xs
xsm
sm
md
lg

ส่องตลาดเครื่องดื่มแดนปลาดิบ ซันโทรี่ชูศูนย์วิจัยกุญแจแห่งความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพตลาดเครื่องดื่ม"ญี่ปุ่น"หรือดินแดนปลาดิบนั้น พัฒนาและนำหน้าประเทศไทยไปหลายขั้นมาก โดยตลาดเครื่องดื่มในญี่ปุ่นมีมูลค่าถึง 1.7 พันล้านลัง ทิศทางตลาดโดยมากจะเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทั้งหมด เพราะพฤติกรรมคนญี่ปุ่น ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพมากกว่ารสชาติด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมซึ่งเป็นตลาดที่มีอยู่น้อยนิดเพียง 7% จากตลาดรวม ก็ต้องเป็นโลว์แคลอรี่หรือมีไม่มีน้ำตาล ถึงจะเป็นสินค้าที่ขายได้ เมื่อเทียบเคียงกับตลาดเครื่องดื่มประเทศไทย น้ำอัดลมเป็นตลาดใหญ่มากมีสัดส่วนถึง 40% จากตลาดรวม และยิ่งไปกว่านั้นโดยมากเป็นน้ำอัดลม ออริจินัล ส่วนโลว์แคลอรี่ยังเป็นตลาดที่เล็กมาก

สำหรับเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตลาดที่ใหญ่สุด คือ ชาไม่ผสมน้ำตาลและกาแฟ โดยมีสัดส่วน 24% ตามด้วยชาเขียว 15% ฟังก์ชันนัลดริงก์ 11% และน้ำผลไม้ 6% ส่วนแอลกอฮอล์อยู่ในภาวะทรงตัว เพราะคนญี่ปุ่นห่วงใยสุขภาพมากขึ้น ทำให้อัตราการดื่มต่อคนต่อหัวลดลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับบุหรี่ซึ่งกลายเป็นตลาดที่มีการขยายตัวลดลง อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนไทยจะห่วงใยสุขภาพมากขึ้นก็ตาม แต่ทว่าตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็ยังเป็นแค่สเตปของการเริ่มต้น เครื่องดื่มที่มาแรงในขณะนี้ของไทยยังคงเป็นเครื่องดื่มเพื่อความงาม เป็นหลัก ขณะที่ญี่ปุ่นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม คือ เครื่องดื่มสร้างสมดุลย์ร่างกาย ซึ่งถือว่าสเตปตลาดฟังก์ชันนัลดริงก์ของไทยยังไกลจากญี่ปุ่นอยู่มาก

ร้านสะดวกซื้อแทนที่ตู้หยอดเหรียญ

ด้านช่องทางจำหน่ายตลาดเครื่องดื่มในญี่ปุ่นกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง จากตู้หยอดเหรียญสู่ร้านสะดวกซื้อ เพราะพฤติกรรมของคนใส่ใจสุขภาพและต้องการอ่านข้อมูลจากฉลากสินค้า โดยพบว่าจำนวนตู้หยอดเหรียญลดลงจาก 34% เหลือเป็น 32.8% ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 20.2% และตั้งข้อสังเกตุว่า แม้กระทั่งผู้นำเครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่นอย่างโค้ก การขยายตู้หยอดเหรียญยังลดลง 6% โดยมีเพียง 8 แสนเครื่อง หรือเรียกได้ว่าหยุดการลงทุนขยายตู้หยอดเหรียญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนซันโทรี่ 4 แสนเครื่อง เติบโต 8% และ Daiolo 2 แสนเครื่อง โต 4% คิริน กว่า 1 แสนเครื่อง โต 1%

สงครามชิงพื้นที่เดือดทอปทรีอยู่รอด

ทว่าตลาดเครื่องดื่มญี่ปุ่นมีการแข่งขันชนิดที่ว่ารุนแรงมาก โดยเฉพาะสงครามแย่พื้นที่จำหน่าย ในแต่ละเดือนจะมีสินค้าใหม่เปิดตัว 200 รายการ และหากสินค้ายอดขายไม่ดีภายใน 3 สัปดาห์จะถูกนำออกจากชั้นวางไปในที่สุด และในแต่ละปีจะมีสินค้าใหม่ 2,000 รายการ โอกาสที่สินค้าจะอยู่ชั้นวางได้เพียง 1 รายการ ก็ถือว่าโชคดีแล้ว นี่คำพูดของนายอาคิโอะ นากาโน่ ผู้จัดการสำนักงาน ผู้แทนสำนักงานกรุงเทพ บริษัท ซันโตรี่ จำกัด

นอกจากนี้การทำตลาดจะต้องทำให้ติดอันดับทอปทรี เพราะการแข่งขันค่อนข้างสูงมีสินค้าหลากหลายแบรนด์ สำหรับซันโตรี่ ถือว่าเป็นแบรนด์เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์อยู่ในใจของผู้บริโภคอันดับ 3 ส่วนโค้กเป็นอันดับ 1 ส่วนในแง่ของส่วนแบ่งตลาดมีราว 20% อันดับ 2 รองจากโค้ก มีส่วนแบ่ง 30% และอันดับ 3 คือ คิริน ราว 12%

