xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบกองทุนฟื้นฟูฯกลับบ้าน หลังรับแจกที่ดินคนละ15ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค โดยให้ส.ป.ก.ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งอนุมัติงบกลาง 1,700 ล้านบาท จัดซื้อที่ดินให้เกษตรกร ที่ลงทะเบียนไว้ 1,889 คน คนละ 15 ไร่ และจะแก้ปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ที่ลงทะเบียนไว้ 2,022 คน โดยใช้เงิน 2,500 ล้านบาท
ทั้งนี้หลังการปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเวลา 116 วัน เมื่อเวลา 06.00 น.วันนี้ (8 ก.พ.) กลุ่มเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาคได้เก็บข้าวของขึ้นรถบัส กลับภูมิลำเนา เพื่อรอการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลที่ศูนย์อพยพ คนไทยไร้แผ่นดิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมาแล้ว
ตามประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 7 ของเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ระบุว่าพอใจในคำมั่นสัญญาของรัฐบาล ที่จะแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและหนี้สิน รวมทั้งการฟื้นฟูอาชีพให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. แต่หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ โดยไม่มีความเคลื่อนไหว และก้าวหน้าอย่างใด ถือว่ารัฐบาลหลอกลวง สภาประชาชน 4 ภาค จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป
ด้านนายชาติชาย พุคยาภรณ์ รมช.เกษตร และสหกรณ์ กล่าวมั่นใจว่าจะสามารถจัดทำแผนการจัดหาที่ดินร่วมกันได้โดยเร็ว และจะเสนอกลับสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายชาติชาย ได้เดินทางมาส่ง และให้กำลังใจ พร้อมทั้งมอบค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้าย และข้าวสารจาก รมว.เกษตรฯ ให้แก่ผู้ชุมนุม
รายงานแจ้งด้วยว่า เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวปักหลักมาตั้งแต่ สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และปักหลักเรื่อยมาในสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนมามีข้อยุติในสมัยนายอภิสิทธิ์
ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้เห็นชอบในหลักการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ โดยมอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการตามพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532
สำหรับงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดให้เกษตรกรนั้น เห็นควรให้ ส.ป.ก. ตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรดังกล่าวให้ชัดเจน และพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2552 มาดำเนินการในโอกาสแรกก่อน และหากไม่เพียงพอก็ให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 26 ม.ค.52 และพิจารณาเห็นว่า เนื่องจากไม่สามารถหาที่ดินของรัฐได้ ส่วนที่ดินของ ส.ป.ก. ที่มีอยู่เพียงประมาณ 3,474 ไร่ ก็ไม่เพียงพอ และยังเป็นแปลงเล็กแปลงน้อยอยู่กระจัดกระจาย ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค ที่ต้องการที่ดินแปลงใหญ่สามารถทำกินรวมกลุ่มกันได้ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ดังนี้
1.ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นผู้จัดซื้อที่ดินและดำเนินการจัดที่ดินให้แก่สมาชิกเกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค
2. ให้ ส.ป.ก.จัดทำสัญญาเช่าซื้อกับเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินทำกินกำหนดระยะเวลาตามสัญญา 25 ปี โดยปลอดดอกเบี้ยในระยะเวลา 5 ปีแรก เริ่มชำระหนี้ในปีที่ 6-25 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ของราคาที่ดินที่จัดซื้อ
3. เงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดซื้อที่ดิน แบ่งเป็น ดังนี้ 1) ค่าที่ดิน 1,700,100,000 บาท 2) ค่าบริหารจัดการ คิดเป็นเงิน 51,003,000 บาท
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ยังมีข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการดำเนินการ ประกอบด้วยด้านที่ดินโดยให้ ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร ตามพ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2519 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 และมีอำนาจจัดซื้อที่ดินตามมาตรา 29 ขณะที่ที่ดินที่จะจัดซื้อจะต้องมีหลักเกณฑ์เป็นที่ดินที่มีหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น โฉนด นส.3ก เป็นที่ดินที่มีศักยภาพในการประกอบเกษตรกรรมและมีขนาดที่เหมาะสม เกษตรกรมีความพึงพอใจในที่ดิน ราคาที่ดินที่จะจัดซื้อให้พิจารณาจากราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ ราคาซื้อขายของที่ดินบริเวณใกล้เคียง และราคาซื้อขายที่ดินปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 3 ปี ประกอบกัน และขนาดที่ดินที่จะจัดให้ ไม่เกินรายละ 15 ไร่
ส่วนหลักเกณฑ์ ด้านเกษตรกรผู้ที่จะได้รับการจัดที่ดิน จะต้องเป็นเกษตรกรตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินที่ยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเกี่ยวกับที่ดินทำกิน หรือการจัดที่ดินจากหน่วยงานของรัฐ ต้องไม่มีที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย แต่ไม่เพียงพอแก่การประกอบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ ทั้งนี้จะต้องเป็นผู้ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น