xs
xsm
sm
md
lg

แต่งสีสันบนกระถาง ดินเผาเด่นเมืองสองแคว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กระถางต้นไม้ระบายสีสดใส พร้อมแกะสลักลวดลายบนพื้นผิว คือ เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ “นกแลเครื่องปั้นดินเผา” จาก จ.พิษณุโลก ซึ่งนำเทคนิคลงสีเครื่องเซรามิกมาใช้กับเครื่องปั้นดินเผาอย่างลงตัว ประกอบกับขายในราคาที่ผู้บริโภคซื้อหาได้สะดวก ช่วยให้ธุรกิจยืนอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันสูง

เจ้าของธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ “นิพนธ์ บุญมา” หรือที่คนในวงการเครื่องปั้นดินเผา เรียกกันติดปากตามชื่อเล่นว่า “นกแล” โดยสะสมประสบการณ์ในวิชาชีพเครื่องปั้นดินเผา มามากกว่าครึ่งชีวิต

“ผมมีโอกาสเรียนแค่จบ ป.6 เพราะทางบ้านยากจน หลังจากนั้นญาติก็ฝากเข้าทำงานในโรงงานเครื่องปั้นดินเผา ที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ทำอยู่นานกว่า 10 ปี ตั้งแต่แบกดินถึงช่างปั้น เรียนรู้ทุกขั้นตอน จนมั่นใจว่า มีความพร้อมทุกด้าน ตัดสินใจออกมาตั้งโรงงานของตัวเองเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว”

นิพนธ์เริ่มจากเช่าพื้นที่เล็กๆ ย่านรังสิตคลอง 3 เปิดร้านผลิตและขายเครื่องปั้นดินเผาขนาดย่อม ซึ่งธุรกิจดำเนินไปดีในระดับหนึ่ง ทว่า จุดพลิกผันสำคัญที่ส่งให้ชื่อ “นกแลเครื่องปั้นดินเผา” เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจย้ายไปเปิดตลาดที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2538

“จากข้อมูลที่ลูกค้าบอกมา ใน จ.พิษณุโลก แม้จะจังหวัดใหญ่ แต่มีผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผารายใหญ่ที่เน้นตลาดบน เพียงแค่รายเดียวเท่านั้น ส่วนดินเผาประเภทใช้ในบ้านอย่างเช่นกระถางต้นไม้ ยังไม่มีใครทำเลย ทั้งหมดต้องสั่งจากเกาะเกร็ด ทำให้ผมสนใจจะมาเปิดตลาดที่นี่”

เหตุผลที่ จ.พิษณุโลก ไม่มีผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเลย เพราะเดิมเชื่อกันว่า ดินของจังหวัดนี้ไร้คุณภาพ เผาแล้วเปราะ แตกหักง่าย ไม่เหมาะจะทำเครื่องปั้นดินเผา

ทว่า นิพนธ์ไม่เชื่อความคิดดังกล่าว พยายามตระเวนเสาะแสวงหาดินตามพื้นที่ต่างๆ ภายใน จ.พิษณุโลก และหลังจากใช้เวลาอยู่ร่วมปี ได้พบแหล่งดินเหมาะสม สามารถจะทำเครื่องปั้นดินเผาได้คุณภาพดีไม่แพ้ใคร

“ส่วนตัว ผมเชื่อว่า ดินทุกที่ สามารถทำดินเผาได้หมด ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ของเราเอง หลังจากทดลองดินอยู่หลายแห่ง จนมาเจอดินที่แถวบึงลาดบัวขาว ในอ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งมีจุดเด่นเนื้อเหนียว และละเอียด เหมาะจะทำงานดินเผาชิ้นเล็กๆ ผมจึงตัดสินใจลงทุนประมาณ 2 แสนบาท ย้ายมาเปิดโรงงานที่พิษณุโลก”

เนื่องจากเวลานั้น เป็นผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทกระถางต้นไม้ราคาถูกที่เน้นตลาดชาวบ้านเพียงรายเดียวในพิษณุโลก ธุรกิจจึงประสบความสำเร็จอย่างสูง ขนาดที่ว่า กระถางต้นไม้แทบทุกใบที่ใช้ในจังหวัดนี้ ล้วนมาจากการผลิตของ “นกแลเครื่องปั้นดินเผา”

เติมสีสันลงกระถาง ต่อยอดหนีคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ หนีไม่พ้นจะมีรายอื่นเข้ามาหวังแชร์ตลาด จากเดิมเคยเป็นผู้ผลิตรายเดียวในท้องถิ่น แค่ไม่กี่ปีต่อมา คู่แข่งเพิ่มขึ้นกว่าสิบราย กระทบยอดขายลดลง

เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว นิพนธ์เลือกจะปรับโฉมสินค้าของตัวเองให้แตกต่างออกไป โดยนำเทคนิคการวาดลาย และลงสีเครื่องเซรามิก ซึ่งไปศึกษาจากโรงงานที่ จ.เชียงใหม่ และลำปาง มาประยุกต์ใช้กับงานดินเผา ออกมาเป็นกระถางต้นไม้ที่มีสีสันสวยงาม พร้อมกับแกะสลัก หรือวาดลายต่างๆ บนผิวกระถาง เน้นสื่อถึงธรรมชาติ สอดคล้องความต้องการของลูกค้าที่ซื้อไปปลูกต้นไม้ทำสวนเล็กๆ ที่บ้าน

“ผมลองผิดลองถูกและพัฒนาการลงสีอยู่กว่า 4-5 ปี ความยากอยู่ที่การผสมสีให้ได้คุณภาพ เมื่อระบายไปแล้ว สีจะติดคงทน เผาแล้วไม่ซีด หรือหลุดลอก ซึ่งหลังจากเริ่มออกขายลูกค้าให้การตอบรับอย่างสูง ช่วยเพิ่มยอดขาย 2-3 เท่าตัว เพราะเป็นสินค้าไม่เหมือนใคร คู่แข่งทั้งในพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงไม่มีเจ้าใดทำได้เลย แม้จะมีบางรายทำออกมาเลียนแบบ แต่คุณภาพยังไม่สามารถเทียบกันได้ ”

ทั้งนี้ การลงสี จะเพิ่มต้นทุนผลิตจากปกติประมาณ 15% แต่ผลที่ได้คุ้มค่า เพราะช่วยยกระดับราคาสินค้า 4-5 เท่าตัว ตัวอย่างเช่น กระถางแบบเดิมขายใบละ 10 บาท เมื่อเปลี่ยนมาเป็นลงสีขายได้ในราคาถึงใบละ 40-50 บาท โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังเป็นกลุ่มเดิม คือ คนทั่วไปที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้ ซึ่งยินดีจะจ่ายแพงกว่าแลกกับความสวยงามไม่ซ้ำใคร

จากความโดดเด่นดังกล่าว “นกแลเครื่องปั้นดินเผา” จึงเป็นกลุ่มผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผารายแรกใน จ.พิษณุโลก ที่ได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอปประจำจังหวัด

สำหรับสินค้ามีทั้งแบบลงสีด้าน และแบบเคลือบเงาด้วยน้ำยาวานิช เน้นสีแดง และเขียว ส่วนลวดลายมีนับร้อย เช่น ใบไม้ ดอกไม้ และสัตว์ ฯลฯ ราคาขายส่งตั้งแต่ใบละ 10 -180 บาท มีช่องทางตลาด เน้นขายส่งตามร้านอุปกรณ์ทำสวน และร้านขายต้นไม้ทั่วไป ใน จ.พิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง ไล่ตั้งแต่ภาคกลางตอนบนไปจนถึงภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงบางจังหวัดในภาคอีสานด้วย ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 1 แสนกว่าบาทต่อเดือน

ส่วนปัญหาของธุรกิจนั้น คือ สภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนจะทำงานได้ช้ามาก เพราะฝนตกแทบทุกวัน ขาดแสงแดดจะตากดินเผาให้แห้ง ฉะนั้น ต้องแก้ปัญหาในช่วงฤดูร้อนและหนาวจะทำสินค้าตุงเก็บไว้ ให้เพียงพอจะขายได้ตลอดปี ซึ่งวิธีดังกล่าว จำเป็นต้องลงทุนล่วงหน้า จึงขอสินเชื่อ 1 แสนบาทจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มาใช้จ่ายในส่วนนี้

นิพนธ์ ทิ้งท้ายว่า แม้ปัจจุบันตลาดยังไปได้ด้วยดี แต่เพื่อความไม่ประมาท เตรียมรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดจะชะลอหนักในปีหน้าไว้แล้ว โดยจะออกสินค้ารูปแบบใหม่เสมอๆ รวมถึง เดินสายเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ลูกค้ายังมีความต้องการสินค้าชนิดนี้อีกจำนวนมาก

โทร. 085 727 8346 , 085 603 0669
กำลังโหลดความคิดเห็น