xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นเอเชียทุบสถิติต่ำสุดตลาดไทยจ่อหลุด400จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายปี หลังวิกฤต "แฮมเบอร์เกอร์"ที่แผ่ลามออกไปเรื่อย ยังไม่มีท่าทีจะจบง่ายๆ แม้รัฐบาลของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะร่วมมือกันแก้ปัญหา ทำให้นักลงทุนผวาภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทางด้านหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติ ยังเทขายต่อเนื่องกดดันดัชนีรูด 32 จุด นักวิเคราะห์คาดดัชนีสัปดาห์หน้าหลุด 400 จุด สวนทางข่าวดีที่เฟดจะหั่นดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ส่วนราคาน้ำมันโลกก็ดำดิ่งต่อ แม้โอเปกประกาศตัดลดการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
วานนี้(24) ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกต่างไหลรูดอย่างรุนแรงกันถ้วนหน้า และมีบางแห่งดัชนีตลาดหุ้นได้ลดลงต่ำสุดทำสถิติใหม่ในรอบหลายปี จากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามและขยายวงกว้างกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลก รวมทั้งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวตามไปด้วย
ในแถบเอเชีย ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนีนิกเกอิ ปิดที่ 7,649.08 จุด ลดลงจากวันก่อน 811.90 จุด หรือ 9.60% แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปีครึ่ง ขณะที่ดัชนีฮั่งเส็ง ฮ่องกง ปิดที่ 12,618.38 จุด ลดลง 1,142.11 จุด หรือ 8.30% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ส่วนตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ร่วงกว่า 10.57% หรือ 110.96 จุด ปิดที่ 938.75 จุด ทางด้านสิงคโปร์ ดัชนีหุ้นสเตรทส์ไทมส์ทรุด 8.33% หรือ 145.39 จุด
การซื้อขายในตลาดแถบยุโรปก็อยู่ในอาการเดียวกัน
ในช่วงบ่ายๆ ท้ายตลาด ดัชนีหุ้นไฟแนนเชียลไทมส์ของลอนดอน ติดลบ 7.58% แม้จะฟื้นขึ้นมาบ้างจากที่ดิ่งลึกถึงกว่า 9.0% ส่วนตลาดแฟรงเฟิร์ตก็รูดลึกที่สุดถึง 10.13% ก่อนจะตีกลับขึ้นมาที่ -8.71% และ ตลาดหุ้นปารีสกระเตื้องมาอยู่ที่ -6.05% ภายหลังฮวบลงไปถึงกว่า 7.0%
สำหรับตลาดวอลล์สตรีท วานนี้ปักหัวลงอย่างแรงตั้งแต่เริ่มเปิดตลาด หลังการซื้อขายผ่านไปไม่นาน ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ติดลบ 408.12 จุด หรือ 4.70%
ความตื่นตระหนกของนักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก สืบเนื่องข่าวมีแต่ข่าวร้ายทั้งด้านเศรษฐกิจมหภาค และผลประกอบการของบริษัทสำคัญต่างๆ
ที่อังกฤษ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชาร์ลส์ บีน แถลงว่าเศรษฐกิจของอังกฤษยังคงอยู่ในช่วงต้นๆ ของความอ่อนแอ โดยเป็นผลมาจากวิกฤตทางการเงินที่อาจจะเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้ทีเดียว
ขณะที่ ดัชนีสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคธุรกิจเอกชนของเขตยูโรโซน ที่เรียกกันว่า มาร์กิต ยูโรโซน แฟลช เพอร์เชสซิ่ง แมเนเจอร์ส อินเด็กซ์ ประจำเดือนตุลาคม ชี้ให้เห็นว่า บริษัทเหล่านี้กำลังมีผลประกอบการเลวร้ายที่สุดภายหลังช่วงเศรษฐกิจถดถอยต้นทศวรรษ 1990
ทางด้านบริษัทโซนี่ของญี่ปุ่น แถลงคาดการณ์ว่าผลกำไรของตนน่าจะลดลงเหลือครึ่งเดียวของที่เคยพยากรณ์ไว้
ยักษ์ใหญ่ซัมซุงของเกาหลีใต้ก็เช่นกัน ประกาศว่าผลกำไรในไตรมาสสามปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วกว่า 40%
เปอร์โยต์ บริษัทผลิตรถยนต์ฝรั่งเศส ก็ตัดลดเป้าหมายอัตราผลกำไรการดำเนินงานตลอดทั้งปีลงมา และบอกด้วยว่า วางแผนจะตัดลดการผลิต "อย่างมโหฬาร" ในไตรมาสสี่ปีนี้ ภายหลังจากยอดขายในไตรมาสสามลดลง 5.2%
แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม สายการบินร่วมของฝรั่งเศส-ดัตช์ ที่มีฐานะเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของยุโรป ก็ออกคำเตือนว่าผลกำไรจะไม่ได้ตามเป้าเช่นเดียวกัน

