xs
xsm
sm
md
lg

ไรมอนแลนด์ตะเพิดเอ็มดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ผู้ถือหุ้นใหญ่ ไรมอน แลนด์ ไม่ปลื้ม “ไนเจิล คอร์นิค” เด้งฟ้าผ่าหลังทำผลงานไม่เข้าเป้าใช้งบเกินตัว ส่งผลบริษัทขาดสภาพคล่อง ส่ง “อูแบร์ วิริออท” นั้งเอ็มดีแทน พร้อมถือโอกาสยกเครื่องบริษัทใหม่รีดไขมันปลดพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายรับภาวะเศรษฐกิจทรุด

ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบไปทุกธุรกิจ ต้องปรับโครงสร้างองค์กร ลดค่าใช้จ่ายเพื่อถือกระแสเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุดเพื่อให้บริษัทอยู่ได้ในภาวะที่ยอดขายทำได้ยาก ไม้เว้นแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยล่าสุด บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) ได้รายงานว่า นายไนเจิล คอร์นิค ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการบริษัทฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.52 ทั้งนี้ นายคอร์นิคยังได้ลาออกจากกรรมการบริหารของบริษัทฯ และบริษัทในเครือ พร้อมกันนี้ ไรมอน แลนด์ ได้ประกาศแต่งตั้ง นายอูแบร์ วิริออท หนึ่งในกรรมการของบริษัทให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการบริษัทฯ แทน

โดย นายวิริออท ยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารของกลุ่มไอเอฟเอ โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไรมอน แลนด์ โดยผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ วางแผนที่จะอัดฉีดเงินเพิ่มเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งในโครงการปัจจุบันและอนาคตให้ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า การลาออกของนายคอร์นิค ไม่ได้เป็นการลาออกปกติ แต่เป็นมติของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เนื่องจากไม่พอใจการทำงานของนายคอร์นิค แม้ว่าผลการดำเนินงานในปี 51 ออกมาดีกว่าปี 50 ทั้งยอดขายและกำไร นอกจากนี้ยังสั่งลดพนักงานจนกว่าจะเป็นที่พอใจของผู้ถือหุ้น โดยมีคำสั่งปลดพนักงานมาแล้ว 2-3 ครั้ง

หากพิจารณาจากลงทุนของไรมอนแลนด์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นโครงการคอนมิเนียมขนาดใหญ่ ระดับไฮเอ็น อาทิ 185 ราชดำริ เสนอขายในราคาตร.ม.ละ 360,000 บาทมูลค่าโครงการสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดขายหลังจากที่ซื้อที่ดินมาเกือบ 2 ปีแล้ว ส่วนโครงการเดอะ ริเวอร์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 13,000 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขาย 7,866 ล้านบาท

ล่าสุดซื้อที่ดินแปลงงามบนถนนเพลินจิต ในช่วงเดือนตุลาคม 51 ของนายตัน ภาสกรนที แห่งโออิชิ ในราคาสูงถึง 1.2 แสนบาท/ตร.ม. ขนาด 7 ไร่ครึ่ง นอกจากนี้นายตันยังได้รับสิทธิถือหุ้น 20% โดยไม่ต้องใส่เม็ดเงินลงทุนในโครงการที่ไรมอน แลนด์ จะพัฒนาบนที่ดินแปลงดังกล่าว ส่วนผู้ถือหุ้นอีก 80% แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มบริษัทไรมอน แลนด์ฯและกลุ่มทุนจากประเทศดูไบ (บริษัท ดูไบอินเวสเม้นท์ แคปปิตอล จำกัด)

กระทั้งในเดือนพฤศจิกายน 51 ผู้บริหารต่างออกมาระบุว่าจะชะลอการลงทุน เพราะเกรงงมีความวิตกกังวลว่ารายได้ที่รอการรับรู้บางส่วนจะเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดได้หรือไม่ เพราะธนาคารพาณิชย์เริ่มเข้มงวดกับการปล่อยเงินกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าจะยังมีกระแสเงินสดหมุนเวียนมากพอที่จะไปชำระหนี้เงินกู้ธนาคารพาณิชย์ที่กู้มาพัฒนาโครงการจำนวน 5 พันล้านบาทได้

แจงปรับโครงสร้างองค์รับภาวะศก.

นายสมโภชน์ อินทรานุกูล ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การลาออกของนายคอร์นิค เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ตามภาวการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยนายวิริออท เป็นคนของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่

ทั้งนี้นอกจากการเปลี่ยนผู้บริหารใหม่แล้ว ไรมอนแลนด์ ยังปรับโครงสร้างของบริษัทใหม่ ลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งได้แก่การลดพนักงานในส่วนที่ไม่จำเป็นออก โดยเฉพาะคนที่มีเงินเดือนสูงมากๆ ส่วนจะลดพนักงานจำนวนมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ถือหุ้นจะพิจารณา

ส่วนแผนการดำเนินงานนั้นจะต้องรอในนายวิริออท เป็นผู้นำเสนอขึ้นมาใหม่ แต่จะต้องเป็นแผนที่ปรับองค์กรให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการสร้างรายได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ นอกจากนี้จะต้องหาผู้ถือหุ้นเข้ามาเพิ่มอีกด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา

อนึ่ง ปี 51 ไรมอน แลนด์ มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามงบการเงินเฉพาะกิจการ 381.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 309.94 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2550 มีกำไรสุทธิเพียง 71.17 ล้านบาท ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ในปี 2551 บริษัทสามารถรับรู้รายได้ จากการขายโครงการอสังหาฯได้มากกว่า ปีก่อนเป็นจำนวน 811.30 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 80 % ) โดยในปีนี้สามารถรับรู้รายได้จากการขายโครงการ 1,830.11 ล้านบาท ในขณะที่ปีที่แล้วรับรู้รายได้จากการขายโครงการ 1,018.81 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น