xs
xsm
sm
md
lg

ยะลาเร่งเดินเครื่องยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ เร่งสนามบินเบตง-ปรับปรุงถนน970ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ยะลาเร่งสปีดยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์พัฒนาเส้นทางคมนาคมเปิดเส้นทางเศรษฐกิจ โครงการสนามบินนานาชาติ (ขนาดเล็ก) เบตงมูลค่า 200 ล้านลุ้นผ่าน EIA คาดสร้างเสร็จภายในปี 53 ด้าน “สกาย อายส์” ใจร้อนทาบ “นายกเล็ก” จ่อลงเครื่องบิน 8 ที่นั่งแล้ว โวเล็กแต่จิ๋วขนนักธุรกิจจากหาดใหญ่และภูเก็ตลงพื้นที่ ขณะที่โครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนสายยะลา-เบตงตอน 3 มูลค่าโครงการ 970 ล้านบาท เพื่อสร้างอุโมงค์และสะพานข้ามเขื่อนบางลาง ระหว่างนี้ได้เร่งประชาสัมพันธ์เส้นทางลัดเลี่ยงสู่มาเลย์ก่อนเข้าด่านเบตง


จ.ยะลาเร่งดำเนินยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์พัฒนาเส้นทางคมนาคมเปิดเส้นทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและการลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.เบตง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักที่มีความปลอดภัยกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจเดินทางเข้ามา ตลอดจนได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย โดยมีเทศบาลเมืองเบตง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้เกี่ยวแขนส่งเสริมทั้งการลงทุนและการท่องเที่ยวเดินไปด้วยกัน

ทั้งโครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนสายยะลา-เบตง ซึ่งกรมทางหลวงกำหนดงานออกเป็น 4 ตอน โดย ล่าสุด มติ ครม.ชุดเก่าได้มอบหมายให้ทหารเป็นผู้ดำเนินการในตอน 3 ทั้งการเจาะอุโมงค์ใต้ภูเขาประมาณ 800 เมตร และก่อสร้างสะพานข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง หรือกับสะพานคอกช้าง เพื่อย่นระยะเข้าสู่เมืองเบตง ซึ่งใช้งบก่อสร้างสูงสุด 970 ล้านบาท

ในขณะที่เทศบาลเมืองเบตงเองได้ผลักดันโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติ (ขนาดเล็ก) เบตง ตั้งอยู่บ้านจันทรัตน์ ต.ยะรม อ.เบตง งบประมาณก่อสร้าง 200 ล้านบาท มีลู่วิ่งความยาว 1,500-1,800 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดประมาณ 80 ที่นั่ง หรือ เครื่องบินโดยสาร ATR-72 โดยได้ถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาของ จ.ยะลา ทั้งยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของพื้นที่อนุภาคจังหวัดชายแดนใต้ตอนล่าง และเพื่อรองรับการพัฒนาในกรอบโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (IMT-GT) หลังเดิมที่มีแผนดำเนินการระหว่างปี 2545-2548 อีก

นายคุณวุฒิ มงคลประจักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเบตง จ.ยะลา เปิดเผยว่า โครงการสนามบินเล็กเบตง จะใช้เวลาดำเนินการทั้งหมด 3 ปี โดยขั้นตอนการเตรียมพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว และมีการเวนคืนที่ดินชาวบ้านโดยรอบประมาณ 600 ไร่ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และขั้นตอนต่อไปจะอยู่ที่กรมขนส่งทางอากาศรับผิดชอบ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดใช้อย่างเป็นทางการได้ราวปี 2553

ทั้งนี้ บริษัทสกาย อายส์ จำกัด ซึ่งมีเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำของคนไทยสนใจติดต่อมาลงยังสนามบินดังกล่าว เพื่อนำนักลงทุนจาก จ.ภูเก็ตและหาดใหญ่โดยสารเข้ามาด้วยเครื่องบินขนาด 8 ที่นั่ง เดินทางเข้ามาในพื้นที่ยะลาทันทีที่ได้รับการตอบรับ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ได้รีบเร่งตอบตกลงข้อเสนอยังกล่าว เนื่องจากระหว่างนี้ยังอยู่ในช่วงหน้าฝน แต่จะพิจารณาอีกครั้งในต้นปีหน้าแทน อีกทั้งสนามบินเล็กเบตงก็ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)