หุ้นไทยรูดเกือบ7%

ส่วนภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกัน โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นต่อเนื่อง กดดันดัชนีปิดที่ระดับ 432.87 จุด ลดลง 32.37 จุด หรือลดลง 6.96% ระหว่างวันดัชนีปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ระดับ 426.52 จุด สูงสุดที่ 453.87 จุด มูลค่าการซื้อขาย 12,615.76 ล้านบาท ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,666.81 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 171.14 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,837.94 ล้านบาท

กอดคอหุ้นเอเชียทำนิวโลว์

นางสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลดลงทำสถิตต่ำสุดใหม่ (นิวโลว์) ซึ่งเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นเพื่อนบ้านที่ปรับตัวลดลงแรงและทำนิวโลว์กันหลายแห่ง โดยตลาดหุ้นไทยทำสถิติต่ำสุดนับจากเดือนกรกฎาคม ปี 2546 หรือเป็นเวลากว่า 5 ปี
สำหรับปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทย เกิดจากความกังวลเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างๆ ที่จะเริ่มทยอยประกาศผลการ
ดำเนินงานประจำไตรมาส 3/51 ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีการขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง เพื่อถือเงินสด และเตรียมไว้เมื่อนักลงทุนมาไถ่ถอนหน่วยลงทุน
ส่วนแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงต่อ แม้ว่าจะได้รับผลดีเล็กน้อยจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมในวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้ และคาดว่าจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% แต่ยังมีหลายปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเรื่องยอดการสร้างบ้าน ขายบ้าน รวมถึงจีดีพี ที่คาดว่าจะติดลบ 0.1% ซึ่งจะกดดันดัชนีตลาดหุ้นในสัปดาห์หน้า โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 370- 407 จุด
แนวต้าน 450 จุด ดังนั้นนักลงทุนควรถือเงินสดไว้เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน

หุ้นโรงกลั่นไตรมาส3/51อ่วม
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกจะถด
ถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก รวมถึงราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าและดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์มีการปรับตัวลดลง แม้การประชุมโอเปคจะมีการลดกำลังการผลิตน้ำมันลง บวกกับนักลงทุนต่างประเทศยังเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยการเมืองไทยถูกกดดันจากการที่ พล.ต.อ. สล้าง บุนนาค ประกาศว่าหลังจากวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะมีการยึดทำเนียบรัฐบาลคืนจากกลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยที่นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว จึงทำให้ปัจจัยทางการเมืองยังคงกดดันตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์หน้าจนถึงเดือนหน้า
"ผมเชื่อว่าผลงานไตรมาส 3/51 ของกลุ่มพลังงาน หลักทรัพย์ และขนส่งจะปรับตัวลดลง โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่นที่จะปรับตัวลงแรง จากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมถึงค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลง" นายโกสินทร์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากที่ทางสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย จะมีการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาส 3/51 ซึ่งคาดว่าตัวเลข
น่าจะปรับตัวลดลง จนส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์เองน่าจะปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากการอ่อนค่าโดยประเมินแนวรับที่ระดับ 385-395 จุด แนวต้านที่ระดับ 400 จุด

ดัชนีหุ้นไทยจ่อหลุด 400 จุด
นางสาวมยุรี โชติวิกราน ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นภูมิภาคและดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ที่ปรับตัวลดลงถึง 538 จุด เกิด
จากปัญหาวิกกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ลุกลามไปยังยุโรป เอเชีย และจะลามไปยังลาตินอเมริกา อาร์เจนตินา ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไปตลาดตราสารหนี้
"การประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับลดลงต่อเนื่อง จากปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน ดังนั้นจะต้องมีการติดตามว่าจะมีการออกมาตรใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป หรือไม่"
นายธวัชชัย อัศวพรไชย ผู้อำนวยการ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรงจากวิกฤตทางการเงินสหรัฐฯ ที่มีผลรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ประสบปัญหาขาดทุนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ขณะเดียวกันมาตรการที่สหรัฐฯ ออกมานั้นยังไม่สามารถที่จะหยุดยั้งผลกระทบดังกล่าวได้ ประกอบกับการเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง
"ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าแนวต้านถึง 2 ระดับภายในวันเดียว คือปรับตัวลดลงต่ำกว่า 450 จุด และ 430 จุด ซึ่งปรับตัวลดลงแรงและเร็วกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน และผมมองว่าดัชนีนตลาดหุ้นไทยอาจมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 400 จุด โดยประเมินแนวต้านจะอยู่ที่ระดับ 450-468 จุด แนวรับที่ระดับ 380-400จุด " นายธวัชชัย กล่าว

