xs
xsm
sm
md
lg

บารัค โอบามา : เสียงสะท้อนของตลาดการเมืองโลก

เผยแพร่:   โดย: พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

ในท้ายที่สุดความหวังของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาก็ปรากฏแสงรำไร รอการพิสูจน์จากผู้นำคนใหม่ที่ชื่อ บารัค โอบามา

แม้ปัญหาทางเศรษฐกิจและปากท้องของผู้คนภายในประเทศดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่รอการเยียวยา แต่ ณ วินาทีนี้ ดูเหมือนว่าประชาชนชาวอเมริกันยังอยู่ในอารมณ์ของการเฉลิมฉลองอวยชัยต่อความคาดหวังที่จะตามมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อันเป็นผลพวงจากการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งทางอ้อมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

การเปลี่ยนแปลง หรือ “Change” ที่เป็นแคมเปญการเลือกตั้งของนายบารัค โอบามา ดูเหมือนว่าจะสร้างความหวังไม่เพียงแต่กับพลเมืองชาวอเมริกันเท่านั้น หากยังจุนเจือแบ่งปันมายังพลเมืองของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่เบื่อหน่ายกับความเน่าเฟะของระบอบการเมืองสไตล์เก่าๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วทุกสารทิศของสังคมประชาธิปไตย

จุดยืนของพลเมืองหลากหลายประเทศที่ขออาสาเข้าร่วมสนับสนุนนายบารัค โอบามา ทั้งๆ ตนเองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการเมืองอเมริกันแต่อย่างใด ดูเหมือนจะเป็นกระแสความต้องการร่วมของผู้บริโภคสินค้าทางการเมืองในสเกลตลาดโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความโหยหาที่คนเล็กคนน้อยในสังคมต้องการจะขอเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านสิ่งที่ว่า “ระบบทุนนิยมทางการเมือง” ที่มาในแนวกินรวบของผู้ชนะ (the winner takes all) ผ่านการอ้างความชอบธรรมจากประชาธิปไตยแบบจอมปลอม

ความตกต่ำของระบอบประชาธิปไตยมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลไกของการคัดเลือกนักการเมืองเข้าไปใช้อำนาจในฐานะตัวแทนของประชาชน ที่แปลงพลังและความต้องการอันหลากหลายของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชิงคุณภาพ ให้กลายเป็นตัวเลขเชิงปริมาณ เพื่อตีเป็นเสียงโหวตใช้นับความนิยมของผู้สมัครในคูหาเลือกตั้ง ทั้งนี้ความตกต่ำย่ำแย่ที่เกิดแก่มหาอำนาจสหรัฐอเมริกาในระดับที่ชาวโลกรับไม่ได้ เห็นจะเป็นการเลือกตั้งเมื่อปี 2543 ที่มีการโกงผลโหวตในรัฐฟลอริดา จนนายจอร์จ บุช จูเนียร์ชนะการเลือกตั้ง

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี ที่พลเมืองชาวอเมริกันยอมรับสภาพการถูกเยาะเย้ยถากถางจากประชาคมโลกที่มีต่อผู้นำของตน และความง่อนแง่นในระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ดังนั้นพลังของการโหวตและผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดจึงกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการปฏิเสธระบบเก่าและพร้อมรับความเสี่ยงที่จะมากับอะไรใหม่ๆ เกือบจะทั้งแพ็กเกจ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอก สีผิว หรือพื้นฐานครอบครัวของนายโอบามาที่ตอบรับความต้องการที่เคยถูกกดทับของคนอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางผู้ต่อต้านสงคราม ชนชั้นล่างเคยถูกละเลย หรือคนรุ่นใหม่ที่ขาดความใส่ใจทางการเมือง

นอกจากนี้นายโอบามายังเป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนของพลเมืองโลก (Global citizen) แห่งยุคโลกาภิวัตน์ในฐานะของผู้ที่มีประสบการณ์ร่วมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นต้นรากทางเครือญาติฝั่งทวีปแอฟริกา การเกิดและโตที่รัฐฮาวาย การแชร์ประสบการณ์บางส่วนของช่วงชีวิตที่อินโดนีเซีย แล้วกลับมาทำงานและแสวงหาเส้นทางแห่งอนาคตที่ถิ่นกำเนิดสหรัฐอเมริกาประหนึ่งปุถุชนคนธรรมดา โดยหาได้มีภาพของอดีตทหารหาญหรือฮีโร่ผู้รุกรานดังเช่นคนรุ่นก่อนๆ แบบนายจอห์น แมคเคน คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นที่ชิงชังของคนทั่วโลก

แม้ว่าช่วงเวลาแห่งความปีติในชัยชนะ พร้อมกับความหวังครั้งใหม่ของชาวอเมริกันและคนทั่วโลก อาจจะยืดยาวไปจนถึงวันที่ 20 มกราคมปีหน้า…วันที่นายโอบามาจะเข้าทำพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ แต่การทำงานของเขายังคงยืดยาวเป็นเวลาอีกกว่า 4 ปี เพื่อรอการพิสูจน์ของจริงของคำว่า “change”
กำลังโหลดความคิดเห็น