xs
xsm
sm
md
lg

อนารยธรรมสงครามสารสนเทศขั้นแตกหักของพ.ต.ท.ทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

นักยุทธศาสตร์ทั้งมวลคงรู้ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น เป็นการประกาศสงครามสารสนเทศขั้นแตกหักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยใช้มวลชน นปช.หรืออดีต นปก.เป็นกำลังทัพ

สงครามสารสนเทศคือ การใช้ข้อมูลข่าวสาร และวลีเฉพาะในการโน้มน้าวความคิดจิตใจของคนฟัง และการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารทั้งมวล เพื่อเป็นช่องทางเอาชนะหรือให้ได้เปรียบศัตรูหรือคู่แข่ง

ดังนั้น สงครามสารสนเทศจะเกี่ยวข้องกับการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหลักในการตัดสินใจของฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่งก็จะป้องกันและปกป้องข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตัวเองมิให้ศัตรูหรือคู่แข่งได้รับรู้หรือได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารนั้น

นอกจากนี้แล้วสงครามสารสนเทศยังเป็นการกระจายข่าว ข้อมูลเชิงโฆษณาชวนเชื่อ หากกระทำด้วยข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อเป็นการทำลายความจริง ทำลายขวัญกำลังใจศัตรูหรือคู่แข่ง สร้างความสับสนวุ่นวายให้กับศัตรูหรือคู่แข่ง และชี้นำไปสู่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ให้กับศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งสาธารณชนทั่วไปด้วย ที่ตำราเรียกว่า Black Propaganda

โดยปกติสงครามสารสนเทศสามารถใช้เครื่องมือหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม เช่น ปากต่อปาก วิทยุ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง Internet เอกสารแจกจ่าย สิ่งตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารซึ่งปกติสาธารณชนมักจะสรุปว่า สงครามสารสนเทศเป็นเรื่องการทหาร แต่ในปัจจุบันสงครามสารสนเทศ คือ การใช้กลยุทธ์ชิงความเหนือกว่าในสงครามการเมือง อันเป็นขั้นตอนแรกของสงครามร้อนที่มีการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ เช่น กรณีสงครามอ่าวเปอร์เซีย 1991 มีนักเจาะข้อมูลทางคอมพิวเตอร์หรือแฮกเกอร์ชาวเนเธอร์แลนด์สามารถเจาะเข้าเครือข่ายคอมพิวเตอร์กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ และได้ข้อมูลคำสั่งการเคลื่อนทัพของกองทัพสหรัฐฯ จึงได้นำไปเสนอขายให้กับรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แต่ฝ่ายอิรักคิดว่าเป็นเรื่องโกหกหลอกเอาเงินหรือเป็นกลลวงในระบบสงครามสารสนเทศตามคำแนะนำของจารชนสงครามสารสนเทศรับจ้างต่างชาติ แต่ภายหลังรัฐบาลอิรักพบว่า วันเวลาการเคลื่อนทัพทั้งมวลของกองทัพสหรัฐฯ ถูกต้องเป็นจริงทุกประการ

เรื่องสงครามสารสนเทศเป็นเรื่องเก่าแก่มาแต่โบราณ เช่น ในประมาณ ค.ศ. 1480 นักวิชาการชาวเวนิสชื่อ อัลดัส มานูเทียส (Aldus Manutius) ผู้ซึ่งประดิษฐ์หนังสือเข้าเป็นรูปเล่มได้สำเร็จ ทำให้ผู้คนสามารถพกพาหนังสือเป็นเล่มๆ ติดตัวไปได้จนฝ่ายคริสต์ศาสนจักรเกรงว่า พระคัมภีร์ไบเบิลจะถูกบิดเบือน จึงตั้งกฎ ระเบียบ ไม่ให้มีการพกพาพระคัมภีร์เอาไปอ่านนอกโบสถ์ และใน ค.ศ. 1876 อเล็กซานเดอร์ เบลล์ ประดิษฐ์โทรศัพท์สำเร็จทำให้สังคมสื่อสารทางไกลกันด้วยโทรศัพท์ และต่อมา แซมมวล มอร์ส ประดิษฐ์โทรเลขสำเร็จ ทำให้ในปีนั้นเอง สหรัฐฯ มีสายโทรเลขยาว 214,000 ไมล์ และมีสถานีส่งโทรเลขมากกว่า 8,500 สถานี ข้อมูลข่าวสารจึงสื่อกันได้รวดเร็วตามความเร็วของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

