xs
xsm
sm
md
lg

ชี้”รัฐสภาUS”คือปัจจัยเสี่ยงที่สุดในปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ –การเมืองจะมีบทบาทโดยตรงมากขึ้นต่อการผลักดันเศรษฐกิจโลกในปี 2009 ยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ทั้งนี้เป็นการสรุปของบริษัทที่ปรึกษา ยูเรเซีย กรุ๊ป โดยในรายงาน “สุดยอดปัจจัยความเสี่ยง”ปีนี้ของบริษัท ยังได้ยกให้รัฐสภาอเมริกันเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของโลกประจำปี2009

“ไม่ว่าคุณจะเป็นซีอีโอของบริษัทชั้นนำหรือเป็นนักลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ คุณไม่มีทางจะเพิกเฉยต่อเรื่องการเมืองและความเสี่ยงทางการเมือง เพราะสองอย่างนี้จะมีส่วนผลักดันผลประกอบการของตลาดในปีนี้ รวมทั้งจะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็นผู้ชนะหรือพ่ายแพ้ในปีนี้ด้วย” เอียน เบรมเมอร์ ประธานของยูเรเซีย กรุ๊ปกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์(5)

ขณะที่ในรายงาน “สุดยอดปัจจัยเสี่ยงแห่งปี 2009” ที่ยูเรเซีย กรุ๊ปจัดทำให้กับลูกค้า ระบุว่า วิกฤตการณ์การเงินโลกที่เกิดขึ้น จะทำให้การแทรกแซงของภาครัฐต่อเศรษฐกิจ กลายเป็นปัจจัยอันสำคัญในปีนี้ และเพราะว่าการแทรกแซงทางการเมืองจะไปอิงอยู่กับวาระแห่งชาติและนโยบายประชานิยม ดังนั้นจึงอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงลบที่ไม่ได้เจตนาจะให้เกิดขึ้นกับตลาดโลกได้

“ไม่ใช่แค่พวกประเทศตลาดเฟื่องฟูใหม่อย่างจีนและรัสเซียเท่านั้น ที่กำลังผลักดันแนวโน้มที่ว่านี้ แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่เห็นกันแล้วว่ามีแนวโน้มจะไปในทิศทางที่รัฐเข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างตอนนี้ก็มีสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป” เบรมเมอร์บอก

เขายังกล่าวด้วยว่า “การเมืองและนักการเมืองทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็กำลังอัดฉีดแนวคิดทางการเมืองเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ในตลาดการเงินและการลงทุนต่างประเทศ”

“แต่ความเสี่ยงที่แท้จริงอย่างหนึ่งก็คือว่า พวกนักการเมืองเหล่านี้กำลังออกกฎระเบียบคุมเข้มเกินไป ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของเงินทุนโดยเสรี ซึ่งจะไปถ่วงการลงทุนในต่างประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในอีกหลายปีข้างหน้า”

เบรมเมอร์บอกว่า แต่เดิมมานั้นความเสี่ยงทางการเมืองเคยเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อพวกตลาดเฟื่องฟูใหม่ มากกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว ทว่าในปี 2009 นี้ ความเสี่ยงสูงที่สุดกลับมาอยู่ที่รัฐสภาของสหรัฐฯ

เขาแจกแจงว่า “การบวกกันของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ กับการที่รัฐสภาสหรัฐฯกำลังมีความเข้มแข็งกว่าเดิม แสดงให้เห็นว่าความสมดุลกำลังโน้มเอียงเปลี่ยนไปมาก จากจุดที่เคยเป็นมาตลอดทศวรรษก่อน ก็เลยทำให้สภาคองเกรสกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดของโลกในปี 2009”

เบรมเมอร์บอกว่าความเสี่ยงสูงสุดอันดับที่สอง ก็คือสถานการณ์ด้านความมั่นคงในเอเชียใต้ที่แย่ลงไปทุกที เขาชี้ว่า “ความเสี่ยงด้านความมั่นคงและการก่อการร้ายได้เคลื่อนตัวไปทางตะวันออกอย่างชัดเจนมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความมั่นคงในอินเดีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถานจะลดน้อยลงอย่างมาก ขณะที่สหรัฐฯ
และยุโรปจะเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งในสามประเทศนี้”

ส่วนโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมทั้งแนวโน้มที่อิหร่านจะเกิดความขัดแย้งกับอิสราเอลก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยอิหร่านน่าจะมีศักยภาพในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงและจะทำให้ความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ลุกลามขึ้น

ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ ที่เบรมเมอร์ระบุว่าต้องจับตาดู ได้แก่
- รัสเซีย “วิกฤตการณ์ทางการเงินมีแนวโน้มจะทำให้เกิดความไม่สงบในรัสเซียมากขึ้น ในขณะที่รัสเซียมีระดับความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกือบเป็นศูนย์ ส่วนรัฐบาลของโอบามาก็จะไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อเกิดความวุ่นวายในรัสเซียเช่นกัน ดังนั้นจึงคาดได้ว่าความสัมพันธ์ของอเมริกาและยุโรปบางประเทศ กับรัสเซียจะยังแย่ลง”

- อิรัก “ความหวังที่สหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารออกจากอิรัก รวมทั้งการจัดการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ อาจทำให้อิรักเกิดความไม่สงบภายในขึ้นมาอีกครั้ง ส่วนปัญหาขัดแย้งที่ยังไม่ยุติเกี่ยวกับเมืองเคอร์คุก ที่เป็นแหล่งน้ำมันสำคัญก็จะเป็นต้นตอไปสู่ปัญหาในระยะยาว”

- เวเนซูเอลา ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซมีแนวโน้มใช้แนวทางการปกครองแบบอำนาจนิยมมากกว่าเดิม ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองภายในมากขึ้น

- จีน ความไม่สงบในจีนจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในปี 2009 เพราะอารมณ์ความรู้สึกร่วมของคนในชาติยังค่อนไปในทางสนับสนุนรัฐบาลและสนับสนุนให้จีนมีบทบาทในเวทีโลก อีกทั้งจีนจะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีพลวัตและมีความยืดหยุ่นสูง และมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในสภาพการณ์ที่ดีกว่าตลาดเกิดใหม่แห่งอื่นๆ ของโลกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น