xs
xsm
sm
md
lg

อินทรีศึกกับการเมืองไทยยุค 2551

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 กองทัพอากาศได้ ผบ.ทอ.คนใหม่ แทน พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ซึ่งครบเกษียณอายุราชการ และเมื่อได้ยินคำให้สัมภาษณ์และท่าทีจุดยืนของ ผบ.ทอ.คนปัจจุบันแล้ว ก็ต้องขอกล่าวคำต้อนรับสู่ “ชมรม ผบ.ทอ.มืออาชีพ” เพราะเป็น “อินทรีศึก” อีกคนหนึ่ง ที่ต้องเผชิญกระแสการเมืองภายในประเทศที่ร้อนแรง ซับซ้อน และความไม่แน่นอน (Uncertainty) อันเป็นธรรมชาติและสัจธรรมของสงครามที่อยู่ในรูปแบบของสงครามการเมืองก็ตาม

เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาบริเวณชายแดนปราสาทพระวิหารเมื่อบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม 2551 และการเตรียมพร้อมในส่วนกองทัพอากาศที่ต้องตอบโต้ และการขนคนไทยกลับประเทศจะเป็นเครื่องวัดความสามารถของ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนไม่เป็นห่วง เพราะว่า พล.อ.อ.อิทธิพร เป็นนักบิน F-16 กลุ่มแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำการฝึกบินที่สหรัฐฯ และเป็นผู้บังคับฝูงบิน F-16 เป็นคนแรก ที่ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมนักบินขับไล่ให้เหมาะสมตามเทคโนโลยีเครื่องบินรบยุคที่ 4

ผบ.ทอ.คนปัจจุบันมี SA - Situation Awareness หรือหลักความตระหนักถึงสถานการณ์ที่ดีเยี่ยม SA เป็นหลักการใหม่ของนักบินรบที่เกิดขึ้นในยุค 1970 ระหว่างสงครามเวียดนาม ซึ่งปัจจุบัน SA เป็นส่วนหนึ่งของหลักการปฏิบัติของนักบินพาณิชย์ และพนักงานต้อนรับบนอากาศยานที่ต้องเรียนรู้ไปแล้ว

การใช้กำลังทหารปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารเขมรที่ทหารไทยบาดเจ็บและทหารกัมพูชาเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุ เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ. 2505 เรื่องปราสาทพระวิหาร ที่ศาลโลกพิพากษาให้กัมพูชาครอบครองได้เฉพาะตัวองค์ปราสาทเท่านั้น ส่วนพื้นที่โดยรอบนั้น ศาลโลกละเว้นไว้ปล่อยให้เป็นไปตามประวัติศาสตร์และหลักการแบ่งเขตแดนตามหลักภูมิศาสตร์ ที่ใช้หลักสันเขาปันน้ำอันเป็นวิธีการแบ่งเขตแดนประเทศมาช้านานแล้ว

นับแต่ประเทศไทยมีเหตุการณ์การเมืองภายในที่เกิดการแตกแยกกันของคนในชาติเพราะคนคนเดียวทำให้มีรัฐบาลอ่อนแอ โดยเฉพาะรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีนอมินีของพ.ต.ท.ทักษิณซึ่งออกมาพูดด้วยตัวเองว่า “รัฐบาลนี้ขี้เหล่อยู่บ้าง” และทันทีนายนพดล ปัทมะ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ดำเนินการเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวกับการที่กัมพูชาต้องการให้ไทยร่วมนำเสนอ “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกซึ่งมีความต่อจากรัฐบาลก่อนๆ และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยท่านนิตย์ พิบูลสงคราม อดีต รมว.กต.ก็ไม่ได้ตอบรัฐบาลกัมพูชาทันที เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และด้วยความชำนาญเชิงการทูตของท่านนิตย์ พิบูลสงคราม ที่เรียกได้ว่าเป็นนักการทูตมืออาชีพ และทำงานเพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริงจึงขอเวลาศึกษาอย่างละเอีอด

เมื่อนายนพดล ปัทมะ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ รีบด่วนสรุปเรื่องใหญ่ยิ่งเรื่องนี้ และยอมลงนามร่วมเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยใช้กลการเมืองทำให้เรื่องผ่าน ครม.แล้วถือว่าเป็นเรื่องชอบธรรมทางการเมืองโดยไม่ได้ศึกษาวินิจฉัยเลยตามลักษณะที่ดีของนักกฎหมาย จึงถูกต่อต้านและมีการวิเคราะห์ถึงมารยาทการเมืองและความถูกต้องทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้มติของ ครม.ขาดความชอบธรรม ผิดมาตรา 190 เพราะไม่ผ่านการลงมติของรัฐสภากรณีการทำสัญญากับต่างประเทศ ทำให้นายนพดล ปัทมะ ต้องลาออกจากความเป็นรัฐมนตรี เหมือนจงใจที่ได้ปฏิบัติภารกิจให้พ.ต.ท.ทักษิณสำเร็จโดยที่พล.อ.เตียบัญประกาศว่าได้ให้สัมปทานเขาทำธุรกิจมูลค่ามหาศาลที่จังหวัดเกาะกงที่เคยเป็นของไทยแต่ฝรั่งเศสยึดไปอย่างหน้าด้านใน ร.ศ.112

