xs
xsm
sm
md
lg

โทสะบวกโมหะ : เหตุให้ทักษิณวิพากษ์อังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทสะ 5 ประการนี้ในบุคคลพูดมาก คือ

1. ย่อมพูดปด 2. ย่อมพูดส่อเสียด (คือยุยงให้แตกร้าวกัน) 3. ย่อมพูดคำหยาบ 4. ย่อมพูดเพ้อเจ้อ 5. สิ้นชีวิตแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก”

ทั้ง 5 ประการนี้ เป็นพุทธพจน์ที่ปรากฏเป็นที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 หน้า 282 หมวดปัญจกนิบาตอังคุตตรนิกาย

โดยนัยแห่งโทษ 5 ประการนี้ มีความหมายชัดเจนแล้วตามตัวอักษร ไม่มีความจำเป็นต้องอธิบายขยายความใดๆ เป็นการเพิ่มเติม

แต่ท่านผู้อ่านอาจสงสัยไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า คนพูดมากว่าพูดแค่ไหนจึงได้ชื่อว่าเป็นคนพูดมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีพุทธาธิบายไว้ในที่บางแห่งว่า คนที่พูดแม้ไม่มีเรื่องต้องพูด และไม่หยุดพูดเมื่อหมดเรื่องพูด คือพูดมากในความหมายนี้ เพราะคนที่พูดทั้งที่ไม่มีเรื่องพูด ถ้าไม่พูดโกหกก็ต้องพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ หรือไม่ก็หาเรื่องส่อเสียดผู้อื่น และคนที่พูดในเรื่องทำนองนี้แน่นอนว่าต้องใช้คำหยาบ

อะไรคือเหตุให้คนมีพฤติกรรมทางวาจาเฉกเช่นนี้?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ตอบได้ไม่ยาก เพียงแต่ย้อนไปดูพุทธพจน์ที่ว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นหัวหน้า หากคนมีใจถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมทำอันตรายต่อผู้อื่นยิ่งกว่าโจรกระทำต่อโจร

จากนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเน้นหรือให้ความสำคัญต่อจิตใจมากกว่าด้านร่างกาย หรือพูดง่ายๆ ก็คือให้จิตใจบงการเหนือร่างกายทุกประการ

ดังนั้นผู้ที่ถูกอกุศลมูล คือโทสะ และโมหะครอบงำแล้วจะไม่ทำชั่วทางกาย และวาจาย่อมไม่มี ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนมากด้วยความรู้ และมีฐานะทางสังคมสูงส่งสักปานใดก็ตาม และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเรื่องนี้ ณ วันนี้ เวลานี้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีฐานะร่ำรวยและเคยมีตำแหน่งเป็นถึงผู้นำประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธ และแถมในอดีตเคยอ้างถึงภาวะการเข้าถึงธรรมในระดับเจโตวิมุตติมาหลายครั้งหลายหนในยุคที่ยังอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่มาบัดนี้ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นคนมีพฤติกรรมทางวาจาถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นวจีทุจริตเต็มรูปแบบ เมื่อออกมาวิพากษ์รัฐบาลอังกฤษด้วยลักษณะท่าทีของคนที่ถูกโทสะครอบงำ เนื่องจากถูกอังกฤษยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศเป็นเหตุให้ต้องระเหเร่ร่อนไปอยู่ดูไบ ด้วยคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรงว่า “ประเทศอังกฤษไม่เคารพคุณค่าทางด้านประชาธิปไตยของตัวเอง”

จากข้อความในประโยคข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการพูดด้วยโทสจริตที่ครอบงำทำให้ขาดเหตุผลที่บุคคลในระดับด็อกเตอร์จะพึงมี เพราะการจะให้เข้าประเทศหรือไม่ให้เข้าประเทศ รัฐบาลของทุกประเทศมีความเป็นเอกราช มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะดำเนินการภายใต้กฎหมาย และความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์โดยรวมของปวงชนในประเทศนั้นๆ

