xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ถดถอยกระทบแผนทหารสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - สถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (ไอไอเอสเอส) ระบุเมื่อวันอังคาร (28) ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านการทหารทั่วโลก และจะทำให้นโยบายถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักแล้วเสริมกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานแทนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องประสบปัญหายุ่งยาก เพราะเขาอาจจะต้องขัดแย้งกับพันธมิตรในกลุ่มนาโตที่กำลังรัดเข็มขัดตัวเองเต็มที่ในภาวการณ์ปัจจุบันเช่นกัน
ในรายงานเรื่อง "ความสมดุลทางทหารปี 2009" ซึ่งจัดทำโดยสถาบันศึกษาวิจัยชื่อดังที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนแห่งนี้ ระบุว่า ในขณะที่โอบามากำลังเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ จากสมัยรัฐบาลบุช เขาก็จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงและความจำเป็นเร่งด่วนภายในประเทศให้มากกว่าก่อนด้วย
เพราะ "วิกฤตด้านการเงินจะส่งผลกระทบต่อการจัดกำลังกองทัพทั่วโลก และในอนาคต ประเทศที่ทุ่มงบประมาณกับปฏิบัติการทางทหารในต่างประเทศอย่างมหาศาล จะถูกกดดันให้ลดงบประมาณทางการทหารลง เนื่องจากรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเงินกับเรื่องเร่งด่วนภายในประเทศอีกมาก"
จอห์น ชิปแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอไอเอสเอส กล่าวว่า "งบประมาณด้านการทหารทั่วโลกจะได้รับผลกระทบแน่นอน" และในระยะยาว "คงจะเป็นเรื่องประหลาดถ้าหากไม่มีการปรับลดงบประมาณการทหารในสหรัฐฯลง"
อเล็กซ์ นิคอล บรรณาธิการอำนวยการของไอไอเอสเอสกล่าวด้วยว่า แรงกดดันด้านงบประมาณการทหารอาจนำไปสู่การมีทรัพยากรน้อยลงสำหรับการเข้าแทรกแซงวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว "ก็เป็นไปได้ที่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งต่างๆ จะเป็นปัญหามากขึ้น ในขณะที่ประเทศตะวันตกอาจจะลังเลหรือเข้าแทรกแซงปัญหาช้าลงกว่าเดิม"
นอกจากนั้น ไอไอเอสเอสยังกล่าวถึงกองกำลังของกลุ่มอัลกออิดะห์ตามแนวชายแดนปากีสถานกับอัฟกานิสถานว่า "มีการเพิ่มปฏิบัติการของกลุ่มมากขึ้นในปากีสถาน และยังคงสนับสนุนพวกก่อความไม่สงบในอัฟกานิสถานด้วย"
ส่วนรัสเซียนั้นกำลังเพิ่มบทบาทด้านกำลังทหารไปทั่วโลกหลังจากที่เคยพังทลายไปในช่วงหลังสงครามเย็น และรัสเซียก็รู้สึกภาคภูมิใจกับกองทัพของตนมากขึ้นเมื่อสามารถเอาชนะจอร์เจียได้ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ รายงานระบุอีกว่า "การขยายบทบาทของสหรัฐฯ และนาโตเข้าไปในพื้นที่ผลประโยชน์ดั้งเดิมของรัสเซีย คือแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการทหารของรัสเซียในปัจจุบัน เพราะรัสเซียมองว่าบทบาทของของชาติตะวันตกเหล่านี้คือภัยคุกคามโดยตรง"
ทั้งนี้รายงานยังกล่าวถึงนโยบายทุ่มเสริมกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปในอิรักของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ว่าประสบผลสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัยในแง่ที่สามารถลดความสูญเสียของพลเรือน และหยุดยั้งไม่ให้อิรักไม่ให้เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองได้ ทว่าก็แทบไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าการเปิดทางให้นักการเมืองในอิรักหาทางสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติจะมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน ดังนั้นสหรัฐฯ จึงยังต้องติดตามผลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น