การปะทะกันของทหารสองฝ่ายบริเวณชายแดนเป็นสงครามในระดับต่ำสุดของความขัดแย้งและตามทัศนะของ เคลาส์วิทซ์ นักการทหารรัฐศาสตร์ปรัสเซีย-เยอรมนีกล่าวไว้ว่า “สงครามคือการดำเนินนโยบายทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง” และการปะทะกันบริเวณชายแดนนั้นจะต้องรีบยุติโดยเร็วเพื่อมิให้โมเมนตัมของอารมณ์สงครามพัฒนา ขยายผล และลุกลามจนจะต้องมีการตัดสินใจกันด้วยการใช้กำลังที่รุนแรงขึ้น โดยให้เกิดผลแพ้ชนะซึ่งเป็นเรื่องศักดิ์ศรีและลักษณะนามธรรมนี้เป็นอันตรายอย่างมหาศาลต่อความสัมพันธ์ที่ดีและอาจพัฒนาเป็นความเกลียดกันเรื้อรังและถาวรในที่สุด

ตามทัศนะในตำราพิชัยสงครามของปราชญ์การทหารรัฐศาสตร์จีนซุนจู้กล่าวเมื่อ2,500 ปีมาแล้วว่า “สงครามเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของบ้านเมือง เป็นเรื่องถึงเป็นถึงตายหรือเป็นความพินาศฉิบหายจึงเป็นอาณัติที่นักการเมืองจะต้องศึกษาอย่างถ่องแท้ คณะมนตรีสงคราม จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมเพียง ความมีเมตตาธรรม ประชาชนในชาติต้องมีความเชื่อถือและมั่นใจในตัวผู้ถืออำนาจปกครองรัฐ”

ปัจจุบันดูเหมือนว่าทั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา บรรดาอาจารย์รัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศย่อมรู้ดี รัฐมนตรีต่างประเทศปัจจุบัน ขาดความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย-กัมพูชาที่ละเอียดลึกซึ้ง ทั้งที่รู้ว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่จนทำให้นายนพดลต้องลาออกจากตำแหน่งแบบหน้าละอายเพราะทำเรื่องนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขาดศิลปะและกลยุทธ์การเจรจาทางการทูต ขาดความรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะแนวทางของรัฐบาลทั้งสองมุ่งหวังเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยหรือผลประโยชน์เฉพาะบุคคล จึงมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติในระยะยาว ขาดความรู้เกี่ยวกับปรัชญาทหารที่สัมพันธ์กับนโยบายรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ขาดความรู้โดยละเอียดในเรื่องคำพิพากษาของศาลโลก 15 มิถุนายน 2505 ซึ่งจะต้องจดจำจุดตำแหน่งของแผนที่ (Coordinate) บนแผนที่กายภาพอย่างแม่นยำ

เคลาส์วิทซ์กล่าวถึงไตรภาคีสงคราม คือ ประชาชน รัฐบาล แม่ทัพและกองทัพ จะต้องมีความแข็งแกร่งทั้งสามขั้วเสมอกัน เพราะสงครามเป็นเรื่องรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมืองระหว่างประเทศ การใช้อำนาจรัฐในการป้องปรามมิให้เกิดสงครามทั้งวิธีการทูตและการทหาร ตลอดจนการสนับสนุนสงครามโดยประชาชนและการรักษาผลประโยชน์ของรัฐโดยรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หลักการกลยุทธ์ของซุนจู้ พูดถึงการจัดกระบวนศึก การแต่งตั้งแม่ทัพที่มีสติปัญญา มีมนุษยธรรม มีความมานะพยายาม มีความเคร่งครัด และเมื่อได้รับบัญชาจากผู้มีอำนาจรัฐ แม่ทัพจะเกณฑ์ไพร่พลแล้วจัดกองทัพให้เข้มแข็งตามที่ชาติต้องการ

พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ จึงเป็นอินทรีศึกที่เหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ทั้งการเมืองภายในประเทศและเหตุการณ์การใช้กำลังทหารบริเวณชายแดน หากรัฐบาลกัมพูชาต้องการพัฒนาความรุนแรงของสงครามแล้วอาจจะต้องเสียใจภายหลังก็ได้ เพราะนิยามศัพท์หนึ่งของสงครามคือ “การใช้กำลังรบที่รุนแรงหวังผลแตกหัก ณ เวลาและตำบลหนึ่ง” หวังว่ากองทัพไทยโดยกองทัพอากาศคงไม่ต้องใช้ความรุนแรงตามความหมายของสงครามที่กล่าวมานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น