โอเปกลดการผลิตแต่ราคาน้ำมันยังหล่นฮวบ

ทางด้านรัฐมนตรีน้ำมันขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้จัดการประชุมฉุกเฉินกันที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อเย็นวานนี้ และปรากฏว่าสามารถตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว ให้ลดเพดานการผลิตลงมา 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยถือเป็นความพยายามเบื้องต้นเพื่อหยุดยั้งราคาน้ำมันที่กำลังไหลรูดดำดิ่งลงมา
รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบียแถลงภายหลังการประชุมว่า การตัดสินใจคราวนี้กระทำกันอย่างตรงไปตรงมา โดยที่โอเปกจะทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อรักษาความสมดุลในตลาด
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การที่ตลาดน้ำมันอยู่ในอาการทรุดตัวอย่างรวดเร็ว โดยราคาถอยลงมาถึงราว 60% แล้วจากตอนที่ทำลายสถิติสูงสุดในระดับ 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อเดือนกรกฎาคม ทำให้สมาชิกโอเปกผวาว่าจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยคราววิกฤตการเงินเอเชียในปลายทศวรรษ 1990 ครั้งนั้นโอเปกชักช้าในการตอบโต้กับความต้องการใช้ที่หดหายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีน้ำมันตามคลังเก็บต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาก กระทั่งกลับมากดราคาจนลงสู่ระดับไม่ถึง 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 1998
"โอเปกกำลังแสดงให้เห็นว่าตนเองจะไม่กระทำผิดพลาดซ้ำอีก" เป็นความเห็นของ เดวิด เคิร์ช ผู้จัดการรายหนึ่งของ พีเอฟซี เอเนอจี ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน
ทางด้าน ชาคิบ เคลิล รัฐมนตรีน้ำมันแอลจีเรียซึ่งดำรงตำแหน่งประธานโอเปกวาระปัจจุบัน ได้กล่าวแสดงความมั่นใจว่า บรรดาสมาชิกโอเปกจะทำตามเพดานการผลิตใหม่นี้โดยไม่มีการเบี้ยว "พวกเขาไม่มีทางเลือกหรอก พวกเขามีทางเลือกอะไรอีกล่ะ จะยอมปล่อยให้ราคาน้ำมันไหลรูดสู่ระดับต่ำลงๆ หรือ พวกเขาจะต้องลดการผลิตแน่ๆ" เขายืนยัน
เคลิลบอกด้วยว่า โอเปกจะดำเนินมาตรการอื่นๆ ต่อไปอีกถ้าจำเป็น ก่อนการประชุมสามัญคราวหน้าซึ่งกำนดจัดขึ้นที่แอลจีเรียในเดือนธันวาคม
ตามข้อตกลงเมื่อวานนี้ แถลงการณ์ของโอเปกระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้ลดการผลิต 1.5 ล้าน บาร์เรลต่อวัน(บีพีดี) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน จากยอดการผลิตเดือนกันยายนที่เท่ากับ 28.8 ล้านบีพีดี
ถึงแม้โอเปกเคยแถลงในการประชุมเดือนกันยายนว่าแต่ละชาติสมาชิกจะทำตามโควตาการผลิตอย่างเคร่งครัด ทว่าเอาเข้าจริงก็ยังคงมีการผลิตเกินเพดานโดยรวมของโอเปกอยู่นั่นเอง แต่เคลิลยืนยันว่าการผลิตเกินจะหมดไปภายในช่วงสิ้นปี และดังนั้นถึงตอนนั้น ยอดลดการผลิตจริงๆ น่าจะอยู่ที่เกือบๆ 1.8 ล้านบีพีดีทีเดียว
ยิ่งกว่านั้น แถลงการณ์ของโอเปกหลังการประชุมคราวนี้ ยังเรียกร้องให้ "ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกนอกโอเปก ร่วมส่วนช่วยกันรับภาระในการฟื้นฟูราคาให้ขึ้นสู่ระดับที่สมเหตุสมผล และขจัดการเหวี่ยงตัวขึ้นลงที่เป็นอันตรายและไม่จำเป็น"
รัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกรายใหญ่ที่สุด ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องนี้ตั้งแต่ก่อนการประชุมของโอเปกวานนี้ด้วยซ้ำ โดยประธานาธิบดี ดมิตรี เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ได้แจ้งต่อเลขาธิการโอเปกว่า รัสเซียต้องการร่วมมือกับทางโอเปกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมของโอเปก ปรากฏว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับหล่นพรวดพราดลงมาเกือบ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมที่ปกคลุมภาวะเศรษฐกิจขาลงทั่วโลก จนนักลงทุนเลิกแยแสผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตของโอเปก
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดี(23) การกะเก็งว่าการประชุมโอเปกในวันรุ่งขึ้นน่าจะมีมติตัดลดการผลิต ยังมีผลทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้น โดยตอนปิดตลาด สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ ขยับขึ้น 1.09 ดอลลาร์ มาปิดที่ 67.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ของลอนดอนพุ่งขึ้นลงมา 1.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 65.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
แต่หลังทราบข่าวว่าโอเปกมีมติตามคาดหมาย ราคาน้ำมันกลับดำดิ่งลงอย่างรวดเร็ว โดยระหว่างการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์วานนี้ (24) เมื่อช่วงใกล้เที่ยงของยุโรป น้ำมันดิบไลต์สวีตครูดฉบับส่งมอบเดือนธันวาคม ทรุดลง 4.80 เหรียญสหรัฐฯ เหลือ 63.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยช่วงหนึ่งของการซื้อขาย ราคาร่วงลงไปแตะ 62.85 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ดิ่งลง 4.42 ดอลลาร์ อยู่ที่ 61.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ประชุมผู้นำ"อาเซม"เน้นสามัคคีสู้วิกฤต
"อาเซียน+3"ตั้งโครงการสว็อปเงินพหุภาคี

