xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.ไม่บ้าจี้ตาม"จงรัก" ปัดตรวจสอบพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พันธมิตรฯ แจงกรณีข้อมูล สมช.หาย ข้อหาก่อการร้าย และใช้กฎหมายปปง.ตรวจสอบเงินบริจาค ด้าน ปปง.ยันทำงานยึดหลักข้อกฎหมายเป็นสำคัญ ปัดสนองตอบการเมือง เพื่อประโยชน์ของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ระบุ บริษัทสนับสนุนพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวไม่น่าเข้าข่ายองค์ประกอบความผิด ชี้ควรไปตรวจสอบเส้นทางการเงินโจรใต้ ขบวนการค้ายาเสพติด และบุคคลที่โกงบ้านโกงเมืองจะดีกว่า

จากกรณีที่ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. มีความพยายามที่จะสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีต่อแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) รวมทั้งบริษัทห้างร้านที่ให้การสนันสนุนพันธมิตรฯ จนถึงขั้นเตรียมส่งสำนวนให้กับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เอาผิดข้อหาการก่อการร้าย และยึดทรัพย์ ตามที่ นพ.เหวง โตจิราการ ได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ฐานก่อการร้ายนั้น
วานนี้ (9 ธ.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีเจตนาสร้างความเสียหาย หรือเป็นการก่อการร้ายอย่างที่มีการปั้นข้อหา และช่วงไปปิดสนามบิน ก็ไม่มีการทำลายข้าวของ หรือทำให้เกิดความเสียหาย เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ การปิดสนามบินก็เป็นการตัดสินใจของการท่าอากาศยานฯเอง
ส่วนการพยายามให้ ปปง. มาสอบแหล่งเงินสนับสนุนการชุมนุมของพันธมิตรฯนั้น เป็นการจ้องทำลายความชอบธรรมของพันธมิตรฯ เพราะการบริจาคให้กับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ แทบทั้งหมด เป็นรายเล็กรายน้อยไม่ใช่ 10 ล้าน 100 ล้าน และมีการเปิดเผยชื่อผู้บริจาคบนเวทีทุกครั้งเพื่อความสุจริตใจ และไม่เข้าข่ายฐานความผิดตามกฎหมาย ปปง.
นายสุริยะใส กล่าวว่า พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. ควรเอาใจใส่ต่อการฟอกเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ที่ทางรัฐบาลอังกฤษอายัดทรัพย์สินกว่า 4,000 ล้านเหรียญ และเม็ดเงินจำนวนมากที่เอามาซื้อตัว ส.ส.เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ จะดีกว่า
ส่วนเรื่องข้อมูลความมั่นคง และฮาร์ดดิสก์ บางส่วนของสำนักงานสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล ที่หายไปนั้น อย่าซัดทอดพันธมิตรฯ เพราะในช่วงชุมนุมที่ทำเนียบฯ มีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานมายื่นขอข้อมูล และเอกสารสำคัญๆ เป็นระยะๆ ทางเราก็อนุญาตให้นำออกไป และมีการลงนามบันทึกไว้ทุกครั้ง แต่มีครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ สมช. 5 คน แอบลักลอบเข้ามาในตึกสมช. ด้วยวิธีสแกนลายนิ้วมือ แล้วใช้แฮนดิไดร์ก็อปปีข้อมูลไปจำนวนมาก ซึ่งทางการ์ดพันธมิตรฯนำตัวมาสอบสวนทั้ง 5 คน รับสารภาพและเราบันทึกหลักฐานไว้เรียบร้อยแล้ว และที่ผ่านมาก็มีการนำตัวคนที่แปลกปลอมเข้ามาและพวกมิจฉาชีพ ส่งตัวให้กับ สน.นางเลิ้งทุกครั้งที่เราจับตัวได้ หากเจ้าหน้าที่จะขอหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทางเรายินดีให้ความร่วมมือ
"ผมเห็น พล.ต.อ.จงรัก เอาจริงเอาจังกับข้าวของหายที่ทำเนียบรัฐบาล ลงทุนดำน้ำหาอาวุธร้าย แต่ก็เจอเพียงมือตบท่านก็ยอมทำ แต่กลับเพิกเฉย และไม่ใส่ใจในการสอบสวนหาตัวกลุ่มผู้ก่อการร้าย ที่ยิงระเบิด และยิงปืนเข้าใส่พันธมิตรฯหลายครั้ง จนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก จนป่านนี้ ยังจับมือใครดมไม่ได้ หรือว่าตำรวจมีเอี่ยวกับการก่อร้ายดังกล่าว ผมอยากเตือนตำรวจที่ยังฝักไฝ่ระบอบทักษิณจนเพลินอยู่ในขณะนี้ว่า ถ้ายังพยายามปั้นข้อหาเท็จ จะถูกฟ้องกลับอย่างแน่นอน และควรนึกถึงบทเรียนกรณีการตั้งข้อหากบฎกับแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งในที่สุดศาลอุทธรณ์ ก็มีคำสั่งเพิกถอนข้อกล่าวหา" นายสุริยะใสกล่าว

ปปง.ไม่บ้าจี้ตาม"จงรัก"

แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.อ.จงรัก จะตรวจสอบการบริจาคเงินให้พันธมิตรฯ ว่า เป็นการมุ่งทำลายกันทางการเมืองมากกว่า โดยมีนายตำรวจที่ต้องการขึ้นมาเป็นใหญ่ อยากจะสร้างผลงานให้แก่ตัวเอง โดยเอา ปปง.เป็นทางผ่านในการดำเนินคดีฝ่ายตรงข้าม
อย่างไรก็ตาม ปปง. เป็นองค์กรที่ทำงานโดยยึดหลักข้อกฎหมายเป็นสำคัญ หากเรื่องใดเข้าข่ายองค์ประกอบความผิด ก็จะดำเนินการให้ แต่หากไม่เข้าองค์ประกอบ ก็จะไม่รับดำเนินการ โดยจะทำตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ส่วนจะให้ไปตรวจสอบ ทรัพย์สินของใคร เพื่อหวังผลทางการเมือง ปปง. ก็จะไม่ดำเนินการ
แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า สำหรับข้อหาก่อการร้าย ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก อีกทั้งการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก็น่าจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิด เพราะกฎหมายให้พิจารณาถึงเรื่องเจตนาเป็นสำคัญ ส่วนสุดท้ายแล้วจะเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องให้นักกฎหมาย และผู้รู้ทั้งหลายช่วยกันวิเคราะห์ แต่ในส่วนของ ปปง. ดูว่าไม่น่าจะเข้าข่ายองค์ประกอบความผิด
แหล่งข่าว ปปง. ยังได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ของกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการที่ก่อความไม่สงบอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งขบวนการค้ายาเสพติด หรือ กลุ่มบุคคลที่โกงชาติบ้านเมือง มากกว่ามาตรวจสอบบริษัท ที่ให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมที่ทำเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.จงรัก ได้ตั้งข้อหาการยึดสนามบินว่าเป็นมูลฐานความผิดตามอนุสัญญาภาคีระหว่างประเทศ ประเทศนั้นๆ ก็จะระงับการนำเข้าสินค้าของบริษัทต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังที่ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุน ซึ่งจะส่งให้ปปง. ดำเนินการ แต่ทาง ปปง. ย้ำว่าไม่สามารถดำเนินการกับเอกชนที่ให้การสนับสนุน หรือไประงับการนำเข้าสินค้าของบริษัทที่ให้การสนับสนุนได้ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาการฟ้องร้องขึ้นได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับในเรื่องนี้
สำหรับบริษัทเอกชนที่ถูกทางกลุ่ม นปช. กล่าวอ้างว่าให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯนั้นมีหลายราย และต่อต้านไม่ให้มีการซื้อสินค้าจากบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคเหล่านั้น เช่น กลุ่มสหพัฒน์ฯ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ หรือซี.พี. ซึ่งทางบริษัทที่ถูกกล่าวอ้างว่าให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง(อ่านข่าวย้อนหลังฉบับวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 29-30 พ.ย.หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวันได้นำเสนอ.."พปช.เปิดศึกภาคธุรกิจ ยุยง"บอยคอต"สินค้ามั่ว " ซึ่งหากมีกระแสข่าวที่ผิดไปจากนโยบายดังกล่าว ขอให้ทุกท่านทราบว่าข่าวนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งทางกลุ่มสหพัฒน์ฯ ย้ำว่า เป็นกลุ่มบริษัทคนไทยเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต มีธรรมาภิบาล ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคมาตลอด 60 ปี จึงมีนโยบายความเป็นกลางทางการเมือง ไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ขณะที่กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ได้ชี้แจงว่า ทางบริษัทได้แจ้งให้พนักงานทุกกลุ่มในเครือธุรกิจฯได้รับทราบว่าถึงจุดยืนดังกล่าว ซึ่งจะเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และยึดมั่นในนโยบาย ในการทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน บริษัท พนักงาน และผู้ถือหุ้น

"ทองใบ"ยันต้องมีหลักฐาน

ด้านนายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความรางวัลแมกไซไซ และ อดีต ส.ว.มหาสารคาม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่พันธมิตรฯ ถูกข้อกล่าวหาก่อการร้าย ในข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ถึง 135 /4 ได้ระบุไว้อย่างกว้างๆ ไม่ใช่ว่ากล่าวหาอะไรกับใคร คนนั้นต้องผิด จะผิดหรือถูก ทุกอย่างต้องสู้กันด้วยกฎหมาย ตามพยานหลักฐาน โดยศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา จะเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งกฎหมายในมาตราดังกล่าวในข้อกล่าวหาก่อการร้ายได้มีการแก้ไขในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการในเรื่องนี้และจะส่งเรื่องให้ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางของเงินที่มีบริษัท ห้างร้านต่างๆ สนับสนุนพันธมิตรฯนั้น ตนมองว่าตำรวจคงทำตามที่มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งก็ต้องให้ศาลตัดสิน และต้องสอบสวนต่อสู้กันทางพยานหลักฐาน สุดท้ายก็ต้องให้ศาลตัดสิน
"กฎหมายอาญาเขียนไว้กว้างๆ ในมาตรา 135/1 ถึง 135/4 ใครตั้งข้อหาคุณเป็นผู้ก่อการร้ายจุดแรกทุกคนก็ต้องปฏิเสธไป เพราะไม่ได้ทำ แต่ทุกอย่างก็ต้องสู้กันตามหลักฐานให้ 3 ศาลพิพากษา ไม่ใช่ว่ามีคนมาหาว่าทำผิด ก็ต้องผิดตามนั้น มันไม่ใช่" นายทองใบกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น