xs
xsm
sm
md
lg

จุดเปลี่ยนทุนนิยมโลก จุดเปลี่ยนการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

We're all Keynesians now.
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็คิดแบบเคนส์ กันหมดแล้ว


ข้างต้นเป็นอมตะวาจาของ นายริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กล่าวไว้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 อันเป็นการสะท้อนให้เห็นแนวคิดทางทางเศรษฐศาสตร์และแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจกระแสหลักของโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือที่นักเศรษฐศาสตร์รู้จักดีในนามของ The Great Depression ซึ่งเกิดขึ้นราว ค.ศ.1929-1930 (ราว พ.ศ.2472-2473) และกินเวลายาวนานหลายปี

ดังที่หลายคนทราบ ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งนั้นถือเป็นเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของศตวรรษที่ 20 และทำให้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบเคนส์ (Keynesian) กลายเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของโลก

เนื่องจากในช่วง Great Depression เมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้วนั้น จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชี้ให้เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการที่ระบบตลาดทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือคือ นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น มีอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และระดับราคาสินค้ามีเสถียรภาพ … ซึ่งสุดท้ายทฤษฎีของเคนส์ก็พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้ได้จริง

หันกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ในยุคสมัยที่หลายคนเชื่อว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่มีความย่ำแย่พอๆ กับ The Great Depression ได้หวนกลับมาอีกครั้ง โดยนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนระดับโลกหลายคนต่างชี้ให้เห็นว่านี่แหละคือ The Great Depression II หรือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งที่ 2

อย่างที่กล่าว ท่ามกลางปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้ รัฐบาลทั่วโลกต่างก็คิดและทำแบบเคนส์กันหมด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน รวมทั้งประเทศไทย

รัฐบาลสหรัฐฯ โดยนายบารัค โอบามา เพิ่งลงนามรับรองมาตรการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7.8 แสนล้านดอลลาร์ รัฐบาลจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ก็เพิ่งประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (หรือเกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์) ส่วนรัฐบาลไทยโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองก็มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณจำนวนหลายแสนล้านบาทเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 มูลค่า 116,700 ล้านบาท ที่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจเช่นเดียวกับผมว่า ครั้งนี้แนวคิดแบบเคนส์จะพาเราข้ามผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่?

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมสะดุดและตั้งคำถามกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ก็คือ การที่ได้ฟังผู้รู้หลายๆ ท่านทั้งจากในและนอกประเทศที่ระบุตรงกันว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นเรื่องหนักหนาเกินกว่าที่รัฐบาลใดๆ จะควบคุมแล้ว สิ่งที่ทำอยู่หรือนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหลายแหล่ที่นำออกมาใช้ แท้จริงแล้วกลับเป็นเพียง “ยาดม-ยาหม่อง” หรือ “ยาแก้ปวด” เท่านั้น มิใช่การรักษาโรคที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

“วิกฤตในขณะนี้ร้ายแรงจนเกินกว่าจะควบคุมได้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่ยังจะมัวไปคิดว่ามีกลไกอันใดที่จะทำให้การฟื้นตัวประสบผล สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุด ไม่ได้อยู่เพียงเรื่องที่เรากำลังจะเผชิญหน้ากับภาวะตกต่ำที่รุนแรงมากๆ แต่อยู่ที่เราจะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้” พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุดกล่าวเตือนที่กรุงวอชิงตันในเดือนกุมภาพันธ์

ขณะที่ทางฝั่งพ่อมดการเงินโลกที่คนไทยรู้จักดีอย่างนายจอร์จ โซรอส ก็ออกมาให้ทัศนะในทำนองเดียวกันว่า ณ วันนี้ เขายังมองไม่เห็นจุดต่ำสุดของการล่มสลายของโครงสร้างทางการเงินของโลกเลย

อีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุกให้ผมคิดได้ว่า พวกเราต้องหันมาทบทวนแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังก็คือ สภาวะที่รัฐบาลสหรัฐฯ และชาวอเมริกันพยายามก่อหนี้อย่างไม่สิ้นสุด ด้วยการเร่ขายพันธบัตรสหรัฐฯ ให้กับประเทศที่ระบบเศรษฐกิจด้อยพัฒนากว่า ประชาชนยากจนกว่า

ล่าสุด ในการมาเยือน 4 ชาติเอเชียประกอบไปด้วยญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และจีน ของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ระหว่างอยู่ที่ประเทศจีน คลินตันพยายามขอร้องให้รัฐบาลจีนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไป เพื่อที่โอบามา จะได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปโปะในงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 7.8 แสนล้านดอลลาร์ (ทั้งๆ ที่ปัจจุบันจีนก็เป็นประเทศผู้ถือพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุดในโลกอยู่แล้วหรือคิดเป็นมูลค่ามากถึง 696,2000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ซึ่งหากจะกล่าวด้วยภาษาง่ายๆ ก็คือ สหรัฐฯ ก็คือคนรวยที่กำลังเร่ขอยืมเงินคนจนนั่นแหละ!

ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจโลกที่ฝืนธรรมชาติ และ ผิดปกติ ดังกล่าว จึงนับเป็นเรื่องที่ลำบากยากเย็นแสนเข็ญ จนถึงขั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไปตั้งความหวังว่า ภายในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ภายในปีหน้า หรือ สักวันใดสักวันหนึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นเหมือนเคย และ เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวดังกล่าว โดยทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยกระเตื้องขึ้นจากเดือนมกราคม 52 ที่ติดลบมากเป็นประวัติการณ์ถึง ร้อยละ 26.5 และช่วยฉุดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นคืนชีพกลับมาอยู่ในแดนบวกได้อีกครั้ง

พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ นับจากวันนี้เป็นต้นไปภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนไป และไม่มีวันที่จะหวนคืนกลับไปเป็นเหมือนเดิม โดยสหรัฐฯ จะไม่สามารถคงความเป็นศูนย์กลางอำนาจเดี่ยวทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกดังเช่นที่เป็นมาตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็นได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ผมยังเชื่อด้วยว่า ในความเสื่อมถอยของสถานะในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะทำให้ปรัชญาทางเศรษฐกิจและดำเนินชีวิตของชาวอเมริกันที่เน้นการสร้างเครดิตเพื่อนำไปก่อหนี้ การเอาเงินต่อเงิน การแสวงหากำไรเกินควร การขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจแบบเกินปกติ การใช้เงินเกินตัว ความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบสิ้นเปลือง เสื่อมถอยตามไปด้วย

ปัญหาก็คือ ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้เราคนไทยจะตัดสินใจหันไปหาปรัชญาและแนวนโยบายทางเศรษฐกิจใด เพื่อทำให้คนไทยอยู่ดีมีสุข?

ในความเป็นจริงแล้ว “วิกฤตเศรษฐกิจ” ก็ไม่แตกต่างไปจาก “วิกฤตการเมือง” คือ ถ้าเราไม่กัดฟันยอมรับความเปลี่ยนแปลง เดินหน้าปฏิรูป และ ผลักดันให้เกิด ระบบเศรษฐกิจใหม่ และ การเมืองใหม่ วิกฤตก็ย่อมหมุนเวียนกลับมาหลอกหลอนเราเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่ไม่สิ้นสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น