฒนาการสามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นได้คือ ความอิ่มเต็ม ความคลายความยึดติด ความกระจ่างแจ้ง และการเปิดใจกว้าง สี่องค์ประกอบนี้สามารถทำงานจากระดับมีมสีใดก็ได้ แต่จะมีประสิทธิผลเห็นได้ชัดเจนจากมีมสีส้มขึ้นไป กล่าวคือ เมื่อคนผู้นั้นพยายามยกระดับจิตใจตนเองด้วยสี่องค์ประกอบข้างต้น จนกระทั่งคนผู้นั้นเริ่มรู้สึก อิ่มเต็ม กับบุคลิกภาพ วิถีชีวิต และความเป็นคนประเภทนั้นของตัวเอง จนเริ่มเข้าใจ และแลเห็นข้อจำกัดและจุดอ่อนของโลกทัศน์ ความเชื่อ ค่านิยมที่ตัวเองเคยยึดถือในระดับมีมสีนั้น จนเริ่มคิดมองหาชุดความจริงใหม่ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม จริงแท้กว่าเดิม ผู้นั้นจึงเริ่มเบื่อหน่าย เริ่ม จางคลาย ความยึดติดในวิธีคิดแบบเดิมของตนที่ไม่สามารถอธิบายความจริงได้ครอบคลุมทุกด้าน

ความพยายามหาคำตอบใหม่ๆ ให้แก่ชีวิตให้แก่ตัวเอง จะทำให้ผู้นั้นค่อยๆ ได้รับ ความกระจ่างแจ้ง ขึ้นมาเอง โดยบางครั้งก็ได้มาจากสุนทรีสนทนา การอ่านหนังสือดีๆ ที่ให้แรงบันดาลใจ การเยียวยาร่างกายและจิตใจตนเองด้วย วิถีธรรมชาติ การทำสมาธิ การเจริญสติหัด “ดูจิต” “ดูความคิด” ของตนเองจนรู้ทัน และรู้จักตนเอง การฝึกโยคะ การฝึกลมปราณ (ชี่กง) การรำมวยจีน การเล่นดนตรี การเล่นหมากล้อม การวาดภาพ การเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่หลากหลายที่ตนเองไม่เคยเรียนรู้หรือสนใจมาก่อน การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยเต็มใจ เหล่านี้เป็นต้น จนกระทั่ง ใจของผู้นั้นเปิดกว้าง ยินยอมสลัดคราบตัวตนเดิมของตนออกทิ้งไปอย่างไม่อาลัย จึงสามารถก้าวเข้าสู่ระดับจิตที่สูงส่งและลึกซึ้งกว่าเดิมได้

การจุด “เทียนแห่งธรรม” หรือการจุดเทียนแห่งปัญญาให้แก่สังคม จึงไม่ควรหยุดอยู่แค่การให้ข่าวสาร หรือการอธิบายข่าวสารด้วยความจริงชุดหนึ่งเท่านั้น เพราะคนที่ให้ปัญญาจะไม่สามารถให้ปัญญาเกินกว่าระดับโลกทัศน์ หรือระดับมีมสี หรือระดับจิตที่ผู้นั้นลุถึงได้ ตัวผู้ให้ปัญญาจึงต้องหมั่นพัฒนายกระดับจิตของตนให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อที่จะได้สามารถให้ปัญญาที่เป็นชุดความจริงที่ลึกซึ้งกว่าเดิม และจริงแท้กว่าเดิมได้ (ยังมีต่อ)

www.suvinai-dragon.com
กำลังโหลดความคิดเห็น