แต่หากการใช้สงครามสารสนเทศในเชิงอนารยธรรมนั้นมีมาช้านานแล้วเช่นกัน แม้แต่ในแนวคิดของกวีเอกอังกฤษ วิลเลียม เช็คสเปียร์ มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1564-1616 ในบทละครเรื่อง King Henry the Forth มีวลีหนึ่งที่สำคัญชี้นำถึงหลักอนารยธรรมสงครามสารสนเทศว่า “Stuffing the ears of men with false reports” หรือ “พูดใส่หูคนด้วยข้อมูลเท็จ” อันเป็นหลักการที่ฝ่ายสนับสนุนระบอบทักษิณใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม โดยเฉพาะความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำลายอนารยธรรมทางการเมืองของประเทศไทย

นับตั้งแต่เทคโนโลยีสื่อผสมสามารถซื้อหากันได้สะดวกในสังคมโลก อัลวิน ทอฟเฟลอ และภรรยา (Alvin and Heidi Toffler) ร่วมกันเสนอแนวคิดว่าสังคมโลกเป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร เกิดวลีพระราชทานว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งนายอาเซอร์ ซีลเวสเตอร์ อดีต รมช.กห.สหรัฐฯ กล่าวไว้เมื่อ ค.ศ. 1962 ว่า “ข้อมูลข่าวสารคืออำนาจ”

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมยุคนี้ และได้สร้างภาพตัวเองว่าเป็นผู้นำยุคนี้ แต่ที่สำคัญเขาจับธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศตามแนวชี้นำของทอฟเฟลอ และพ.ต.ท.ทักษิณ มีความชำนาญในเรื่องจิตวิทยาอาชญากร ตามที่ได้รับทุนไปเรียนที่สหรัฐฯ ในยุคที่ทอฟเฟลอกำลังเฟื่องฟูพอดี จึงประยุกต์ใช้ “ทฤษฎีอนาคต”ได้อย่างดี เช่น การใช้เงินในอนาคต ซึ่งสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาและพาโลกให้ถลำไปด้วย

และเขาเลือกใช้ทฤษฎีนี้ควบคู่กับตำราจิตวิทยาการโฆษณาชวนเชื่อเชิงลบหรือการโกหกซึ่งหน้าที่เรียกว่า “Black Propaganda”นั้น ซึ่งหมายถึง ข้อมูลเท็จ การสร้างข้อมูลเท็จ การบิดเบือนความจริง การหลอกลวง การลวงให้หลงกลติดกับ และการชี้นำเพื่อสร้างความสับสนในสังคม

จึงอนุมานได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังดำเนินกลยุทธ์สงครามสารสนเทศขั้นแตกหัก โดยเริ่มต้นที่สมรภูมิสนามราชมังคลากีฬาสถาน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาเป็นการทดสอบพลัง และประกาศว่าจะกระทำต่อไปในปลายเดือนนี้ ทั้งนี้เริ่มด้วยกลยุทธ์สร้างภาพ “การให้เกียรติของรัฐบาลบาฮามาสและโบลิเวีย” แต่การเข้าประจัญบานขั้นแตกหักในสงครามการเมืองสารสนเทศโดยวลีสำคัญที่กล่าวขึ้นเพื่อสร้างความเห็นใจ แต่ก็ทำให้สังคมสับสน คือวลีที่ว่า “ไม่มีใครเอาผมกลับมาได้ นอกจากพระบารมีที่จะทรงเมตตา รวมทั้งพลังของพี่น้องประชาชนที่จะเอาผมกลับ” ซึ่งฝ่ายกองทัพนำโดยปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพมีการประชุมนอกรอบในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา แล้วตอบโต้ว่า “ผบ.เหล่าทัพมองว่าเป็นการสร้างความอึดอัดให้กับพระองค์มากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ควรจะออกมาลักษณะที่จะไปดึงพระองค์มาเกี่ยวข้องด้วย”

วลีจากปาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ดึงเอาสถาบันมาเป็นเรื่องส่วนตัวมีข้อพิจารณาหลักอยู่สองประโยคคำพูดที่ว่า “พระบารมีที่จะทรงเมตตา”กับ “พลังของพี่น้องประชาชน” และหากวิเคราะห์แล้วอาจจะเห็นได้ว่าคำพูดเหล่านี้เป็นการปลุกระดมประชาชนให้กระทำการหนึ่งการใดก็ได้ หรือจะให้เป็นอย่างไรนั้น เป็นปริศนาในเชิงสงครามสารสนเทศ เพราะสังคมที่ไม่ได้ติดตามพฤติกรรมเชิงลบของเขาก็จะสับสน หรืออีกนัยหนึ่ง วลีเหล่านี้อาจจะเป็นการสร้างความกดดันให้กับขบวนการยุติธรรมก็ได้หรือจะให้เป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นปริศนาอีกเช่นกัน เพราะคณะตุลาการไม่ใช่พระอิฐพระปูน อาจจะหวั่นไหวกับลมปากของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้ เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นปริศนาแห่งสงครามสารสนเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณเลยก็ว่าได้
กำลังโหลดความคิดเห็น