กรณีของทักษิณกับรัฐบาลอังกฤษก็ในทำนองเดียวกัน เมื่อทักษิณต้องคดีในประเทศของตน และศาลไทยได้มีคำพิพากษาตัดสินแล้วว่ามีความผิดต้องโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา สถานภาพของทักษิณวันนี้ก็คือ นักโทษหนีคุกและในขณะที่ทักษิณอาศัยดินแดนของประเทศอังกฤษ ทั้งยังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะก่อกวนความไม่สงบให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้คนที่ยังเป็นฐานการเมืองของตน และรัฐบาลตัวแทนที่หลิ่วตามองไม่เห็นสิ่งที่ทักษิณ และพวกพ้องกระทำเป็นความผิด จึงทำให้เจ้าของประเทศจำใจต้องเลือกระหว่างคนคนเดียวกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่ไม่นิยมชมชอบทักษิณ และเห็นว่าเป็นตัวการก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย

และนี่เองน่าจะเป็นเหตุให้อังกฤษถอนวีซ่า และการถอนวีซ่าของรัฐบาลอังกฤษทำให้สถานะทางสังคมของอดีตผู้นำรัฐบาลไทยถึงทางตัน ที่จะแอบอ้างความชอบธรรมที่ประเทศมหาอำนาจซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเช่นอังกฤษเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวเอง ปิดบังหรือกลบเกลื่อนความผิดที่ผู้คนในประเทศไทยกล่าวหาว่าเป็นคนโกงได้ในระยะแรก

แต่วันนี้และเวลานี้ข้ออ้างที่ว่านี้ได้หมดความชอบธรรมลง จึงทำให้ทักษิณโกรธและด่าอังกฤษดังกล่าว

ส่วนประเด็นที่ว่าโมหะเป็นเหตุให้ทักษิณวิพากษ์อังกฤษนั้น จะเห็นได้จากอาการหลงตัวเองในกรณีพูดถึงการกลับมาประเทศไทยที่ว่า “ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกว่าผมสามารถเป็นประโยชน์ ผมก็จะกลับไป และพระองค์พระราชทานอภัยโทษแก่ผม ถ้าพวกเขาไม่ต้องการผม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงรู้สึกว่า ผมไม่สามารถทำอะไรให้ต่างออกไปได้ ผมก็จะอยู่ที่นี่ และทำธุรกิจต่อไป”

จากคำพูดข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าทักษิณพูดประโยคนี้ออกมาจากภาวะจิตที่ถูกครอบงำด้วยโมหะ คือ ความหลงตัว และลืมไปว่าตนเป็นใคร และเคยทำอะไรไว้จึงต้องหนีคุกหรือตะรางอันเป็นวิบากกรรมที่ตัวเองก่อขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือความผิดที่ตัวเองกระทำนั่นเอง ทำให้ทักษิณต้องหนีออกไปอยู่ในประเทศอังกฤษหลังจากที่ถูกโค่นล้ม และกลับเข้ามาต่อสู้คดีและแพ้คดี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทักษิณจะให้ใครทำอะไรให้แก่ตัวเองก็ต้องถามตัวเองบ้างว่า เคยทำอะไรไว้แก่ใครผลจึงได้ลงเอยแบบนี้ ก็จะให้คำตอบว่า ความผิดที่ตัวเองทำไล่ตัวเองออกไป แล้วจะให้ใครยกโทษให้ ถ้าคิดได้เช่นนี้เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะได้คำตอบว่าควรจะกลับมาเมืองไทยหรือไม่ และกลับอย่างไร

ทั้งหมดที่เขียนมานี้ ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นสัจธรรมที่ว่า กรรมที่บุคคลได้กระทำแล้วย่อมให้ผลแก่ผู้กระทำนั้น ทั้งในส่วนกุศลและอกุศล ครั้นกรรมให้ผลแล้วไม่มีใครจะปฏิเสธไม่รับผลแห่งกรรมนั้นได้ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสร้างเงื่อนไขต่อรองเพื่อมิต้องรับผลแห่งกรรมนั้นด้วย เพราะใครก็ตามที่ทำเช่นนี้ จะไม่จัดว่าอยู่ในภาวะปกติชน
กำลังโหลดความคิดเห็น