นายคุณวุฒิ ยังกล่าวต่อด้วยว่า แม้ว่าการเดินทางเข้าสู่ อ.เบตง จ.ยะลาจะยังไม่มีสายการบินที่อำนวยความสะดวกและบริการที่รวดเร็ว แต่การเดินทางโดยรถยนต์ก็มีความสะดวกสบายมากขึ้น หลังจากที่เปิดเส้นทางใหม่โดยออกทางด่านศุลกากรสะเดาเข้าสู่มาเลเซียก่อนจะเข้าทางด่านใน อ.เบตง หลีกเลี่ยงเส้นทางคดเคี้ยวและเสี่ยงอันตราย ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางการมาเลเซียอีกด้วย และมีการประกาศขยายเวลาการปิดด่านศุลกากรของมาเลเซียถึงเวลา 22.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป

สำหรับสนามบินนานาชาติ (ขนาดเล็ก) เบตง นอกจากจะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางอากาศ กับสนามบินข้างเคียง ทั้งสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และสนามบินบ้านทอนใน จ.นราธิวาส รวมถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต และสนามบินในประเทศแห่งอื่นๆ แล้ว ยังมีความมุ่งหวังเชื่อมโยงเส้นทางกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งตะวันออกกลางอีกด้วย เช่น สนามบินดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นเมืองปลอดภาษี ซึ่งเป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังตลาดในประเทศแถบตะวันออกกลางได้อีกทางหนึ่ง

ด้านนายอะหมาน หมัดอะดัม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส ซึ่งดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เปิดเผยว่า อ.เบตงมีศักยภาพทั้งการลงทุนและการท่องเที่ยวสูง แต่มีอุปสรรคด้านการเดินทาง เนื่องด้วยภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาและป่า ทำให้เส้นทางคมนาคมมีความคดเคี้ยว ประกอบกับใน 3 จังหวัดมีสนามบินที่ จ.นราธิวาสเพียงแห่งเดียว แต่หากสนามบินขนาดเล็กเบตงเปิดดำเนินการเมื่อไหร่ ก็จะส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวและการลงทุนมากยิ่งขึ้น

นอกจากการส่งเสริมการลงทุนแล้ว ยังเอื้อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งพบว่า อ.เบตง ยังมีความปลอดภัยสูงกว่าพื้นที่รายรอบใน 3 จังหวัด และอยู่ใกล้ชายแดนมาเลเซียซึ่งเดินทางเข้าออกสะดวก เมื่อไรที่สนามบินเล็กเบตงพร้อมเปิดให้บริการก็จะสอดรับกับการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอีกด้วย ซึ่งปีนี้มีโครงการก่อสร้างทั้งโรงแรมของนักลงทุนชาวมาเลเซียมูลค่า 44 ล้านบาท รวมถึง อบจ.ยะลา ก็ได้ลงทุนสร้างรีสอร์ตอีก 60 ล้านบาท โดยมีห้องแช่ตัวจากบ่อน้ำร้อนธรรมชาติเป็นจุดเด่น ซึ่งจะเพิ่มจำนวนห้องพักใน อ.เบตงมากกว่า 1.5 พันห้องในอนาคต

นายอะหมาน กล่าวด้วยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ไตรมาสแรก-มิ.ย.ปีนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มชาวต่างชาติ ส่วนชาวไทยเพิ่มขึ้น 2% เฉพาะที่ อ.เบตง เพิ่มขึ้นประมาณ 19% โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวมาเลเซีย แต่หากการเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยให้กลับเข้ามาใน อ.เบตง ได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ในปี 2550 ที่ผ่านมา จังหวัดชายแดนใต้มีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 1,474.21 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ท่องเที่ยวทำรายได้หลัก 3 แห่ง ได้แก่ อ.เบตง ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 663.06 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2549 ร้อยละ 22.97 ลำดับที่ 2 อ.สุไหงโก-ลก จำนวน 633.77 ล้านบาท ลดจากปี2549 ร้อยละ 5.33 และลำดับที่ 3 จ.ปัตตานี 177.38 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2549 ร้อยละ 2.24
กำลังโหลดความคิดเห็น