xs
xsm
sm
md
lg

ชวรัตน์ส่อเก้าอี้หลุดเรืองไกรยื่นป.ป.ช.ฟันยื่นทรัพย์สินเป็นเท็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ว่ามีการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ มีกรณีที่เข้าลักษณะปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 หรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าทรัพย์สินของนายชวรัตน์ได้ลดลงในรอบ 4 เดือน เป็นจำนวน 166 ล้านบาท โดยไม่สามารถหาที่มาที่ไปได้
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินรวมของคู่สมรส ต่อ ป.ป.ช กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2551เป็นเงินประมาณ 274 ล้านบาท ต่อมานายชวรัตน์ได้ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมอีกครั้งต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2551 เป็นเงินประมาณ 108 ล้านบาท และนายชวรัตน์ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. อีกครั้ง หลังจากเข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2551 เป็นเงินประมาณ 107 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าจากการตรวจสอบการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. ในการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 3 ครั้ง เห็นได้ว่ามีการแสดงทรัพย์สินสุทธิจากวันที่ 6 ก.พ. ถึงวันที่ 19 มิ.ย. 2551ได้ลดลงเป็นจำนวน166 ล้านบาท ทั้งที่ระยะแจ้งห่างกันประมาณ 4 เดือนเศษ และทำให้สงสัยว่าเงิน 166 ล้านบาทหายไปไหน
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบการยื่นทรัพย์สินหลังจากพ้นตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ในวันที่ 23 พ.ค. พบว่านายชวรัตน์ ได้ยื่นสัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี ซึ่งในสัญญาดังกล่าวแยกเป็นทรัพย์สิน 2 กอง โดยกองทุนก. มีมูลค่า 99 ล้านบาท และกองทุน ข. มีมูลค่า 18 ล้าน รวมเป็นเงิน 117 ล้านบาท แต่ไม่มีการแสดงไว้ ทั้งที่ทรัพย์สินส่วนนั้นยังเป็นของตัวเองอยู่ เพราะไม่ใช่การขายขาดออกไปแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการฝากให้ดูแลเท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติโดย จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินรวมของนายชวรัตน์ ที่ยื่นตอนเข้ารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ในวันที่ 6 ก.พ.ไม่พบว่ามีการแจ้งเงินลงทุนในส่วนที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 2.9 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 7.70 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 22 ล้านบาท อยากถามว่าตรงส่วนนี้มาจากไหน และในการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งนั้นนายชวรัตน์ ได้แจ้งในหมวดลงทุนว่ามีหุ้นของบริษัท ซิโน-ไทย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด รวมจำนวน 337,497 หุ้น ได้แสดงว่ามีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 33.7ล้านบาท แต่ได้มาแสดงไว้ในสัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรี ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2551 ไว้ในจำนวนหุ้นที่เท่ากัน โดยแสดงราคาหุ้นละ 0.01 บาท หรือเหลือหุ้นละ 1 สตางค์ เหลือมูลค่ารวมแค่ 3,374 บาท ลดลงกว่าจำนวน 33.7 ล้านบาท
อีกทั้งการแจ้งในครั้งเดียวกัน ได้มีการแจ้งหมวดเงินลงทุนใน บริษัท ไทยเอกรัฐ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 375,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 37.5 ล้านบาท แต่ได้มาแสดงไว้ในสัญญาจัดการหุ้นส่วนและหุ้นรัฐมนตรีที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2551 ไว้ในจำนวนหุ้นที่เท่ากัน โดยแสดงราคาหุ้นละ 0.01 บาท เป็นมูลค่ารวม 3,750 บาท ต่ำกว่าเดิมเป็นเงิน 37.4 ล้านบาท
โดยนายชวรัตน์ ไม่ได้นำมูลค่าของกองทุนมารวมแสดงไว้ในแบบบัญชีแสดง รายการทรัพย์สินและหนี้สิน ในคราวต่อมา ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินที่ควรแจ้งมีมูลค่าต่ำไปกว่าความเป็นจริง
ทำให้เข้าใจได้ว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อาจยื่นรายการทรัพย์สินในหมวด เงินลงทุนไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่ได้รับรองไว้ อันเข้าลักษณะจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 จึงขอให ้ป.ป.ช. ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยต่อไป เพราะการแสดงทรัพย์สินครั้งนี้มีพิรุธจำนวนมาก โดยเฉพาะมูลค่าหุ้นที่ลดลงจากหุ้นละ 100 บาท เหลือหุ้นละ 1 สตางค์ ทำไมมันต่างกันมากแบบนี้ มีการแสดงทรัพย์ที่สูงหรือต่ำกว่า ความเป็นจริง และมีการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ป.ป.ช.ทราบหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำว่า โมเดล การตรวจสอบอำนาจรัฐที่ตนเสนอไว้ก่อนหน้าได้ทำงานแล้ว โดยสามารถ ใช้ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สินของนักการเมืองได้ โดยนักการเมือง ต้องชี้แจงให้ได้ว่าสิ่งที่มีอยู่มีที่มาและที่ไปอย่างไร ซึ่งตนเองได้เสนอไปก่อนหน้านั้นว่าหากมีการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมแล้วยังไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไป ของทรัพย์สินตัวเองได้ ก็ต้องถูกยึดทรัพย์ให้เป็นของแผ่นดิน โดยในกรณีที่ของ นายชวรัตน์ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะนายชวรัตน์ มีการเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีหลายครั้งทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินขึ้นลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาซึ่งมีการปรับคณะรัฐมนตรีบ่อยครั้งยิ่งทำให้ ตรวจสอบง่าย
ผมจะทำซอฟแวร์การตรวจสอบทรัพย์ของนักการเมืองออกมาเพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นวิธีการง่ายๆ โดยกรอกตัวเลขให้ตรงกับช่องรายการ ต่างๆ ที่ตั้งไว้เท่านั้น จากนั้นซอฟแวร์ตัวนี้จะคำนวณเองว่านักการเมืองคนดังกล่าวมีทรัพย์สินและหนี้สิน เพิ่มขึ้น ลดลง หรือหายไป จำนวนเท่าใด มีที่มาที่ไปหรือไม่ โดยประชาชนจะได้เห็นโมเดลตัวนี้แน่นอน อีกทั้งในเรื่องนี้ก็อยากให้พรรคร่วมรัฐบาล นำไปบรรจุในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เชื่อว่าจะสามารถทำให้การเมืองไทยดีขึ้นได้ เพราะการรายการบัญชีทรัพย์สินจากนี้ไปต้องไม่ใช่สักแต่รายงานต่อป.ป.ช. ให้เสร็จๆ ไปเท่านั้น แต่บัญชีที่รายงานต้องกระทบกลับไปมาเพื่อหาที่มาที่ไปให้ได้ ถ้าหาไม่ได้ก็ต้องถูกยึดทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น