ทางด้านการประชุมเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ระดับผู้นำเป็นเวลา 2 วันที่กรุงปักกิ่ง เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อบ่ายวานนี้ โดยที่ผู้นำของประเทศต่างๆ กล่าวปราศรัยเรียกร้องให้สามัคคีกันและดำเนินมาตรการที่ห้าวหาญ เพื่อเอาชนะอุปสรรความท้าทายร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สืบเนื่องจากวิกฤตทางการเงินของโลกที่กำลังแผ่ลามไปทั่วโลก พร้อมกันนั้นก็แสดงความมั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะวิกฤตคราวนี้ได้
แต่ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมสืบเนื่องจากการหารือที่ปักกิ่งคราวนี้ กลับเกิดขึ้นในตอนเช้าวานนี้ระหว่างการประชุมผู้นำ "อาเซียน+3" อย่างไม่เป็นทางการ โดยผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนกับ 3 ประเทศเอเชียตะวันออก คือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เห็นพ้องต้องกันให้จัดตั้งแผนการสว็อปเงินตราต่างประเทศแบบพหุภาคีมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นภายในกลางปี 2009 เพื่อช่วยเหลือชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้รับมือกับความปั่นป่วนทางการเงิน
แผนการพหุภาคีคราวนี้ จะใช้แทนที่แผนสว็อปเงินตราต่างประเทศระหว่างสมาชิกอาเซียน+3 ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปทวิภาคี และเรียกชื่อว่า "ความริเริ่มเชียงใหม่"
ตามข้อตกลงนี้จะทำให้ชาติที่เข้าร่วมแผนการ สามารถขอใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศกองกลาง ที่จะมีมูลค่าอย่างน้อย 80,000 ล้านดอลลาร์ ในกรณีที่เกิดความจำเป็นฉุกเฉินทางการเงิน ทั้งนี้แผนการใหม่นี้ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ จะออกเงิน 80% ของกองทุนทั้งหมด ที่เหลือจะเป็นการสมทบของชาติอาเซียน โดยที่ยังจะต้องหารือกันว่าแต่ละประเทศจะออกเงินเท่าใด และจะบริหารกองทุนนี้อย่างไร
นอกจากนั้น ผู้นำอาเซียน+3 ยังเห็นพ้องกันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อก่อตั้งองค์กรติดตามตรวจสอบ ที่จะช่วยปรับปรุงการเฝ้าระวังอันตราย
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนยังตกลงกันที่จะพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย ด้วยการส่งเสริมยกระดับกลไกการชำระบัญชีพันธบัตรระดับภูมิภาค เพื่อให้ตลาดพันธบัตรของภูมิภาคแถบนี้ สามารถลดการพึ่งพาผู้ซื้อชาวตะวันตกลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น