การแข่งขันที่รุนแรงนี้เองทำให้ซันโทรี่ ต้องทุ่มงบ 4,500ล้านบาท ผุดศูนย์วิจัยและพัฒนาสินค้าขึ้นมา เพิ่งเปิดไปเมื่อปีที่ผ่านมา ขนาดพื้นที่ 8,176 ตร.ม. จากปัจจุบันมีด้วยกัน 4 แห่ง ในญี่ปุ่น เพื่อรักษาตำแหน่งติดอันดับทอปทรีให้ได้ ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันซันโทรี่มีทั้งหมด 12 แบรนด์ ที่เป็นสินค้าเรือธง อาทิ ชาอูล่ง เป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง 53% น้ำแร่เป็นอันดับ 1 ครองส่วนแบ่ง 22% กรีนที 21% เป็นอันดับ 2

"จุดแข็งของซันโทรี่ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำตลาด มีด้วยกัน 4 ประการ คือ 1.การวิจัยแลพัฒนาสินค้า 2.การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ 3. การออกแบบแพกเกจจิ้ง และ4.เทคโนโลยีการผลิต โดยในแต่ละปีจะมีงบการใช้วิจัยแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง สำหรับเครื่องดื่มฤดูร้อนและเครื่องดื่มฤดูใบไม้ผลิ "นายอาคิโอะ กล่าวว่า

ทิปโก้ใช้โมเดลรง.ซันโทรี่

สำหรับภายในศูนย์วิจัยมีโรงงานขนาดย่อม ที่สามารถผลิตสินค้าได้จริงนาทีละ 3 ขวด เมื่อเทียบกับโรงงานจริง สามารถผลิตได้ถึง 1,000 ขวดต่อนาที หรือคิดเป็น 1.5 แสนขวดต่อวัน การมีโรงงานขนาดย่อมเพื่อใช้ทดลองสินค้าก่อนนำไปจำหน่าย ช่วยลดโอกาสความผิดพลาด และที่สำคัญช่วยให้การผลิตสินค้าเร็วขึ้น การผลิตสินค้า 1 โปรเจกต์ ใช้เวลาเพียง 3-4 เดือน ซึ่งบริษัททิปโก้เองก็ได้นำโรงงานขนาดย่อมนี้มาใช้ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ลดต้นทุนหลากหลายในญี่ปุ่น

จากนั้นได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงงานผลิตชา ของซันโทรี่ เบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซันโทรี่ ได้เปิดดำเนินการเมื่อปีที่ผ่านมาเช่นกัน บนพื้นที่ 1.3 แสนตร.ม. ภายในโรงงานแห่งนี้โดยมากใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทนระบบใช้แรงงานคนทั้งหมด โดยสามารถผลิตสินค้าได้ 1 ขวด ต่อนาที หรือราว 1.5 แสนขวดต่อวัน จากนั้นเมื่อสินค้าผลิตเสร็จจะถูกลำเลียงโดยสายพานไปยังโกดังที่อยู่ใกล้กับโรงงาน ซันโทรี่โดยมีสินค้า 250 รายการ และโกดังแห่งนี้สามารถเก็บสินค้าได้ 4.2 หมื่นลัง รองรับได้อีกถึง 1.5 หมื่นลัง หากมีการเพิ่มไลน์จากผลิตจาก 3 ไลน์เป็น 5 ไลน์

ในประเทศญี่ปุ่นมีการร่วมมือกันระหว่างซับพลายเออร์เพื่อลดต้นทุน อาทิ ใช้พาเลทเดียวกัน โกดังแห่งนี้มี 4 บริษัท ได้แก่ คิริน อาซาฮี ซับโปโล และซันโทรี่ ร่วมกันลดต้นทุน และเกิดความรวดเร็วในการส่งสินค้า ทำให้ไม่ต้องเสียค่าปรับกรณีส่งสินค้าช้ากว่ากำหนด และในอนาคตอาจมีการพัฒนาใช้แวร์เฮาส์ร่วมกัน นอกจากนี้ซันโทรี่ยังมีวิธีการลดต้นทุน อื่นๆ ด้านการผลิตโดยการใช้น้ำและไฟให้น้อยที่สุด หรือกระทั่งรีไซเคิลน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ได้หลายขั้นตอน โดยซันโทรี่ถือว่าเป็นโรงงานที่ใช้น้ำน้อยอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อีกทั้งยังใช้เครื่องจักรให้มากที่สุดแทนการใช้แรงงานคน ส่วนตัวสินค้า คือ การใช้วัตถุดิบให้เบาที่สุด ฟิล์มห่อต้องมีความเบา ซึ่งยังดีต่อสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น